เกริ่นนำ
มีข้อเขียนภาษาไทยหลายชิ้นหยิบยกคำว่า “ล่าแม่มด” ขึ้นมาใช้ ทั้งในรูปแบบงานเขียนทางวิชาการ, กึ่งวิชาการ หรือการแสดงความคิดทั่วไป แต่โดยนัยของบริบทในภาษาไทยมุ่งให้ความหมายเป็น “การกวาดล้างบรรดาผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง หรือปฏิบัติตนแปลกแยก” ซึ่งการกวาดล้างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย “อำนาจ” แต่นามธรรมที่เรียกว่า “อำนาจ” ไม่ได้ปรากฏขึ้นอย่างลอยๆ หรือเป็นเหตุบังเอิญ หากแต่มีแรงจูงใจและต้องมีการก่อการ จึงจะนำไปสู่การก่อรูป, ประกอบสร้าง, เตรียมการ ท้ายที่สุด กระบวนการแห่งอำนาจย่อมเข้าขั้นสมบูรณ์ในระดับที่กวาดล้างได้ อาจกล่าวว่า เบ็ดเสร็จในระดับหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า ในทุกระบอบการปกครอง “อำนาจ” เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นและบังคับใช้ ด้วยเหตุผลต่างๆกันไปในแต่ละยุค ที่น่าสนใจคือ อำนาจที่สุกงอมมากพอจนสามารถกวาดล้างบรรดาผู้ที่คิดเห็นแตกต่างหรือปฏิบัติตนแปลกแยก และมีความชอบธรรมในการจับกุมคุมขัง, ทรมาน, ละเมิดความเป็นมนุษย์ในยุคมืด (Dark age) ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของยุคกลาง (Medieval age) มีการก่อรูปของอำนาจอย่างไร? กระบวนการดังกล่าวอ้างอิง หรือ แอบอ้างชุดความคิด หรือเหตุผลอะไรในการพัฒนาอำนาจนั้น?
ใครมีอำนาจสูงสุดในยุคมืด?
คำตอบ คือ สันตะปาปา และในความเข้าใจของศตวรรษที่ 21 สันตะปาปา คือ ผู้นำสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียวของศาสนจักร ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐศาสนา (ในหนังสือสาระสังคมศึกษาฯ สำหรับนักเรียนระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา สรุปสั้นๆ ว่า นครรัฐวาติกัน ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ) แต่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ สันตะปาปา มีอำนาจสูงสุดตั้งแต่แรกหรือไม่ ตอบได้เลยว่า “ไม่มี” เพราะก่อนหน้า คริสตศักราช 445 ตำแหน่งพระสังฆราชแห่งโรม (Bishop of Rome) มิได้มีศักดิ์และสิทธิ์เหนือไปกว่าผู้นำคริสตชนกลุ่มย่อยอื่นๆ อย่างสังฆราชแห่งเมืองคอนสแตนติโนเปิล (Bishop of Constantinople) ซึ่งเป็นผู้นำคริสตชนในเมืองที่เคยเป็นเมืองสำคัญของจักรพรรดิคอนสแตนติน เลยแม้แต่น้อย แต่สังฆราชแห่งโรมในขณะนั้นอ้าง “พระคัมภีร์” (Text) และชี้ว่าความเป็นสังฆราชแห่งโรมนั้น ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการปกครองกลุ่มคริสตชนทั้งมวล เนื่องจาก นักบุญเปโตร (St.Peter) ตายและถูกฝังไว้ที่นี่ และข้อพระคัมภีร์ที่ชี้เรื่องพระเจ้าทรงบัญชาให้ศาสนจักรตั้งอยู่บนศิลา (Petrus หรือ Petro แปลว่า ศิลา) ก็เป็นสิ่งที่คัดง้างได้ยากในบริบทของยุคนั้น (ต่อมาการอ้างว่า เมืองใหญ่ๆ ได้รับเทวลิขิตจากพระเจ้าก่อให้เกิดปัญหามากมายกับสันตะปาปาเอง) และจักรพรรดิวาเลนตีเนียนที่ 3 ทรงคล้อยตามข้ออ้างนี้ จึงประกาศให้สังฆราชทุกองค์ในจักรวรรดิโรมันตะวันตกขึ้นตรงต่อคำสั่งสอนของสังฆราชแห่งโรม [1] หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวไม่กี่ปี มีการเผยแพร่เอกสารชุดหนึ่งชื่อ “Donatio Constantini” (การถวายของจักรพรรดิคอนสแตนติน) เพื่อบอกว่า อำนาจอาชญาสิทธิ์ของสังฆราชแห่งโรมนั้นเป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ที่สุดแม้จะมีผู้โต้แย้งด้วยวิธีการทางภาษาศาสตร์เพื่อสรุปว่าเอกสารฉบับนี้เป็นของปลอม[2] แต่อำนาจเหนือกษัตริย์กลับยังคงอยู่ และเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องในรูปแบบธรรมกษัตริย์ผู้ซึ่งกษัตริย์นักรบต้องศิโรราบให้
