19 มี.ค. 2558 กลุ่มองค์กรสิทธิออกแถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ในช่วงเวลานี้ หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ผู้ออกแถลงการณ์ ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย, เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ศูนย์ข้อมูลชุมชน, ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม, เครือข่ายสลัมสี่ภาค
00000
แถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....
เผยแพร่วันที่ 19 มีนาคม 2558
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวภายใน 30 วันนั้น องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมขอแสดงความเห็นคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
เผยแพร่วันที่ 19 มีนาคม 2558
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวภายใน 30 วันนั้น องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมขอแสดงความเห็นคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. นิยามผู้จัดการชุมนุมมีความหมายกว้างขวางมากเกินไป เนื่องจากนิยามตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 10 วรรคสอง ครอบคลุมถึงผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แต่การบัญญัติให้รวมถึงบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการบัญญัติที่มีความหมายอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะตีความรวมไปถึงผู้ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นัดหมายให้มีการชุมนุม หรือเห็นด้วยกับการชุมนุมและช่วยประชาสัมพันธ์แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในความเป็นจริง ซึ่งการเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นจะมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายตามมา
2. นิยามศาลและการตัดเขตอำนาจศาลปกครอง ตามที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดนิยามของศาลว่าหมายถึงศาลแพ่งและศาลจังหวัด รวมถึงมาตรา 13 และมาตรา 26 กำหนดให้คำสั่งและการกระทำของเจ้าพนักงานไม่เป็นคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครอง ซึ่งจะส่งผลสองประการคือ ไม่สามารถนำมาตรฐานวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้ และศาลปกครองไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบคำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น
3. การกำหนดห้ามชุมนุมภายในรัฐสภา ทำเนียบ ศาลและห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากการชุมนุมของภาคประชาชนส่วนใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อเรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การห้ามชุมนุมในสถานที่หรือบริเวณดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากประชาชนต้องการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และโดยสภาพการชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่ดังกล่าวอยู่แล้ว การบัญญัติลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการห้ามการชุมนุมไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เลย
4. การกำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง นั้นไม่สอดคล้องกับธรรมชาติในการชุมนุม เนื่องจากบางกรณีเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น การชุมนุมของแรงงานซึ่งนายจ้างปิดสถานประกอบการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน แม้จะขอผ่อนผันระยะเวลาการชุมนุมได้แต่ระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถใช้ระยะเวลาได้ถึง 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน รวมถึงหากไม่แจ้งการชุมนุมเจ้าพนักงานสามารถมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้ทันทีทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายก็ได้
5. การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงตามขนาดที่กำหนด อาจทำให้เป็นปัญหาในการควบคุมผู้ชุมนุม เนื่องจากหากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่ไม่สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงได้ การชุมนุมจะไม่เป็นเอกภาพและจะยิ่งก่อความไม่สะดวกแก่ประชานในการใช้พื้นที่
6. การเดินขบวนและการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง การจำกัดการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งในบางกรณีผู้ชุมนุมนั้น เริ่มการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัดและเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงกลางคือเพื่อมาให้ถึงตอนเช้า
7. การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม ตามมาตรา 21 และมาตรา 22 นั้นอาจทำให้ศาลกลายเป็นคู่กรณีกับประชาชนในการชุมนุม ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหากประชาชนต้องการฟ้องว่าการสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นอาจทำให้เป็นปัญหาในภายหลัง
8. การกำหนดโทษทางอาญา เนื่องจากการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพจึงไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา โทษที่รุนแรงที่สุดตามพระราชบัญญัตินี้นั้นควรเป็นการสั่งเลิกการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ให้ดำเนินคดีด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวควรมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ใช่การบัญญัติในลักษณะการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม การสร้างกลไกในการรับข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ในช่วงเวลานี้ หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม
สมานฉันท์แรงงานไทย
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
เครือข่ายสลัมสี่ภาค
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม
สมานฉันท์แรงงานไทย
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
เครือข่ายสลัมสี่ภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น