วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

‘ประยุทธ์’ เตือน ยังมี รธน.ม. 44 อยู่


นายกฯ เตือนผู้ที่จะออกมาเคลื่อนไหว ยังมี รธน.ม. 44 อยู่ ‘พล.อ.ประวิตร’ ย้ำต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ‘วิษณุ’ ระบุใช้ป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น ‘สรรเสริญ’ ยันไม่ทราบข่าวเรื่องเชิญ ‘แกนนำ นปช’ มารายงานตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การประชุมสภานิติบัญญัติในวันพรุ่งนี้ (6พ.ย.) ซึ่งจะพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องเตรียมการรับมือใด ๆ กรณีที่ทุกฝ่ายเคยประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้ก็ยุติหมดแล้ว รวมถึงให้ความร่วมมือไม่มากดดันรัฐบาล
“แต่หากจะมีผู้ใดออกมาเคลื่อนไหว ก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ส่วนที่กล่าวถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในระหว่างการประชุม ครม.และ คสช.เป็นการกล่าวเตือนผู้ที่จะออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น ให้รู้ว่ายังมีกฎหมายนี้อยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าจะใช้กับใครหรือใช้เมื่อใด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
‘พล.อ.ประวิตร’ เตือนเคลื่อนต้านรัฐบาล ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงคลื่นใต้น้ำที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ว่า มีแต่ความคิด ซึ่งตนห้ามไม่ได้ เป็นเรื่องความคิดของแต่ละคน แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง
“ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งเราเร่งสร้างความปรองดอง ไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม ผมขอร้องประชาชนทุกคนให้เวลารัฐบาลและ คสช.ทำงานที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” พล.อ.ประวิตร กล่าว
‘วิษณุ’ ระบุใช้ป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวว่า “ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะนำรัฐธรรมนูญมาตรา 44 มาใช้นั้น เพื่อป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น ที่ผ่านมาการใช้มาตรานี้ในทางสร้างสรรค์และความปรองดองก็มีอยู่ ส่วนขั้นตอนการใช้นั้นต้องมีมติของคสช.และแจ้งให้ สนช.ทราบก่อน หัวหน้าคสช.จึงจะใช้อำนาจได้”
‘สรรเสริญ’ ระบุ ไม่ทราบข่าวเรื่องเชิญ ‘แกนนำ นปช’ มารายงานตัว
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวจะเรียกนายวรชัย เหมะ แกนนำ นปช.มารายงานตัว ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และยังไม่มีความจำเป็น ยังไม่ถึงเวลา เพราะยังไม่มีสถานการณ์รุนแรงที่จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึก หรือมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ถือว่าเป็นมาตรการขั้นสูงสุดทางการบังคับใช้กฎหมาย
“การดูแลความสงบเรียบร้อยในขณะนี้ใช้เพียงกฎหมายปกติก็สามารถดูแลได้ เบื้องต้นหากพบการเคลื่อนไหว จะใช้วิธีทำความเข้าใจกับุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ไปพบ โทรศัพท์ไปพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ต้องใช้มาตรการออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเหมือนที่ผ่านมา เชื่อว่ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยที่มีแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ดูแลยังควบคุมสถานการณ์ได้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น