"ปณิธาน วัฒนายากร" ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เผยรัฐบาลเตรียมนำ ม.44 มาใช้ตั้งแต่ต้นปี แต่มีเหตุระเบิดก่อน ด้าน ปชป.-พท. ประสานเสียง ม.44 แรงกว่ากฎอัยการศึก สั่งประหารชีวิตได้
28 มี.ค. 2558 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยถึง แนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทนกฏอัยการศึกว่า คสช. ได้มีการหารือกันตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่ปรากฏว่าในเวลาดังกล่าวเกิดเหตุระเบิดซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองขึ้น จึงต้องใช้กฏอัยการศึกไปก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้นจึงเห็นควรนำมาตรา 44 มาใช้แทนได้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าหลายด้าน
"ต้องรอดูว่าเมื่อใช้มาตรา 44 แทนกฏอัยการศึกจะมีการร่างระเบียบหรือออกเป็นประกาศของ คสช.อย่างไรในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเพราะในมาตรา 44 จำเป็นต้องมีระเบียบหรือประกาศเพิ่มเติมเนื่องจากไม่ครอบคลุมเหมือนกฏอัยการศึก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการใช้มาตรา 44 ให้มีประสิทธิภาพต้องมีความรัดกุม ผมคิดว่า คสช.คงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฏหมายเป็นผู้ดูแล" นายปณิธาน กล่าว
นายปณิธานกล่าวด้วยว่ายอมรับว่า 2 ปัจจัยหลักมีความสำคัญต่อการตัดสินใจยกเลิกกฏอัยการศึก คือ 1.แรงกดดันจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง และ 2.แรงกดดันจากต่างชาติ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการยกเลิกกฏอัยการศึกแล้ว ต่างชาติจะลดการกดดันไทยหรือไม่ เพราะหากยังมีการกดดันอยู่ก็เท่ากับว่า ต่างชาติ เช่น สหรัฐฯและองค์กรอื่นๆ ต้องการให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชนสถานเดียว
ปชป.-พท. ประสานเสียงม.44 แย่กว่ากฎอัยการศึก
ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีจะยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้มาตรา 44 แทน ว่า กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีมา 101 ปี เป็นของเก่า แต่มาตรา 44 เราไม่ค่อยใช้ แต่มีศักดิ์สูงกว่ากฎอัยการศึก เพราะออกโดยรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ก็เหมือนมาตรา 17 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เคยใช้มาแล้ว ซึ่งอำนาจเหล่านี้เขาใช้ในเวลาบ้านเมืองไม่ปกติ และอำนาจของมาตรา 44 มีมากกว่ากฎอัยการศึก เพราะสามารถตัดสินจำคุกสั่งประหารชีวิตได้ มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาล โดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่กฎอัยการศึกตัดสินจำคุกใครไม่ได้ เพียงแต่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งกฎอัยการศึกต่างชาติไม่เข้าใจ และรังเกลียด เมื่อคนไทยผสมโรงเข้าไปด้วยก็ทำให้เกิดปัญหา แต่มาตรา44 ถ้าจะใช้ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันของ คสช.
“ส่วนตัวผมอยากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมากกว่ามาตรา 44 และคนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับกฎอัยการศึก แต่รู้สึกปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ กฎอัยการศึกทหารเป็นคนใช้ นายกฯไม่มีอำนาจในการใช้ ดังนั้น หากใช้ไม่รอบคอบทหารควรถูกตำหนิ แต่เราไม่ค่อยรู้จึงตำหนินายกฯไว้ก่อน เพราะนายกฯก็เป็นผู้บังคับบัญชาทหารอีกทีหนึ่ง เคยอ่านข่าวไหมครับ ทหารใช้กฎอัยการศึกจับคนเล่นการพนันในงานศพ ผมรับรองว่า นายกฯไม่สั่งให้จับแน่นอน หากจะยกเลิกกฎอัยการศึก ผมจึงคิดว่า ต้องมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง ตามมาตรา 44 ออกมารองรับเสียก่อน เพราะยากที่พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพรียวๆ โดยไม่นำมาดัดแปลงเป็นคำสั่งอะไรรองรับเสียก่อน และหากออกคำสั่งมารองรับไม่รอบคอบ และมีผู้ไม่หวังดี ก็อาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ทัน ก็ยุ่งเหมือนกัน”
นายนิพิฎฐ์ กล่าวว่า เมื่อบ้านเมืองปกติแล้วถ้าจะยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ต้องออกเป็นพ.ร.บ.ยกเลิกเท่านั้น เพราะมาตรา 44 มีศักดิ์เป็นกฎหมาย หากจะยกเลิกก็ต้องยกเลิกด้วยกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้นมาตรา 44 จึงมีอำนาจเด็ดขาด รุนแรง กว่ากฎอัยการศึก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนไม่เข้าใจมากกว่า
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎอัยการศึกมีกรอบที่ชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 44 หากออกมาแล้วใช้เกินขอบเขต ก็จะหนักกว่ากฎอัยการศึก ซึ่งความจริงแล้ว กฎอัยการศึกนั้นคนบริสุทธิ์จะไม่กระทบ จะกระทบเฉพาะคนคิดร้าย เว้นแต่จะออกมาตรา 44 มาเพื่อแทนกฎอัยการศึก และมีเนื้อหานุ่มนวลกว่าก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ต้องดูว่ามุมที่จะใช้มาตรา 44 คืออะไร ต้องให้ผู้มีอำนาจแถลงให้ชัดเจนว่าประสงค์จะใช้มาตรา 44 แค่ไหนเพียงใด
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 44 หากนำมาใช้จะแย่กว่าการใช้กฎอัยการศึก เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมเป็นการให้อำนาจหัวหน้า คสช.ทำการใดๆ ได้ทั้งหมด เหมือนสมัยก่อนที่มีมาตรา 17 มาตรา 21 ที่นำคนไปยิงเป้าโดยคำสั่งของคนคนเดียวไม่ต้องผ่ายอัยการ ผ่านศาลซึ่งมาตรา 44 เป็นบทบัญญัติทำนองเดียวกัน
