สนช.มีมติเอกฉันท์ผ่านความเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ที่มีเรื่องของอำนาจถอดถอนและให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง โดยตัดขั้นตอนวิป สนช.พิจารณาคำร้อง มีผลบังคับใช้ 26 ก.ย. แต่งตั้ง กมธ.สรรหาแล้ว 12 คน
สำนักข่าวไทยรายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน ที่ประชุมพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช.วาระ 2 ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว สนช.เสนอคำแปรญัตติ 8 คน ส่วนใหญ่เห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ แต่มีบางข้อ อาทิ ข้อ 84 วรรค 2 เรื่องจำนวนกรรมาธิการสามัญที่คณะกรรมาธิการฯแก้ไขว่าให้มีได้ไม่เกิน 26 คนต่อคณะ โดยคำนวณเผื่อไว้ในกรณีที่มี สนช.ครบ 220 คน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. อภิปรายไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าการคิดจำนวนกรรมาธิการฯ ควรอยู่บนพื้นฐาน สนช. 196 คน และตามร่างไม่ได้บังคับว่า สนช.ทุกคนต้องเป็น 2 คณะ ขณะที่นายสมชาย แสวงการ เห็นตรงกับนายวัลลภ โดยระบุว่า จากประสบการณ์ในอดีตที่ไม่สามารถตั้งกรรมาธิการได้ครบตามจำนวนถึง 2คณะ จึงยืนยันให้คงจำนวนเดิมคือกรรมาธิการสามัญ 1 คณะ ไม่ควรเกิน 21 คน
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะกรรมาธิการ ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้คิดบนฐานของตัวบทกฎหมายที่มี สนช.ไม่เกิน 220 คน และเชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะตั้งสนช.ครบตามจำนวน 220 คน จึงควรกำหนดไว้ให้รองรับในส่วนนี้ และเห็นว่าหากระบุไว้เช่นนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นการกำหนดไว้ว่ามีจำนวนกรรมาธิการได้ไม่เกิน 26 คน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ ให้กรรมาธิการสามัญแต่ละคณะมีสมาชิกได้ไม่เกิน 26 คน ด้วยคะแนน 137ต่อ 22 คะแนน งดออกเสียง 3 เสียง
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาเรื่องจำนวนกรรมาธิการสามัญ ที่ร่างข้อบังคับการประชุมสนช.กำหนดให้มี 16 คณะ โดยนายนรนิติ เศรษฐบุตร สนช. ท้วงติงว่า การนำเรื่องความมั่นคงของรัฐกับต่างประเทศมารวมอยู่ในกรรมาธิการชุดเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่ากรรมาธิการความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเรื่องความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของกรรมาธิการในอนาคต
กรรมาธิการชี้แจงว่า การนำเรื่องความมั่นคงและการต่างประเทศรวมกัน เพราะปัจจุบันปัญหาความมั่นคงและภัยคุกคามเป็นเรื่องไร้พรมแดน ที่มีความเชื่อมโยงในหลายด้าน ซึ่งวิธีการทางการทูตจะเป็นกลไกสำคัญของการแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า หากสมาชิกหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วย กรรมาธิการจะนำไปพิจารณาปรับแก้ให้เหมาะสม
เวลา 12.15 น. ประธาน สนช.สั่งพักการประชุมชั่วคราวก่อนกลับมาประชุมต่ออีกครั้ง 13.30 น. ซึ่งนายพีรศักดิ์ชี้แจงถึงถ้อยคำที่แก้ไขว่า คณะกรรมาธิการได้แก้ไข ข้อ 84 (13) ให้กลับไปสู่ร่างเดิม คือ (13) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ส่วนเรื่อง “ความมั่นคง” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศกิจการทหาร ให้นำไปรวมใน ข้อบังคับที่ 84 (2) คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาประเด็นที่อยู่ในความสนใจของ สนช. คือ หมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯแก้ไขเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช.กลั่นกรองคำร้องก่อน โดยระบุว่า ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งหรือให้บุคคลใดพ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อประธานสภา ให้ประธานสภามอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตรวจสอบว่าคำร้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาหรือไม่ และให้เสนอรายงานต่อประธานสภา
นายธานี อ่อนละเอียด สนช. คนเดียวที่ขอแปรญัตติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ สนช.ใช้อำนาจถอดถอนบุคคล เพราะแต่ละสำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเข้ามามีฐานความผิดแตกต่างกัน พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีถอดถอนแต่ละคดี จำนวน 19 คน เพื่อพิจารณาอำนาจ สนช.ในแต่ละคดี ก่อนส่งที่ประชุม สนช.ชี้ขาดว่าจะถอดถอนหรือไม่ พร้อมขอให้ประธาน สนช.พิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งประธาน หากคู่กรณียื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ยืนยันไม่มีเจตนาแอบแฝงในการแปรญัตติในประเด็นนี้
นายตวง อันทะไชย ในฐานะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับฯ ชี้แจงว่า ร่างข้อบังคับไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า สนช.จะมีอำนาจถอดถอนได้ เพราะการดำเนินการจะต้องอ้างอิงกับกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่ยื่นคำร้องถอดถอนมาด้วย อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วคณะกรรมาธิการได้ตัดข้อ 145/1 ที่ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. พิจารณาตรวจสอบคำร้องว่าอยู่ในอำนาจของสภาหรือไม่ออกจากร่างข้อบังคับ จากนั้นที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ผ่านความเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 148 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยร่างข้อบังคับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันทีวันที่ 26 ก.ย. นี้
ล่าสุดในวันนี้ (26 ก.ย.) ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญสรรหาคณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 12 คน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น