หลังจากเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า การประชุมกรธ. ได้หารือถึงผลสำรวจความคิดเห็นหรือโพลของสำนักหนึ่งที่สอบถามประชาชนว่าการเลือกตั้งควรเป็นสิทธิ์หรือหน้าที่ โดยผลพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องนำมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
“ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) พร้อมสนับสนุนการจัดทำผลสำรวจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อนำความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วย” โฆษก กรธ.
สำรวจ 10 นิด้าโพลต่อประเด็นการเมืองที่น่าสนใจในรอบปีที่ผ่านมา
- 1. นิด้าโพลระบุประชาชนแนะตัดสิทธิการเมืองคนไม่ไปเลือกตั้ง (โพสต์ทูเดย์, 1 พ.ย.58)
- โดยโพลถามความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น “หน้าที่”) ต่อแนวทางที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.19 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 28.11 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางสวัสดิการสังคมร้อยละ 6.30 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียค่าปรับในอัตราที่สูง
- 2. นิด้าโพลเผยประชาชนเชื่อมั่น กรธ. แต่เกือบครึ่งระบุ ไม่เคยรู้จักมาก่อน (มติชนออนไลน์, 11 ต.ค.58)
- โพลถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันว่าจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 15.51 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 33.89 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 20.94 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 11.19 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 18.47 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
- เมื่อถามถึงการรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดปัจจุบันทั้ง 21 คน ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.04 ระบุว่า ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อใครเลย ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากันกับผู้ที่ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อประมาณ 1 – 5 คน ร้อยละ 6.55 ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อประมาณ 6 – 10 คน ร้อยละ 2.16 ระบุว่า รู้จักหรือเคย ได้ยินชื่อประมาณ 11 – 15 คน ร้อยละ 1.04 ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อประมาณ 16 – 20 คน ร้อยละ 2.00 ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ทุกคน และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
- 3. นิด้าโพลระบุประชาชนหนุนเขียนกติกาล้างไพ่พรรคการเมืองใหม่ (เดลินิวส์, 27 ก.ย.58)
- โพลระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.68 เห็นด้วยกับการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะจะได้เป็นการจัดระเบียบพรรคการเมืองใหม่ ให้มีระเบียบและข้อปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนมากขึ้น เกิดความเท่าเทียมกันทุกพรรค ไม่ต้องยึดติดกับพรรคการเมืองมากเกินไป ไม่ต้องการเห็นระบบเก่า ๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ขณะที่ร้อยละ 15.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีความจำเป็น และไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
- 4. นิด้าโพล ระบุ ปชช.มอง ประยุทธ์ ทำงานดี โปร่งใส-ตรวจสอบได้ หนุนประชามติอยู่ต่อ 2 ปี (มติชนออนไลน์, 24 ส.ค.58)
- พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.50 ระบุพล.อ.ประยุทธ์ ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ค่อนข้างดี ขณะที่ร้อยละ 38.80 ระบุว่า ทำได้ดีมาก โดยให้เหตุผลว่า จาก 1 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์บ้านเมืองไม่มีความวุ่นวาย ความขัดแย้งทางการเมือง ทำงานดีกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง มีความเด็ดขาด พูดจริงทำจริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการ และผู้มีอิทธิพล แต่ยังมีข้อบกพร่องในบางเรื่องอยู่บ้าง โดยเฉพาะการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มีเพียงร้อยละ 9.50 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ค่อยดี และร้อยละ 3.20 ระบุว่าทำได้ไม่ดีเลย
- ขณะที่ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงาน ร้อยละ 70.80 ระบุว่าการทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 10.70 ระบุว่าไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้
- ส่วนเรื่องการตัดสินใจของประชาชน หากมีการทำประชามติว่าจะให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่ออีก 2 ปีหลังจากมีรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.30 ระบุว่าจะลงมติเห็นด้วยกับการให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ ร้อยละ 19.20 ระบุว่าจะลงมติไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว
- 5. นิด้าโพลระบุประชาชนแนะทักษิณปิดปากหยุดวิจารณ์รัฐ (เดลินิวส์, 19 ส.ค.58)
- นิด้าโพลสำรวจความเห็นกรณีที่มีคลิปวิดีโอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ถึงสถานการณ์บ้านเมือง การทำงานของรัฐบาล และร่างรัฐธรรมนูณฉบับใหม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.76 ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของ พ.ต.ท.ที่ระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับที่จะออกมาถือว่าเลวร้ายที่สุดแล้ว เป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยไม่ยอมรับ ไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น” รองลงมา ร้อยละ 20.40 ระบุว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลในการวิพากษ์วิจารณ์ และร้อยละ 17.04 ระบุว่า เป็นการสร้างกระแสความแตกแยกในสังคม