ดังนั้น การก่อรูปของอำนาจในยุคมืดไม่ยากเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงมี กองทัพที่เกรียงไกร, พระธรรมคัมภีร์ และกษัตริย์เหนือกษัตริย์ ซึ่งความเหิมเกริมในอำนาจนี้นำไปสู่การฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมาย และเป็นเหตุให้เกิดสงครามครูเสด
ดังนั้น การก่อรูปของอำนาจในยุคมืดไม่ยากเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงมี กองทัพที่เกรียงไกร, พระธรรมคัมภีร์ และกษัตริย์เหนือกษัตริย์ ซึ่งความเหิมเกริมในอำนาจนี้นำไปสู่การฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมาย และเป็นเหตุให้เกิดสงครามครูเสด
จากเทวอำนาจสู่การตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
การตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในยุคมืด ดังนั้น สิ่งใดที่ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และถูกรับรองแล้วโดยตัวแทนของพระคริสต์บนโลกนี้ สิ่งนั้นย่อมเป็นที่เชื่อถือได้ การยึดโยงเรื่องอักษรเช่นนี้เองเป็นต้นกำเนิดของ “นิติกรรม” (jurisprudentium) ซึ่ง “ตัวอักษร” ในฐานะ “สัญญะ” จะแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รู้หนังสือ กับ ไม่รู้หนังสือ และผู้ที่รู้หนังสือ นั่นคือ พวกที่เข้าใจซาบซึ้งในเทวอำนาจ (ส่วนผู้รู้หนังสือที่ไม่ซาบซึ้งในเทวอำนาจ คือ พวกนอกรีต) แน่นอน วัฒนธรรม (ผ่านพิธีกรรมทางศาสนา) ย่อมหล่อหลอมให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ธรรมกษัตริย์ผู้ซึ่งกษัตริย์นักรบต้องศิโรราบ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายที่รับใช้ธรรมกษัตริย์ หรือสันตะปาปา จะเกิดความเหิมเกริมว่าเป็น “อภิสิทธิ์ชน” (ชนที่ถูกเลือกสรร) ทั้งที่สถานะของธรรมกษัตริย์หรือผู้นำคริสตชนนั้นเป็นเพียงผู้นำทางจิตวิญญาณเท่านั้น (Spiritual Leader) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้รับใช้ของทั้งสองฝ่ายสมประโยชน์กัน “ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกษัตริย์นักรบ” ก็ถูกเปลี่ยนมือได้ง่ายๆ ราวกับว่าไม่เคยมีอยู่ ดังจะเห็นได้จาก การปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของขุนนางตระกูลกาโรลิงเจียน (Carolingian) ที่สันตะปาปาสนับสนุนอย่างเปิดเผย และเมื่อเปแปงในฐานะอำมาตย์ใหญ่ตระกูลกาโรลิงเจียนขึ้นครองราชย์ในปี 751 พระองค์ไม่รีรอที่จะถวายที่ดินส่วนหนึ่งในคาบสมุทรอิตาลีให้สันตะปาปานักบุญสเตเฟนที่ 2 เป็นการตอบแทนศาสนจักร นั่นเป็นครั้งแรกที่ธรรมกษัตริย์ถือครองกรรมสิทธิ์ในผืนแผ่นดินโลกด้วย (ไม่ใช่แต่บนสวรรค์) ซึ่งฝ่ายชนชั้นปกครองและนักบวชได้ผลิตเอกสารมากมายในช่วงเวลานี้ และในหลายฉบับนั้นเป็นการปลอมเอกสารเพื่อโฆษณาชวนเชื่ออย่าง Donatio Constantini ตามที่กล่าวไป ที่น่าสนใจ คือ จำนวนผู้ที่ยังไม่เข้าถึงการศึกษามีอีกมาก (กล่าวกันว่า ยุคมืด คือ ยุคที่เกิดความเสื่อมถอยทางการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม) นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้การก่อรูปของอำนาจผ่านตัวอักษรเป็นไปโดยง่าย เพราะจะเห็นว่า เมื่อมีการก่อตั้งวิถีชีวิตแบบอารามฝ่ายพรตขึ้นในหลายทศวรรษให้หลัง เมื่อมีคนได้รับการศึกษาและมีการสั่งสมความรู้มากขึ้นโดยลำดับ อารามได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และที่เก็บตำรับตำรา จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการตั้งคำถามต่ออำนาจ แม้ว่า จะไม่เป็นการเรียกร้องเสรีภาพโดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็เป็นการตื่นรู้ที่ว่า “ชีวิตที่ดีตามนัยแห่งศาสนา ไม่น่าจะใช่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของฐานะและศักดินา” และในท้ายๆของยุคกลาง