วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

'คสช.'พระเอกหรือผู้ร้าย?

มีนาคม 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากได้มาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้นที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ลาออกหรือยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมยืดเยื้อมาหลายเดือน แต่จบลงด้วยการ “สังหารหมู่” ที่รัฐบาลใช้คำว่า “กระชับพื้นที่” จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนกว่า 100 คน

หลังการนองเลือดในครั้งนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงได้เรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตเหล่านั้น ดีเอสไอจึงได้ตอบสนองโดยดำเนินการร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อให้ไต่สวนการเสียชีวิต
หลายคดีอยู่ในระหว่างการไต่สวน ขณะที่อีกหลายคดี ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายตายจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือจากกระสุนที่ยิงมาจากอาวุธของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งแน่นอนก็คือ “ทหาร” โดยเฉพาะคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่สามารถระบุหน่วยงานทหารได้อย่างชัดเจน จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีอาญาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และผู้ที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าสิ่งนี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับทหารไม่น้อย

ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตกำลังรอคอยอย่างมีความหวังต่อการเอาผิดฆาตกร และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ในครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยกลับสร้างความผิดหวังครั้งใหญ่ให้กับญาติฯ และกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยการเสนอ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” หรือที่เรียกกันติดปากว่า ฉบับ “สุดซอย” เพื่อลบล้างความผิดให้กับทุกฝ่าย รวมถึงฆาตกรและผู้ที่อยู่เบื้องหลังด้วย จะด้วยความหวังดีหรือมีวาระซ่อนเร้นก็ตาม แต่สิ่งนี้ได้สร้างความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดงและญาติของผู้เสียชีวิตที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้
แกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางคนจึงสบโอกาสจัดตั้งมวลชน ซึ่งต่อมาเรียกตนเองว่า “กปปส.” เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้ รัฐบาลที่ดันเปลี่ยนบทบาทจาก “พระเอก” ไปเป็นผู้ร้ายกะทันหัน จึงต้องยอมถอย พ.ร.บ. ฉบับนี้ แม้จะต้องเสียหน้าอย่างหนักก็ตาม แต่สุภาษิตที่ว่า “ได้ทีขี่แพะไล่” ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ รัฐบาลจึงต้องเผชิญหน้ากับการกดดันอย่างหนักจาก กปปส. จนต้องยุบสภาในเวลาต่อมา
แม้รัฐบาลจะยุบสภาไปแล้ว แต่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ แถมทำท่าบานปลายมากขึ้น กปปส. ยังคงขัดขวางการทำงานของรัฐบาลรักษาการ ทั้งการปิดล้อมสถานที่ราชการ ขัดขวางการจ่ายหนี้ค่าข้าว รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุด
ความวุ่นวายทางการเมืองกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา และความอ่อนแอของรัฐบาลรักษาการ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทหารที่กำลังต้องการ “ลบล้างความผิดของตนเอง” ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยอ้างเหตุผลอันสวยหรูเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง
ขณะนี้กลุ่มทหารที่ก่อการรัฐประหารซึ่งเรียกตนเองว่า “คสช.” พยายาม “สร้างภาพ” ให้ตนเอง ทั้งการสลายสีเสื้อ จ่ายหนี้ค่าข้าวให้กับชาวนา กวาดล้างการทุจริตในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการเดินหน้าโครงการเมกกะโปรเจ็กของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงน้ำตาลที่เคลือบยาพิษให้กับวาระซ่อนเร้นของตนเอง
ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีการรัฐประหารและการสังหารหมู่ครั้งใดที่ไม่มีการนิรโทษกรรม ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งพฤษภาทมิฬ 2535 ทุกเหตุการณ์จบลงด้วยการนองเลือด และนิรโทษกรรม ในเวลาต่อมาโดยรัฐบาลที่ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร
รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทหาร ผมเชื่อมั่นว่า 1 ในภารกิจสำคัญคือ การนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย รวมถึงฆาตกรและผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ 2553 โดยอ้างเรื่องความ “ปรองดอง” งานนี้จึงเท่ากับพรรคเพื่อไทย ซึ่งรับบทเป็นผู้ร้าย เตะ “ลูกบอลนิรโทษกรรม” ไปเข้าเท้าทหารที่รับบทเป็นพระเอก เพื่อเตะลูกบอลนั้นเข้าประตู
ผู้ที่น่าสงสารมากที่สุดคือ ญาติของผู้เสียชีวิต รวมทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสังหารหมู่ 2553 ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่ผู้ที่น่าสมน้ำหน้ามากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่เห็นช่องของความน่าเห็นใจใด ๆ  ส่วนผู้ที่ได้รับการชมเชยมากที่สุดคือ ทหาร ที่ได้ทั้งผลงานและการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง หากจะแบ่งบทบาทตามละครน้ำเน่า พรรคเพื่อไทยก็คือผู้ร้าย ที่มักจะตายอย่างโง่ ๆ  ขณะที่ทหารกลายเป็นพระเอกแบบฟลุค ๆ  ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น