ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหวั่นรัฐบาลไทยประกาศใช้อำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ชี้เป็นการเปิดประตูสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับที่ร้ายแรง
2 เม.ย. 2558 กรุงเจนีวา - นายซาอิด ราด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความหวาดวิตกที่รัฐบาลทหารไทยประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งให้อำนาจอย่างอิสระต่อหัวหน้ารัฐบาลทหาร มาตราดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ทหารต่อพลเรือน และมีแนวโน้มที่จะล้มล้างสิทธิมนุษยชนที่ประกันไว้ในกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลทหารที่นำโดย นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับอนุญาตในการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และแทนที่โดยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
ข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่า “โดยปกติแล้วผมจะแสดงความยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก และที่ผ่านมาได้ผลักดันอย่างเข้มแข็งให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในประเทศไทย"
“แต่ผมรู้สึกตื่นตระหนกกับการตัดสินใจที่จะแทนที่กฎอัยการศึกด้วยอำนาจที่มีความรุนแรงยิ่งกว่า ซึ่งให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ จากฝ่ายตุลาการ นี่เป็นการเปิดประตูไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับที่ร้ายแรง ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันว่าอำนาจพิเศษนี้แม้ว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ตามจะไม่นำไปใช้อย่างไม่มีความยับยั้ง”
ภายใต้คำสั่งที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการดำเนินการตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ทหารที่มียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรีขึ้นไปถูกกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง รวมถึง การตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ นอกเหนือจากนั้น เจ้าพนักงานดังกล่าวยังมีอำนาจ “กระทำการอื่นใด” ตามที่คสช.มอบหมาย
มาตรา 44 ให้อำนาจแก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งซึ่งมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ โดยคำสั่งดังกล่าวและการกระทำการใดๆ ตามคำสั่งนี้ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายภายในประเทศก็จะถูกถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีช่องทางที่จะตรวจสอบได้เลย เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยได้รับการคุ้มครองที่จะไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย จากการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ตามคำสั่งดังกล่าว
นายซาอิด กล่าวเพิ่มเติมว่า “คำสั่งของ คสช. ที่ประกาศเมื่อวันพุธยังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน เสรีภาพในการชุมนุมยังถูกจำกัดอย่างเข้มงวดต่อไป โดยมีการกำหนดบทลงโทษหนักต่อผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป”
นายซาอิด กล่าวว่า “ผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวหมายถึงการขจัดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลในทุกรูปแบบ และทำให้การประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย”
นายซาอิด กล่าวว่า “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและนำประเทศกลับสู่การปกครองของพลเรือนตามหลักนิติธรรมโดยเร็ว ตามที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น