วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' สรุป 15 ประเด็น ว่าด้วยมาตรา 44

Thu, 2015-04-02 13:10

2 เม.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เอกสารทำความเข้าใจผลของการยกเลิกกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ซึ่งนำมาบังคับใช้แทน ตั้งคำถามดีกว่าจริงหรือไม่ มีรายละเอียด ดังนี้

1.       พื้นที่ซึ่งประกาศกฎอัยการศึกก่อนวันที่ 20 พ.ค. 57 เช่น พื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่จังหวัดชายแดนในภาคอื่นๆ ยังคงประกาศกฎอัยการศึกต่อไปไม่ได้ยกเลิก
2.       พลเรือนยังคงต้องขึ้นศาลทหารต่อไปในคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37/57, 38/57, และ 50/57
3.       ศาลทหารในยามปกติสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ต้องเป็นคดีที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป คดีซึ่งเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 31 มี.ค.58 ยังคงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498
4.       เดิมมาตรา 15 ทวิ กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน หากมีคดีหลังจากนั้นต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่สอบสวน แต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารยศนายร้อยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ไม่เคยมีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน)
5.       กล่าวคือ ในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัว เข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวน (ตามคำสั่งฉบับนี้) ส่งฟ้องโดยอัยการทหาร และตัดสินโดยศาลทหาร (ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57, 38/57, 50/57)
6.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่คุมขัง และปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ต้องหาไม่ได้  เช่นเดียวกับกฎอัยการศึกซึ่งเจ้าหน้าที่ตีความว่าผู้ถูกกักตัวไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคือ ไม่มีสิทธิพบญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความในช่วงเวลาดังกล่าว
7.       กรณีถูกควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวันเนื่องจากเหตุความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจกำหนดเงื่อนไข (1) ห้ามเข้าเขตที่กำหนด (2) เรียกประกันทัณฑ์บน (3) คุมตัวไว้ในสถานพยานบาล (4) ห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง (5) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต (6) ระงับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มากไปกว่าเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 40/2557
8.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด กระทำการใดๆตามคำสั่ง คสช.และเป็นพนักงานสอบสวนตามความผิด 4 ประเภทข้างต้น
9.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน
10.   กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นความผิด และหากผู้กระทำความผิดดังกล่าวสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเจ็ดวันและเจ้าพนักงานเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขและให้คดีอาญาเลิกกัน (แนวความคิดเช่นเดียวกับมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551  ในขณะที่พ.ร.บ.ดังกล่าวมีองค์กรตุลาการเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยแต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น)
11.   การกระทำตามคำสั่งฉบับนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
12.   มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้อำนาจเฉพาะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวคือเป็นการขยายเขตแดนในการใช้อำนาจให้มากยิ่งขึ้น
13.   เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย
14.   แม้ข้อ 14 ตามคำสั่งฉบับนี้จะไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด
15.   กล่าวโดยสรุป คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ยังคงไว้ซึ่งอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่เพิ่มเติมเรื่องการอบรมตามแนวทางพระราชบัญญัติความมั่นคง การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเพิ่มอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีบทบัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญตามมาตรา  44

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น