แองกัส ดีตัน (ที่มา: nber.org)
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์แก่ แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ-อเมริกัน ผู้วิจัยเรื่องการบริโภค ความยากจน และสวัสดิการ ซึ่งเขาเคยเขียนถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์และประชาธิปไตยในหนังสือเขาว่า ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
14 ต.ค. 2558 แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์เพิ่งชนะรางวัลโนเบลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในสาขาเศรษฐศาสตร์ เว็บไซต์ vox.com รายงานเกี่ยวกับผลงานทางความคิดของเขาซึ่งมีชื่อเสียงในประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคและความยากจน และในหนังสือที่ชื่อ "The Great Escape: Health, Wealth, and the Origins of Inequality" มีเนื้อหาสั้นๆ ส่วนหนึ่งที่ดีตันระบุเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคในสังคมได้อย่างคมคาย โดยระบุว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
"ความเสมอภาคทางการเมืองที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยนั้นกำลังอยู่ในอันตรายจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และยิ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นภัยต่อประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าหากประชาธิปไตยถูกทำลายก็จะส่งผลเสียโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดี เพราะจากที่ผู้คนเคยมีเหตุผลที่ดีในการเห็นคุณค่าตัวเองที่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ผู้คนก็จะสูญเสียการเห็นคุณค่าในจุดนี้ซึ่งเป็นปัจจัยที่เสี่ยงจะเกิดภัยอื่นๆ ตามมา" ดีตันระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว
"คนที่ร่ำรวยมากจะไม่ต้องการการศึกษาจากภาครัฐหรือประกันสังคมจากรัฐเท่าไหร่ ... พวกเขายิ่งมีเหตุผลน้อยมากที่จะสนับสนุนการประกันสุขภาพให้กับทุกคนหรือกังวลเรื่องโรงเรียนของรัฐมีมาตรฐานต่ำที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ พวกเขาจะต่อต้านการควบคุมจัดการธนาคารที่จะเป็นการจำกัดผลกำไรของพวกเขา แม้ว่าการควบคุมจัดการนั้นจะสามารถช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถชดใช้หนี้สินจำนองหรือคุ้มครองประชาชนจากการกู้ยืมแบบเขี้ยวลากดิน การโฆษณาหลอกลวง หรือแม้กระทั่งการประสบความล้มเหลวทางการเงินแบบซ้ำๆ ได้ ความกังวลในเรื่องผกระทบจากความไม่เสมอภาคอย่างรุนแรงนี้ไม่ใช่เพราะว่ามาจากความอิจฉาคนรวยเลยแม้แต่น้อย แต่ทั้งหมดเป็นเพราะเกรงว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนรายได้ระดับสูงกำลังเป็นภัยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกๆ คน" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุดระบุไว้ในหนังสือของเขา
แองกัส ดีตัน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทั้งสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน เขาเรียนมาในสายเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอด มีวิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคและการปรับใช้ในประเทศอังกฤษออกมาในปี 2518 ปัจจุบันเขาเป็นศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปรินสตันและเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research หรือ NBER) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ
ในเว็บไซต์ของ NBER ระบุว่าในตอนนี้ดีตันกำลังเน้นศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน การศึกษาชี้วัดเรื่องความยากจนในอินเดียและที่อื่นๆ ของโลก โดยดีตันมีความสนใจในแง่การวิเคราะห์ผลการสำรวจจากระดับครัวเรือนมาเป็นเวลานานแล้ว
ดีคันเปิดเผยว่าตัวเขาเองเป็น "ผู้ที่เป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาความยากจนของโลกและสนใจว่าผู้คนมีพฤติกรรมอย่างไร และอะไรที่ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดี" เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีล่าสุดเนื่องจากผลงานการวิเคราะห์เรื่องการบริโภค ความยากจน และสวัสดิการ โดยในเว็บไซต์ของรางวัลโนเบลระบุว่าดีตันเป็นผู้ที่ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องการเลือกบริโภคด้วยการศึกษาวิจัยที่เปลี่ยนโฉมหน้าของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ซึ่งผลงานเมื่อไม่นานมานี้ของดีตันยังมีการสำรวจความสัมพันธ์เรื่องรายได้เข้ากับเรื่องข้อมูลโภชนาการและการเหยียดเพศในครอบครัวอีกด้วย
เรียบเรียงจาก
Read 2015 Nobel Economics Prize winner Angus Deaton's amazing take on inequality, Vox, 12-10-2015http://www.vox.com/2015/10/12/9508423/angus-deaton-income-inequality
ประวัติของแองกัส ดีตัน ในเว็บไซต์ของสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติhttp://www.nber.org/aginghealth/summer07/deaton.html
เว็บไซต์รางวัลโนเบล http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/economic-sciences/laureates/2015/press.html
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น