หลังศาสนจักรผ่านการล่าแม่มดมาอย่างนองเลือดแล้ว ปี 1517 มาร์ติน ลูเธอร์ นักพรตคณะเอากุสตีเนียน (Augustinian monk) ได้เคลื่อนไหวในฐานะปัญญาชนต่อนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของศาสนจักรในขณะนั้นจนนำไปสู่การปฏิรูปทางศาสนา (แม้กระนั้น ลูเธอร์ ก็มิได้หลุดพ้นจากกรอบเรื่องความดีและชั่วแต่อย่างใด เขาสนับสนุนให้รัฐมีอำนาจโดยชอบในการกำจัดคนชั่ว) สิ่งที่น่าจะสรุปได้คือ ช่วงที่เกิดการล่าแม่มดนั้น การสั่งสมองค์ความรู้ยังไม่มากพอที่จะผลิตโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับยุคมืด
วิธีการล่าแม่มดและเทวอำนาจ
การปกครองในยุคมืดเน้น “ความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว” นั่นหมายถึง ทุกอย่างต้องมีแบบแผนซึ่งถูกรับรองแล้วแบบแผนเดียว นั่นคือเป็น “จารีต” และใครก็ตามที่คิดหรือปฏิบัติ หรือทำเพิกเฉยต่อ “จารีต” ดังกล่าว ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยว่า “นอกรีต” โดยปริยาย แต่ถ้าไม่มีอำนาจมาช่วยขับเคลื่อน คำว่า “จารีต / นอกรีต” ก็เป็นเพียงคำหนึ่งที่บ่งบอกสภาพการเปรียบเทียบให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น แต่ในยุคมืดอำนาจทางการเมืองทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายศาสนจักรเข้ามาแทรกแซงและจัดการให้ “นอกรีต” เป็นสิ่งร้ายแรง เป็นต้น การตราเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ให้มีโทษถึงชีวิต เช่น ความสุขต้องเป็นไปอย่างที่ถูกกำหนดไว้ในพระคัมภีร์เท่านั้น ถ้าพฤติกรรมใดที่ทำแล้วเกิดสุข แต่สุขดังกล่าวขัดหรือแย้ง หรือเชื่อได้ว่าขัดแย้งกับที่พระคัมภีร์กำหนดไว้ให้ถือว่าเป็น “เรื่องนอกรีต” ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือ การเปลี่ยนความหมายของรักร่วมเพศ ให้กลายเป็นพฤติกรรมนอกรีตที่ชั่วร้าย โดยอ้างพระคัมภีร์เรื่องเมืองโสดมโกโมราห์ (เป็นที่มาของคำว่า Sodomy) และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanize) ของผู้ที่เชื่อว่าเป็นพวกนอกรีตให้กลายเป็นเพียงสัตว์ นั่นคือ การกำหนดว่าผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากธรรมรัฐต้องเป็นสัตว์ มีสถานะต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทางออกที่ดีที่สุด คือ การกวาดล้างสัตว์ในร่างมนุษย์พวกนี้เสีย และ การทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ในร่างมนุษย์พวกนี้ไม่ถือว่ามีความผิดบาป ทั้งยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้กระทำอย่างกว้างขวางเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอีกด้วย ดังนั้น นักบวชหรือชนชั้นปกครองย่อมส่งเสริมการฆ่าเพื่อควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างและอาจจะเป็นภัยต่อรัฐด้วยเหตุนี้ การเผาทำลายตำรานอกรีต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความจริงใจที่จะทำลายองค์ความรู้อื่น โดยไม่แสดงความเสียดายเพราะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (แต่ประวัติศาสตร์กลับพบว่ามีการทำสำเนาหนังสือเหล่านั้นไว้ด้วย ที่สุดหนังสือนอกรีตก็ยังคงซ่อนเร้นอยู่ในสังคมต่อไป)
