วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กป.อพช.ร้อง หยุดคุกคามประชาชนเห็นต่าง เพื่อปฏิรูป-ปรองดอง


กป.อพช. ออกแถลงการณ์กรณีทหารเรียกองค์กรภาคประชาชนอีสานลงชื่อไม่ร่วมปฏิรูปรายงานตัว-บุกห้องประชุมเวทีสิทธิชุมชนที่ขอนแก่น เรียกร้อง คสช.รบ. ยุติการคุกคามคนที่เห็นต่าง ชี้จะปฏิรูปประเทศต้องเปิดให้ประชาชนเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน
สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเรียกองค์กรภาคประชาชนอีสานที่ลงนามในแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เข้ารายงานตัว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. และการคุกคามการจัดการประชุมเรื่อง "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายภาคประชาชน ที่จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 นั้น
6 พ.ย. 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยุติการคุกคามประชาชน เพื่อการปฏิรูปและความปรองดอง เรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เคารพความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ที่มีความแตกต่างหลากหลายตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน 
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์
เรื่อง ยุติการคุกคามประชาชน เพื่อการปฏิรูปและความปรองดอง
ตามที่เจ้าหน้าที่ทหาร ได้เรียกนักกิจกรรมทางสังคมที่ลงนามในแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติของเครือข่ายภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กรให้เข้ารายงานตัว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 และการคุกคามการจัดการประชุมเรื่อง "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 นั้น 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้ของเจ้าหน้าที่ และมีความกังวลว่า การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการกระทำที่ข่มขู่ คุกคามประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็น ความห่วงใยประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ จะไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้
จึงขอยืนยันและเรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดังนี้
1. ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพและสิทธิในการแสดงความเห็น รวมถึงสิทธิในการเข้าร่วมการปฏิรูป หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการปฏิรูปโดยสันติวิธี
2. คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ต้องเคารพความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ที่มีความแตกต่างหลากหลายตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน 
อนึ่ง คสช.และรัฐบาล พึงตระหนักว่าการแสดงความเห็นของทุกภาคส่วนต่ออนาคตของประเทศ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และเป็นไปตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ควรถูกกีดกันจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์การกีดกันการแสดงสิทธิเสรีภาพจะไม่เกิดขึ้นอีก
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
6 พฤศจิกายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น