จากดัชนีขององค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวจัดให้ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่มีนักข่าวถูกสังหารแล้วผู้กระทำผิดยังลอยนวล รองจากอิรักและโซมาเลีย โดยนับตั้งแต่ปี 2529 มีเหตุฆาตกรรมนักข่าว 145 คนในฟิลิปปินส์ มีเพียง 14 กรณีเท่านั้นที่มีการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด
26 ก.ย. 2557 สำนักข่าวเดอะโกลบอลโพสต์รายงานว่าประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าวโดยอ้างอิงจากดัชนีว่าด้วยกรณีผู้ทำผิดโดยไม่ได้รับโทษ (Global impunity index) ประจำปี 2557 ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ซึ่งฟิลิปปินส์ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่มีการสังหารนักข่าวโดยที่ผู้กระทำผิดลอยนวล รองจากประเทศอิรักและโซมาเลีย แต่ก็แย่กว่าซีเรีย
โกลบอลโพสต์ระบุว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่ก็ยังมีกรณีการพยายามสังหารนักข่าวโดยที่ผู้กระทำผิดลอยนวล เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นกับออร์ลันโด นาวาร์โร ผู้จัดการสถานีวิทยุผู้เปิดโปงเรื่องการเพิ่มจำนวนของยาเสพติดผิดกฎหมายในท้องถิ่นแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกมือปืนยิงเข้าที่หลังขณะที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านในวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา นาวาร์โรรอดชีวิตมาได้แม้ว่ากระสุนจะเฉียดหัวใจเขา เขาเชื่อว่ามีคนปองร้ายเพราะเรื่องที่เขาเปิดโปงผ่านวิทยุ
โกลบอลโพสต์รายงานอีกว่าเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้มีนักจัดรายการวิทยุอีกรายหนึ่งชื่อนิโล บาคูโล ถูกยิงเสียชีวิต เขาเป็นนักข่าวรายที่ 4 ของฟิลิปปินส์ที่ถูกสังหารในปีนี้ ถือเป็นรายที่ 25 ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 และถือเป็นรายที่ 145 นับตั้งแต่มีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2529
ศูนย์เพื่อเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อหรือซีเอมเอฟอาร์ (CMFR) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เฝ้าระวังและสืบสวนเรื่องความรุนแรงต่อนักข่าวในฟิลิปปินส์ระบุว่าการสังหารผู้คนโดยที่คนร้ายลอยนวลถือเป็นผลพวงมาจาก "หลักนิติธรรมที่อ่อนแอ"
บาคูโล นักข่าวที่ถูกสังหารเคยพยายามแจ้งเรื่องขอการคุ้มครองจากศาลฟิลิปปินส์ในปี 2550 เมื่อทราบว่ามีคนวางแผนปลิดชีวิตเขา แต่ศาลชั้นอุทธรณ์ปฏิเสธไม่ต่ออายุคำร้องของเขาในปี 2551
ประธานาธิบดีอากีโนได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุหลังเกิดเหตุยิงนาวาร์โรว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะไม่ยอมให้มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นและจะหาตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษอย่างแข็งขัน แต่อากีโนกล่าวอีกว่าเขาเชื่อว่าเหตุสังหารหลายครั้งไม่ได้มาจากมูลเหตุด้านการรายงานข่าวแต่มาจากแรงจูงใจเรื่องส่วนตัว
ขณะ ลุยส์ ทีโอโดโร จากองค์กรซีเอมเอฟอาร์โต้แย้งคำกล่าวอ้างของอากีโน โดยชี้แจงว่าจากข้อมูลการสืบสวนของซีเอมเอฟอาร์พบว่านับตั้งแต่ปี 2529 การสังหารนักข่าวด้วยสาเหตุจากการทำงานข่าวมีจำนวนมากกว่าการสังหารที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงานข่าว ทีโอโดโรกล่าวอีกว่าคำกล่าวอ้างของอากีโนเป็นการลดทอนความสำคัญของปัญหาซึ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
จากกรณีสังหารนักข่าว 145 คนในฟิลิปปินส์ มีเพียง 14 กรณีเท่านั้นที่มีการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด
เมื่อ 5 ปีที่แล้วในฟิลิปปินส์เกิดเหตุสังหารหมู่ประชาชน 58 คนในเมืองอัมปาตวน จังหวัดมากินดาเนา มี 32 คนในจำนวนนั้นเป็นนักข่าว ซึ่งถือเป็นการใช้กำลังโจมตีสื่อครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ นักข่าวในเหตุการณ์นั้นกำลังติดตามข่าวเรื่องนักการเมืองท้องถิ่นที่กำลังแข่งขันกับผู้ว่าราชการคนปัจจุบันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น โดยมีการกล่าวหาว่าผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่คือผู้ว่าราชการคนปัจจุบันและครอบครัว แต่ยังไม่มีใครเลยที่ถูกตัดสินดำเนินคดี
ในรายงานฉบับล่าสุดของของซีพีเจ ทำการสำรวจข้อมูลการสังหารนักข่าวที่ยังไม่สามารถสะสางคดีได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2547 ถึง 31 ธ.ค. 2556 แล้วเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งพบว่าในอิรักมีจำนวนนักข่าวที่ถูกสังหารโดยที่ยังไม่สามารถสะสางคดีได้ 100 คน ส่วนหนึ่งมาจากการสังหารของกลุ่มติดอาวุธไอซิส (ISIS) อันดับรองลงมาคือโซมาเลีย มีจำนวนนักข่าวที่ถูกสังหารและยังไม่ได้รับความเป็นธรรม 26 คน
ประเทศอื่นๆ ที่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางดัชนีว่าด้วยกรณีผู้ทำผิดโดยไม่ได้รับโทษประจำปี 2557 ได้แก่ ศรีลังกา, ซีเรีย, อัฟกานิสถาน, เม็กซิโก, โคลัมเบีย, ปากีสถาน, รัสเซีย, บราซิล, ไนจีเรีย และอินเดีย
ซีพีเจสำรวจพบว่าการสังหารนักข่าวร้อยละ 70 มาจากแรงจูงใจเกี่ยวกับงานข่าว โดยได้นิยาม "การฆาตกรรมนักข่าว" ในดัชนีว่าเป็นการจงใจโจมตีนักข่าวอย่างเจาะจงด้วยสาเหตุเกี่ยวกับงาน และไม่ได้นับรวมกรณีที่นักข่าวถูกสังหารในสงครามหรือกรณีที่นักข่าวเสียชีวิตจากการทำงานอันตรายเช่นการทำข่าวการประท้วงลงไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น