“การนำมาตรา 44 มาใช้ยิ่งกว่ากฎอัยการศึกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะนำมาใช้อย่างไรหากยกเลิกกฎอัยการศึก แต่นำมาตรา 44 มา โดยมีผลอย่างเดียวกับกฎอัยการศึกก็ไม่ได้ช่วยอะไร คุณจะเรียกกฎอัยการศึก หรือกฎของฉันมันก็ค่าเท่ากัน อาจตบตาต่างประเทศได้ช่วงสั้น ๆ ว่า เราไม่ใช้กฎอัยการศึกแล้ว แต่มาตรา 44 จะใช้ไปในทางที่แย่กว่ากฎอัยการศึกเสียอีกผมไม่เห็นด้วยที่ต้องประกาศกฎอัยการศึกในช่วงนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะต้องมีการใช้มาตรการตามมาตร 44 ขึ้นมาแทน เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ หากกฎอัยการศึกมีปัญหาก็ยกเลิก ถ้าเกิดปัญหาอีกก็ประกาศขึ้นมาใช้ใหม่ได้แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม”
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ใช้มาตรา 44 พรรคเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดง จะออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่นั้นมองว่า การที่คนจะแสดงความเห็นเป็นเสรีภาพ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ว่า คนในประเทศไทยต้องปิดปากเงียบ หากจะให้รัฐบาลแสดงความเห็นอยู่ฝ่ายเดียวก็คงไม่ใช่การแสดงความเห็นในกรอบกฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การปิดกั้นคนแสดงความเห็นในกรอบกฎหมายจะเป็นปัญหามากกว่าแต่หากใครใช้สิทธิเสรีภาพเกินกรอบกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีรัฐบาลมีอำนาจดำเนินคดีอยู่แล้ว ส่วนพรรคการเมืองถ้าจะใช้สิทธิอะไรก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการที่นายกฯมีความคิดยกเลิกกฎอัยการศึก มีข้อดีคือเป็นการแสดงความเข้าใจหรือยอมรับผลเสียต่อการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศมีผลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการสอบสวน และมีผลต่อภาพลักษณ์ของการยอมรับในต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อเสียหลายด้าน แต่ไม่แน่ใจว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้มาตรา 44 แทนเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดหรือจะแก้ปัญหาเฉพาะภาพพจน์ ถ้าคิดจะแก้แค่ปัญหาภาพพจน์ในการไม่ยอมรับกฎอัยการศึก แต่ยังคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน อย่างเดียวกับที่ใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปัญหาเดิมๆยังอยู่
ขณะเดียวกัน นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาพพจน์ได้แล้ว จะเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้นด้วย ทำให้ถูกสังคมโลกมองว่าประเทศไทยกำลังใช้ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจคสช. และคณะคสช.ที่มีอำนาจยับยั้ง หรือสั่งการให้กระทำใดๆ ทั้งในทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเท่ากับมีอำนาจเหนือธิปไตย 3 ฝ่ายอย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ ที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด แต่มาตรา 44 กลับกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นระบบที่นานาประเทศจะยิ่งไม่ยอมรับ ขณะนี้ตนนึกไม่ออกว่า จะใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งอย่างไร เพราะถ้าใช้แล้วยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ เหมือนกฎอัยการศึกก็ป่วยการ แต่ถ้าเบากว่ากฎอัยการศึกก็ไม่เห็นความจำเป็น เพราะว่ามีพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร. พ.ศ.2551 และพ.ร.ก.พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมากฎหมาย 2 ฉบับนี้ใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายหรือผู้ตีความเลือกปฏิบัติและทำให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เสียไป ทั้งที่ตัวกฎหมายอาจไม่มีปัญหามาก เท่ากับบังคับใช้กฎหมาย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การเขียนคำสั่งของคสช.ขอให้เขียนเนื้อหาให้ชัดเจน ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่นำไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวน ต้องคำนึกถึงผลกระทบที่ขบวนการยุติธรรมปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะย้อนกลับไปที่ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 อยู่ดี เพราะกฎหมายอื่นก็มีอยู่แล้ว แลโอกาสที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับการใช้มาตรา 44 ก็มีสูงมาก เพราะมาตรา 44 ร้ายแรงยิ่งกว่ากฎอัยการศึก ขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ กลายเป็นการใช้อำนาจของกลุ่มบุคคล หรือคณะบุคคลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นคำสั่งอย่างไร ซึ่งต้องดูฝีมือเนติบริกร ว่าจะคิดประดิษฐ์วิธีการอย่างไร เพราะอาจจะคิดออกมาแล้วเบามาก จนดูเหมือนว่าไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติก็ได้ คงต้องไปดูว่าการใช้มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์อย่างไร มีหลักคิดอย่างไร สำคัญตรงนั้นมากกว่า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกลายงูกินหาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น