กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พาดพิงว่ารัฐบาลก่อนไม่แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ "แต่วันนี้รัฐบาลนี้กำลังแก้ทุกอย่าง" ล่าสุด 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ชี้แจงว่าได้ผลักดันแก้ไขมาตลอด จนไทยไม่ถูกจัดอันดับไปอยู่บัญชี 3 พร้อมแนะว่าจุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาติต่อไป
28 มี.ค. 2558 - กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ต่อกรณีลูกเรือประมงไทยถูกควบคุมตัวในประเทศอินโดนีเซีย และเหยื่อการค้ามนุษย์ในกิจการประมง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่วันนี้รัฐบาลนี้กำลังแก้ทุกอย่าง" นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด วันนี้ (28 มี.ค.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในเฟซบุ๊คเพจ Yingluck Shinawatraยืนยันว่าได้ผลักดันการแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 ของบัญชีการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ยิ่งลักษณ์แนะนำด้วยว่าให้จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไป โดยคำชี้แจงมีรายละเอียดดังนี้
"สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ระบุว่า “รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่วันนี้รัฐบาลกำลังแก้ทุกอย่าง” ซึ่งเกรงว่าอาจจะเป็นความเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากการที่ท่านมีภารกิจมากจนไม่ได้มีเวลาหรือเจ้าหน้าที่ยังไม่มีโอกาสเรียนชี้แจงให้ท่านทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างทั้งในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ และส่วนราชการที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ดิฉันขอเรียนชี้แจงท่าน พร้อมทั้งสื่อไปถึงส่วนราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพี่น้องประชาชนไทยทุกท่านค่ะ
การค้ามนุษย์คือการคุกคามสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนซึ่งสังคมการเมืองระหว่างประเทศต่างต่อต้าน และร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการความร่วมมือ ตลอดจนมาตรการการกดดันที่ใช้เงื่อนไขทางการค้า ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่ง จึงได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด โดยได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการดำเนินงานให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในปีการประเมินระดับของ พ.ศ. 2556 “ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งหากได้รับการดำเนินการจะถือว่าเป็นการแสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรพอควรในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น รัฐบาลได้มีการประชุมหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ดิฉันเป็นประธานในการประชุมเอง และส่วนที่มอบหมายให้คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เป็นประธานแทน ตลอดจนตั้งคณะทำงานย่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เช่น ปัญหาเรื่องแรงงานประมง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อแนะนำจากรายงานฉบับปี พ.ศ. 2556 ทุกประเด็น
นอกจากนี้ ในการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับเอกอัครราชทูต Luis CdeBaca ผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 หลังจากได้รับฟังผลการดำเนินงานของประเทศไทย เอกอัครราชทูต Luis CdeBaca ได้แสดงความชื่นชมถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย
ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลได้เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพยายามที่จะสร้างความเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา โดยมีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีข้อสั่งการ และนโยบายเพิ่มเติม โดยสิ่งที่รัฐบาลในช่วงนั้นได้ริเริ่มดำเนินการและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ เช่น การปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งด้านการคุ้มครอง ป้องกัน และกระบวนการยุติธรรม ดังที่รัฐบาลได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ทั่วประเทศเพื่อเป็นจุดรับเรื่อง ส่งต่อและแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง รวมทั้งเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะลองพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานดังกล่าวได้ค่ะ
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของการค้ามนุษย์นั้น อยู่ที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย รวมทั้งประสิทธิภาพการบริหารราชการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน หากต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งในรายงานฉบับล่าสุดได้มีการยกประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกับกรณีแรงงานประมงชาวโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นบทเรียนว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนประเด็นการเรียกร้องของ NGOs และต้องพยายามที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นในแนวทางที่ประชาชน และนานาชาติคาดหวังค่ะ
จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือ การยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไปค่ะ"
000
แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยและมาเลเซียอยู่ในกลุ่มสีส้มสลับแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 ซึ่งถูกลดอันดับลงมาอัตโนมัติจากกลุ่มบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง โดยในภูมิภาคเดียวกันนี้มีปาปัว นิวกินี และเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มบัญชีที่ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report 2014 หรือ TIP Report) ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 นั้น เป็นการสำรวจทุกประเทศในโลก โดยในปี 2557 ประเทศไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด
โดยในรายงานประจำปี 2557 ดังกล่าว มี 23 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ แอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัว นิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ซีเรีย, ไทย, อุซเบกิซสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว
โดยในจำนวนนี้มีประเทศเคยอยู่ใน บัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) และถูกลดอันดับลงอัตโนมัติไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวเนซุเอลา
ต่อรายงานดังกล่าว นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อ 21 มิ.ย. ปีที่ผ่านมาว่า ได้แสดงความเสียใจและรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐอเมริกา ตัดสินจัดอันดับไทยให้อยู่ในระดับต่ำสุด เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีการดำเนินการที่มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรมในทุกด้าน (5Ps) ได้แก่ การจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด , การคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์, การป้องกันปัญหา, การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานระหว่างส่วนราชการ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น