กระบวนการสอบสวนจนนำมาสู่ตำราล่าแม่มด (malleus maleficarum) พัฒนามาจากแนวคิดของนักปรัชญาอย่าง นักบุญโธมัส อากวีนูส (St.Thomas Aquinas) ในงานเขียน Summa Theologica ซึ่งสถาปนาเรื่อง “lex naturalis” (Natural Law) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายโดยธรรมชาติ” แต่เพราะกฎหมายโดยธรรมชาตินี้ผูกโยงเข้ากับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่าง “พระประสงค์ของพระเจ้า” จึงทำให้ความดีงามคือสิ่งที่พระเจ้าลิขิต และแน่นอน ธรรมรัฐโดยสันตะปาปาย่อมอ้างความเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมขององค์พระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น สิ่งที่สันตะปาปาลิขิตก็ย่อมเป็นสิ่งดีงาม และไม่รู้จักผิดหลงหรือพลาดพลั้ง (papal infallibility) นั่นคือ แนวคิดที่มีนัยทางนิติศาสตร์ที่คุ้มครองสันตะปาปาในฐานะประมุขของรัฐศาสนา มิให้ต้องกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่ปัญหานี้จัดได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิคในประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยกลางเพราะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอระหว่างกษัตริย์นักรบ กับ ธรรมกษัตริย์ เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด บ่อยครั้งเกิดจากความดื้อรั้นและอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของสันตะปาปา และนั่นไม่เป็นผลดีกับศาสนจักรในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การล่าแม่มด, การแตกแยกของนิกาย, ผลประโยชน์ในสันตะสำนัก เพราะเห็นได้ชัดแล้วว่า “การยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป” (Confession) เป็นอะไรที่ดีกว่าการประกาศว่าตนเองทรงความดีบริสุทธิ์ผุดผ่อง (Purity) อย่างไรก็ตาม สันตะปาปาหลายพระองค์ในประวัติศาสตร์ได้ใช้อำนาจนี้ล่าแม่มด [3]
กระบวนการสอบสวนจนนำมาสู่ตำราล่าแม่มด (malleus maleficarum) พัฒนามาจากแนวคิดของนักปรัชญาอย่าง นักบุญโธมัส อากวีนูส (St.Thomas Aquinas) ในงานเขียน Summa Theologica ซึ่งสถาปนาเรื่อง “lex naturalis” (Natural Law) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายโดยธรรมชาติ” แต่เพราะกฎหมายโดยธรรมชาตินี้ผูกโยงเข้ากับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่าง “พระประสงค์ของพระเจ้า” จึงทำให้ความดีงามคือสิ่งที่พระเจ้าลิขิต และแน่นอน ธรรมรัฐโดยสันตะปาปาย่อมอ้างความเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมขององค์พระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น สิ่งที่สันตะปาปาลิขิตก็ย่อมเป็นสิ่งดีงาม และไม่รู้จักผิดหลงหรือพลาดพลั้ง (papal infallibility) นั่นคือ แนวคิดที่มีนัยทางนิติศาสตร์ที่คุ้มครองสันตะปาปาในฐานะประมุขของรัฐศาสนา มิให้ต้องกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่ปัญหานี้จัดได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิคในประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยกลางเพราะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอระหว่างกษัตริย์นักรบ กับ ธรรมกษัตริย์ เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด บ่อยครั้งเกิดจากความดื้อรั้นและอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของสันตะปาปา และนั่นไม่เป็นผลดีกับศาสนจักรในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การล่าแม่มด, การแตกแยกของนิกาย, ผลประโยชน์ในสันตะสำนัก เพราะเห็นได้ชัดแล้วว่า “การยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป” (Confession) เป็นอะไรที่ดีกว่าการประกาศว่าตนเองทรงความดีบริสุทธิ์ผุดผ่อง (Purity) อย่างไรก็ตาม สันตะปาปาหลายพระองค์ในประวัติศาสตร์ได้ใช้อำนาจนี้ล่าแม่มด [3]
บทสรุป
