วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

ประยุทธ์ตอบเรื่อง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ "จะผ่านแล้วจะทำไม"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 58 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

หลังมติ ครม. 6 ม.ค. อนุมัติหลักการกฎหมาย 8 ฉบับ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล พ่วงแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฯลฯ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังประชุม ครม. ว่า "จะผ่านแล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกไปทำไม"
20 ม.ค. 2558 - ตามที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกฤษฎีการวม 8 ฉบับเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการอนุมัติหลักการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยถูกวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่จะละเมิดสิทธิ เพราะมีการรับรองการดักฟังข้อมูลนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดวันนี้ (20 ม.ค.) เว็บไซต์บล็อกนัน ซึ่งอ้างรายงานทวิตเตอร์ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ ระบุว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี มีผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลที่ต้องออกกฎหมายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "จะผ่านแล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกไปทำไม"
matichon tv เผยแพร่วิดีโอคลิปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลในการผ่านกฎหมายดังกล่าวว่า "ทุกคนต้องรู้จักกติกาบ้าง รู้ว่าเขาทำงานกันอย่างไร สิ่งที่ผมกลัวเป็นห่วงที่สุดก็คือทุกคนมัวแต่มองอย่างเดียวว่าจะถูกจำกัดสิทธิ์ วันนี้จำกัดสิทธิ์อะไรบ้างหรือยัง จำกัดอะไรบ้างหรือยัง" โดยมีผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงเหตุผลต่อจน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับไปว่า "ไม่ต้องทำไมอะ ก็ทำไม  จะผ่านอะทำไม แล้วจะเป็นทำไมวะ นายกจะเป็นทำไม" 
สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้น นิยาม "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" ว่าหมายถึง "มาตรการและการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"
นอกจากนี้ในร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน
กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจกระทบความมั่นคงของประเทศ ให้ กปช. สั่งหน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทาความเสียหายที่เกิดหรืออาจจะเกิดได้ กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน การพาณิชย์หรือความมั่นคงของประเทศ กปช. สั่งหน่วยงานเอกชนได้
และตามร่างกฎหมายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้ เช่น 1. มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานรัฐ บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หลักฐานเพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูล 2. มีหนังสือให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของ กปช. 3. เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น