- ส่วนบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ควรทำในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.44 ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องพูดหรือเคลื่อนไหวใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 26.32 ระบุว่า ควรกลับประเทศไทยมารับโทษตามคำตัดสินของศาล และร้อยละ 14.72
- 6. นิด้าโพล ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่อยากให้ สปช.และประชามติ รับร่างรธน. (มติชนออนไลน์, 31 ส.ค.58)
- โพลระบุพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.70 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ จะได้เป็นไปตามแผน Rode Map ตามที่ คสช. วางไว้ และเข้าสู่กระบวนการต่อไป เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นการลดอำนาจของกลุ่มนักการเมืองที่เข้ามามุ่งหวังผลประโยชน์ โดยเฉพาะที่มาของนักการเมืองและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งน่าจะดีกว่าฉบับเดิม รองลงมา ร้อยละ 22.82 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ระบุ/เป็นเรื่องของ สปช. ร้อยละ 20.11 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติงดออกเสียง ร้อยละ 14.37 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มาจากประชาชน บางหมวดยังไม่มีความชัดเจน มีช่องว่างที่ยังต้องแก้ไขอยู่ และถึงแม้ว่าผ่านความเห็นชอบมาแล้ว สุดท้ายก็ยังมีการเสนอแก้ไขใหม่อยู่ดี
- 7. นิด้าโพลระบุประชาชนค้าน นศ.เคลื่อนไหว แนะให้โอกาสรัฐทำงาน (เดลินิวส์, 12 ก.ค.58)
- โพลระบุ ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ องค์กรทางสังคมและการเมือง และพรรคการเมือง ที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.34 ระบุว่า ควรอยู่เฉย ๆ เพราะควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำตามแผนที่วางไว้ ไม่ต้องการเห็นกลุ่มคนต่าง ๆออกมาแทรกแซง หรือเข้ามาวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติ ซึ่งขัดกับหลักความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ควรออกมาสนับสนุน เพราะเป็นการชี้แนะถึงแนวทางในการทำงานและการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ และขณะนี้รัฐบาลก็ทำงานอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปประเทศ และร้อยละ8.59 ระบุว่า ควรออกมาต่อต้าน เพราะต้องการเห็นความคิดเห็นที่หลากหลายจากหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ
- 8. นิด้าโพลระบุประชาชนแนะปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง (เดลินิวส์, 31 พ.ค.58)
- โพลระบุประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.56 อยากให้มีการปฏิรูปให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง เพราะระบบเก่าที่ผ่านมายังมีปัญหาต่าง ๆ ที่ควรได้รับกาแก้ไขใหม่ เพื่อเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ควรมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปประเทศให้มั่นคงก่อนเพื่อปูทางให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และลดปัญหาความขัดแย้งที่จะตามมา การเลือกตั้งสามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้ มีเพียงร้อยละ 24.00 ระบุว่าควรมีการเลือกตั้งโดยเร็วก่อนแล้วค่อยให้รัฐบาลใหม่เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศ เพราะควรเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับชาวต่างชาติ ควรมีรัฐบาลที่เป็นทางการก่อน แล้วให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิรูปประเทศ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
- 9. นิด้าโพลระบุประชาชนมองผลลัพธ์รัฐประหาร คสช. ดีกว่า คมช.เมื่อปี 2549 เพราะกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย (เดลินิวส์, 31 พ.ค.58)
- โพลระบุพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 ระบุผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช. ดีกว่า คมช.เมื่อปี 2549 เพราะกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และจริงจัง จัดระเบียบสังคมได้ดี เป็นการทำงานเพื่อประเทศ มิได้เป็นการแสวงหาเพื่อประโยชน์ส่วนตน ลดการสูญเสียที่จะตามมาอันเนื่องมาจากการชุมนุม มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ดีกว่าตอนปี 2549 นอกจากนี้ยังเห็นว่า คสช. ทำรัฐประหารโดยไม่มีการสูญเสียหรือสูญเสียน้อยกว่า อีกทั้งยังมีบทเรียนจากปี 2549 ขณะที่ร้อยละ 18.08 ระบุมีผลลัพธ์เหมือนกัน เพราะการทำรัฐประหารและควบคุมอำนาจโดยทหาร ซึ่งต่างมีผลดี และผลเสียพอ ๆ กัน มีเพียงร้อยละ 7.20 ระบุว่าผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช. แย่กว่า เพราะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คมช. ยึดอำนาจแค่ไม่กี่เดือนก็คืนอำนาจให้กับประชาชนแล้ว อีกทั้ง คมช. ยังให้สิทธิและเสรีภาพความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้
- 10. นิด้าโพลระบุปชช.ไม่หนุนยิ่งลักษณ์ไปนอก (ไอเอ็นเอ็น, 15 ก.พ.58)
- โพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 - 13 กุมภาพันธ์ 2558 จากประชาชนทั่วประเทศทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 1,252 คนโดยผลสำรวจนั้น พบว่า ร้อยละ 47.68 ระบุว่า ควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณา รองลงมา ร้อยละ 25.33 ระบุว่า คสช.ไม่ควรอนุญาต เพราะอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินคดี ควรรอให้ศาลพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นก่อน และเกรงว่าจะเป็นการลี้ภัยทางการเมือง ไปแล้วไม่กลับมาเลย ร้อยละ 23.16 ระบุว่า คสช.ควรอนุญาต เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะกระทำได้ และไม่ได้กระทำความผิดอะไรร้ายแรง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น