การเถลิงอำนาจขึ้นของสันตะปาปาในฐานะธรรมกษัตริย์ ไม่เคยแยกออกจากกลุ่มอำมาตย์ที่สนับสนุนเพื่อความสมประโยชน์ โดยองค์ประกอบที่ยุคมืดใช้ชำระให้ธรรมกษัตริย์มีความชอบธรรม คือ “พระคัมภีร์” และจะเน้นย้ำถึง “ความเป็นผู้ที่ถูกเลือกสรร”, “คนพิเศษ”, “ตัวแทนอำนาจจากสวรรค์” แต่แล้วด้วยความไม่มั่นคงทางจิตใจ ธรรมกษัตริย์และกษัตริย์นักรบ พร้อมทั้งอำมาตย์ที่ปรึกษา ต้องสร้างเอกสารเท็จขึ้นมาเพื่อชวนเชื่อและกล่อมเกลาประชาชนให้รู้สึกว่า “อำนาจโดยชอบนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมา”, “มองในแง่ไหนก็มีความชอบธรรมทั้งสิ้น” เพราะความที่ประชาชนยังไม่เข้าถึงการศึกษา (ถูกปิดกั้นโอกาสที่จะศึกษา) จึงไม่สามารถที่จะเข้าใจนัยยะซ่อนเร้น หรือวิเคราะห์เรื่องเท็จที่พวกเขายกเอามาหลอกลวงได้ [4] จึงกลายเป็นว่า ต้องยอมรับและถูกทำให้เชื่องโดยปริยาย แต่โลกใบนี้เวลาเดินไปข้างหน้าเสมอ อย่างไรเสีย องค์ความรู้ก็เกิดการสั่งสมขึ้นมาได้สักวันไม่ว่าจะปิดกั้นอย่างไร สุดท้ายแล้ว การปะทะกันของความคิดเห็นที่แตกต่างก็เกิดขึ้นและจะนำไปสู่การกวาดล้างหรือที่เรียกว่า “การล่าแม่มด” กระนั้นก็ดี จะเห็นว่า แทนที่การล่าแม่มด จะช่วยทำให้อำนาจของธรรมกษัตริย์และกษัตริย์นักรบสถาพรมั่นคง แต่ไม่เลย สิ่งนี้กลับสั่งสมความโกรธแค้นไว้นานนับศตวรรษ ทำให้เกิดปฏิกิริยาสวนโต้ที่ป่าเถื่อนภายหลังพ้นจากยุคมืดไม่กี่ร้อยปี เพราะเมื่อมนุษย์เริ่มศึกษาอะไรมากเข้าแล้ว ก็ย่อมเกิดคำถามที่ว่า “ชีวิตที่ดีตามนัยแห่งศาสนา ไม่น่าจะใช่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของฐานะและศักดินา”มากไปกว่านั้นในศตวรรษที่ 21 ชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องตามนัยแห่งศาสนา หรือตามนัยของอริสโตเติลก็ได้ และข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการถกเถียงกันเพื่อพิสูจน์ว่า “ความสุขของมนุษย์คืออะไร?” ก็อาจจะไม่ใช่อย่างที่เขาชวนเชื่อหลอกลวงกันในยุคมืด และผู้คนในยุคมืดจะเรียกเสรีภาพแห่งความคิดนี้ว่า “กบฏนอกรีต” ควรถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะอยากฆ่าเราให้ตายโดยที่เขาไม่เกิดความรู้สึกผิดอะไร น่าสนใจว่า ใครกันคือสัตว์ในร่างคน? แล้วธรรมรัฐจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงได้อย่างไร?
อ้างอิง
[1] Canduci, Alexander, Triumph and Tragedy: The Rise and Fall of Rome’s Immortal Emperors, Pier 9 (2010) หนังสือเล่มนี้อธิบายการก่อรูปของอำนาจธรรมกษัตริย์ภายใต้ความเป็นโรมันได้ดีในระดับหนึ่ง เพื่อจะได้สังเกตลักษณาการของอำนาจทางธรรมและทางโลกที่เข้าสู่พรมแดนของการหาประโยชน์ร่วมกัน
[2] Camporeale, Salvatore I. "Lorenzo Valla's Oratio on the Pseudo-Donation of Constantine: Dissent and Innovation in Early Renaissance Humanism." Journal of the History of Ideas (1996) 57#1 ข้อโต้แย้งของ Lorenzo Valla นักบวชคาทอลิกที่ชี้ว่าเอกสารการถวายของจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นเอกสารเท็จที่เขียนขึ้นในภายหลัง พิสูจน์ด้วยวิธีทางภาษาศาสตร์
[3] Douglas Linder (2005).A Brief History of Witchcraft Persecutions before Salem.
[4] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2013) . ชุดคำบอกเล่าในยุคมืด(และ)ของประเทศไทย?
[2] Camporeale, Salvatore I. "Lorenzo Valla's Oratio on the Pseudo-Donation of Constantine: Dissent and Innovation in Early Renaissance Humanism." Journal of the History of Ideas (1996) 57#1 ข้อโต้แย้งของ Lorenzo Valla นักบวชคาทอลิกที่ชี้ว่าเอกสารการถวายของจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นเอกสารเท็จที่เขียนขึ้นในภายหลัง พิสูจน์ด้วยวิธีทางภาษาศาสตร์
[3] Douglas Linder (2005).A Brief History of Witchcraft Persecutions before Salem.
[4] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2013) . ชุดคำบอกเล่าในยุคมืด(และ)ของประเทศไทย?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น