เว็บไซต์ "ดัชนีประเทศที่ดี" หรือ The Good Country Index จัดอันดับประเทศที่ทำประโยชน์ต่อโลกและต่อมวลมนุษยชาติมากที่สุดโดยวัดจากหลายๆ ด้าน เผยหลายประเทศในยุโรปอยู่ในอันดับต้นๆ ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 53 โดยมีคะแนนเสรีภาพสื่อและความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตต่ำมาก
24 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่าสาธารณรัฐไอร์แลนด์ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ 'ดี' เป็นอันดับ 1 โดยเว็บไซต์ "ดัชนีประเทศที่ดี" หรือ The Good Country Index โดยพิจารณาว่าเป็นประเทศที่ทำประโยชน์ต่อโลกและต่อมวลมนุษยชาติ
"ดัชนีประเทศที่ดี" เป็นแนวคิดของที่ปรึกษาด้านนโยบายและนักวิชาการสองคนคือ ไซมอน แอนฮอลท์ และโรเบิร์ต โกเวอร์ส ทั้งคู่ระบุในเว็บไซต์ว่าดัชนีนี้เป็นการพยายามชี้วัดว่าประเทศต่างๆ ได้ทำประโยชน์ต่อโลกและต่อมวลมนุษยชาติไว้มากน้อยขนาดไหน
"เพราะความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดซึ่งมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ไร้พรมแดนและเป็นเรื่องของทั่วโลก ตั้งแต่ปัญหาโลกร้อน, วิกฤติเศรษฐกิจ, การขาดแคลนน้ำและอาหาร, พลังงาน, สัตว์และพืชสูญพันธุ์, ปัญหาสิทธิมนุษยชน, ปัญหาผู้อพยพ และปัญหาด้านอื่นๆ เรื่องทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่มีอาณาเขตกว้างกว่าพรมแดนของประเทศ ดังนั้นวิธีที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้คือการอาศัยความพยายามร่วมกันของนานาชาติ" เว็บไซต์ดัชนีประเทศที่ดีระบุ
"ปัญหาคือประเทศส่วนใหญ่ทำตัวเหมือน 'เกาะ' ที่แยกตัวเองจากโลก เน้นแค่การแก้ปัญหาภายในประเทศด้วยวิธีการของประเทศตนเอง มนุษย์เราจะไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงนิสัยแบบนี้" เว็บไซต์ดัชนีประเทศที่ดีระบุ
ดัชนีดังกล่าวได้ทำการสำรวจจากประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วัฒนธรรม, การมีส่วนร่วมกับสันติภาพและความมั่นคงของโลก, ระเบียบโลก, สิ่งแวดล้อมและภาวะอากาศโลก, ความเจริญกับความเท่าเทียม และสุขภาวะกับคุณภาพชีวิต ซึ่งมีตัวชี้วัดในด้านต่างๆ เช่น จำนวนงานวิชาการนำเสนอต่อนานาชาติ, การจัดการมลภาวะ, การให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย, เสรีภาพสื่อ และความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต
ประเทศที่โดยรวมแล้วถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 1 อย่างไอร์แลนด์ ยังเป็นอันดับที่ 1 ในด้านความเจริญกับความเท่าเทียมและมีอันดับสูงในด้านสุขภาวะกับคุณภาพชีวิต, วัฒนธรรม และระเบียบโลก
ประเทศที่ได้อันดับรองลงมาคือประเทศแถบยุโรปเหนือเช่น ฟินแลนด์, สวีเดน กับสวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยประเทศอื่นในยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี ส่วนประเทศที่อยู่ท้ายตารางได้แก่ อิรัก, เวียดนาม และลิเบีย
ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 53 จากทั้งหมด 125 อันดับ มีอันดับค่อนข้างดีในแง่สุขภาวะกับคุณภาพชีวิต และด้านระเบียบโลกคืออยู่ในอันดับที่ 22 ทั้งสองด้าน แต่ในส่วนของการชีวัดระบุว่าประเทศไทยมีคะแนนเสรีภาพสื่อต่ำ และมีคะแนนความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตซึ่งสำรวจเมื่อปี 2555 ต่ำมาก ด้านอื่นที่ไทยถูกระบุว่าแย่มากคือด้านความร่วมมือในการพัฒนา และด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ส่วนที่ประเทศไทยถูกมองในแง่บวก ได้แก่ เรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร การกุศล การส่งออกสินค้าเชิงความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าด้านการส่งออกบริการเชิงความคิดสร้างสรรค์จะอยู่ในแง่ลบ
นักวิชาการทั้งสองคนระบุอีกว่าเรื่องความรวยและความจนของประเทศต่างๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ตัดสิน พวกเขายกตัวอย่างเช่นประเทศเคนยา (อันดับที่ 26) ซึ่งไม่ได้ร่ำรวยเป็นประเทศโลกที่หนึ่งแต่ก็ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลก
เว็บไซต์ดัชนีประเทศที่ดีระบุว่าพวกเขารวบรวมข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์กรนานาชาติและองค์กรเอ็นจีโอบางส่วน โดยมีการเก็บข้อมูลคละกันในเวลาหลายปีและจะพยายามอัพเดทอยู่เสมอ โดยเตือนอีกว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการวิจารณ์จริยธรรมของแต่ละประเทศ แต่ต้องการเน้นเรื่องที่ประเทศนั้นๆ ทำอะไรที่ส่งผลต่อโลกบ้าง
"พวกเราใช้ข้อมูลที่หลากหลายจากสหประชาชาติและองค์กรนานาชาติอื่นๆ พวกเราจัดทำรายละเอียดในประเด็นต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นๆ มีความดีความชอบต่อมนุษยชาติ หรือเป็นภาระของชาวโลก หรืออยู่ตรงกึ่งกลาง" ไซมอน แอนฮอลท์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อดิอินดิเพนเดนต์
เรียบเรียงจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น