Fri, 2014-09-26 21:57
หลังจากพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้มอบนโยบายค่านิยม 12 ประการให้หน่วยงานต่างๆนำไปปรับใช้ในองค์กร และเน้นเป็นอย่างยิ่งกับโรงเรียน จนนำไปสู่การออกแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการเขตการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียบเรียงค่านิยม 12 ประการจากท่านผู้นำให้เป็นบทอาขยาน สำหรับให้นักเรียนท่องจำ และจัดทำเป็นป้ายไวนิลให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศนำไปแปะประกาศ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
หนึ่งรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สองซื่อสัตย์ เสียสละ อดทนได้
สามกตัญญู พ่อแม่ สุดหัวใจ สี่มุ่งใฝ่ เล่าเรียน เพียรวิชา
ห้ารักษา วัฒนธรรม ประจำชาติ หกไม่ขาด ศีลธรรม ศาสนา
เจ็ดเรียนรู้ อธิปไตย ของประชา แปดรักษา วินัย กฎหมายไทย
เก้าปฏิบัติ ตามพระ ราชดำรัส สิบไม่ขาด พอเพียง เลี้ยงชีพได้
สิบเอ็ดต้อง เข้มแข็ง ทั้งกายใจ สิบสองไซร้ คิดอะไร ให้ส่วนรวม
ประชาไท สัมภาษณ์นักเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 คน ตัวแทนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท คือ ‘ไนซ์’ ณัฐนันท์ วรินทรเวช จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อายุ 17 ปี และ ‘เซน’ ศุภณัฐ ฉัตร์รุ่ง จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย อายุ 18 ปี เพื่อทราบถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อค่านิยม 12 ประการของคนรุ่นใหญ่
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยนักเรียนมัธยมศึกษาเมื่อราวปลายปี 2556 ปัจจุบันมีสมาชิกราว 50 คน ไม่นับรวมเครือข่ายต่างจังหวัด กลุ่มเด็กเหล่านี้ทำกิจกรรมเสวนา ตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตนักเรียน เช่น การทวงถามการอนุญาตเรื่องทรงผม การรณรงค์ให้ยกเลิกการสอบยูเน็ต ฯลฯ
“หลังรัฐประหารเราจะจัดเสวนาเรื่องประชาธิปไตยในห้องเรียน แต่ปรากฏว่าเจ้าของสถานที่เขาไม่อนุญาต ได้ยินคำว่าประชาธิปไตยปุ๊บ แบนเลย” ณัฐนันท์เล่า
นอกจากนี้ในวันเด็กแห่งชาติปีล่าสุด กลุ่มนี้ยังจัดกิจกรรม ‘มอบดอกไม้ให้ทหาร’ ...ไม่ใช่อย่างที่เห็นเมื่อปี 2549 แต่เป็นการมอบดอกไม้ที่ทหารออกมายืนยันว่าจะไม่ทำรัฐประหาร
“กิจกรรมนี้เราเจ็บปวดมาก” ณัฐนันท์พูดถึงความเชื่อที่ผิดพลาด
คนรุ่นใหม่ทั้งสองพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเราอย่างออกรส พวกเขาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และคิดอย่างเป็นระบบ พวกเขายืนยันว่ายึดถือความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ชื่นชอบการถกเถียง และอยากให้เพื่อนๆ ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในโรงเรียน จึงจัดกิจกรรมต่างๆ จนครูอาจารย์บางท่านก็มองว่าพวกเขา ‘หัวรุนแรง’
“จุดเริ่มต้นของพวกเราคือ เราอ่านเยอะ เพราะเรายังหาจุดยืนที่แน่นอนไม่เจอ ท่ามกลางสังคมที่แตกแยกและสับสนขนาดนี้ มันทำให้เรายิ่งต้องหาข้อมูล ยิ่งต้องสนทนา เราไม่อยากอยู่ไปวันๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรเลย” ณัฐนันท์กล่าว
‘คำถาม’ คือดาวนำทางของเยาวชนกลุ่มนี้ และดูเหมือนเขายังคง ถาม ถาม ถาม แม้ในสถานการณ์ที่ทุกคนถูกขอให้เงียบ
บางส่วนของความคิดเห็นเกี่ยวกับค่านิยม 12 ประการ
“เห็นได้ชัดเลยว่าเขาต้องการสร้างคนดีที่เป็นแบบเดียวกัน เป็นเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งมันพื้นฐานความคิดมาจากระบอบอำนาจนิยม”
“12 ข้อนี้ไม่ดีตรงที่ว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 คุณควรจะสอนให้นักเรียนคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ หรือคุณจะสอนให้นักเรียนจำทั้งหมดแล้วเอาไปปฏิบัติอย่างไม่ตั้งคำถาม”
“แค่ความเป็นคนดี คุณยังไม่ให้นักเรียนคิดเอง ทุกคนก็มีชุดศีลธรรมของเขา แต่คุณยังไปดูถูกผู้เรียนว่าคิดแบบนี้ถึงจะถูก คิดแบบคุณมันไม่ถูกต้อง แทนที่เราจะมาถกกันว่าทำไมคุณถึงคิดแบบนี้ ทำไมเราถือคิดแบบนี้ คนเราแตกต่างกันได้บนพื้นฐานของความสันติ”
“อย่างข้อที่ 7 เองผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง เขาก็ไม่ได้จำกัดความว่าคืออะไร”
“เข้าใจแล้วเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่แน่ใจว่าความเข้าใจของเราตรงกับท่านผู้นำหรือเปล่า เพราะความเป็นประชาธิปไตยของเราคือการถกเถียง คือการรับฟังในสิ่งที่เราไม่อยากรับฟัง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น