วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิษณุปัดใช้ ม.44 แกล้งยิ่งลักษณ์ปมจำนำข้าว ชี้หากทำจริงก็ยึดได้ทันทีแล้ว


2 พ.ย. 2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ระบุคำสั่ง คสช ที่ 39/2558 ที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง ในคดีทุจริตจำนำข้าว แสดงให้เห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และโครงการรับจำนำข้าว เป็นเหยื่อทางการเมือง ว่า  คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้เล่นงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล อย่างที่นายบุญทรง กล่าวหา เพราะหากตั้งใจใช้ ม.44 จริง สามารถสั่งยึด อายัดทรัพย์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“คำสั่งดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความระวัดระวัง สุจริต หากมั่นใจว่าการทำหน้าที่ทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวจะถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย และจะไม่ถูกเล่นงานเอาผิดทางวินัยย้อนหลัง คำสั่งนี้ใช้บังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ถูกกล่าวหา โดยจะคุ้มครองคดีถึงที่สิ้นสุด ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล สามารถทำได้แต่ต้องดำเนินการด้วยความสุจริต ซึ่งหลังจากนี้จะกำหนดมาตรการมาควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่” นายวิษณูกล่าว
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการขยายระยะเวลาคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ขยายเวลาออกไปอีก 1เดือน ซึ่งหากการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จก็ยังสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก แต่ต้องดูความเหมาะสมและต้องไม่ให้คดีขาดอายุความที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 เพราะเมื่อสรุปความเสียหายแล้ว ต้องส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานดำเนินการต่อ และขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นการตรวจสอบเบื้องต้นจึงไม่ควรใช้เวลามากนัก แต่เหตุที่มีการขอขยายเวลาเนื่องจากต้องรอพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามาเข้ามาให้ข้อมูล
พล.ต.สรรเสริญ แจงใช้ ม.44 เพื่อช่วยระบายข้าวให้เร็วขึ้น
ขณะที่ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล  ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการดำเนินคดีของผู้กระทำผิด ที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ  จึงไม่ต้องการให้สังคมเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
“เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในอดีต คงเหลืออยู่ในการดูแลของรัฐทั่วประเทศเป็นปริมาณมหาศาล จึงจำเป็นต้องระบายออก เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาในโกดังต่าง ๆ และการถูกกดราคา หากเก็บไว้นานกว่านี้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า  การดำเนินการระบายข้าว มีความยากลำบากในการปฏิบัติหลายด้าน เช่น บางคลังมีข้าวล้มกอง จำเป็นต้องจำหน่ายเหมาคลัง ซึ่งอาจมีข้าวใช้ได้ปะปนอยู่บ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแยกแยะได้ นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวหลายคดี และสต็อกข้าวที่จะระบาย จะมีราคาที่แตกต่างจากราคารับจำนำค่อนข้างมาก เพราะเป็นข้าวเสื่อมสภาพ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าตัดสินใจในการดำเนินการ และหาผู้ปฏิบัติงานได้ยาก
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน ทั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และอีกหลายส่วน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และป้องกันการถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
“การใช้มาตรา 44 จะช่วยให้การระบายข้าวเร็วขึ้น ทั้งข้าวดีและข้าวเสื่อมสภาพ รวมทั้ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ และช่วยให้ตลาดข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้ รัฐบาลขอยืนยันว่า แม้จะมีคำสั่ง หน.คสช.ดังกล่าวออกมา แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินการไปตามข้อกฎหมายและระเบียบขั้นตอนในการระบายข้าว ด้วยความโปร่งใส ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
‘พาณิชย์’ เผย ม.44 คุ้มครองระบายข้าวทำให้ขรก.ทำงานคล่องตัวขึ้น
วานนี้ (1 พ.ย. 58) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ ว่า ถือเป็นการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการระบายข้าว เนื่องจากการระบายอาจมีความเสี่ยงหลายด้าน เนื่องจากข้าวในสต๊อกมีราคาแตกต่างจากราคารับจำนำค่อนข้างมากเพราะเป็นข้าวเสื่อมสภาพ โดยคุ้มครองตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารจัดการข้าว ส่วนผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จะไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของผู้กระทำผิด  
ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 จะเป็นเครื่องมือให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งยอมรับที่ผ่านมา ข้าราชการที่ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการถูกฟ้องร้อง เพราะข้าวในสต๊อกยังติดคดีรับจำนำที่ต้องอาศัยขั้นตอนทางกฎหมายหลายขั้นตอนและมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดี
"เราจะต้องระบายออกเพื่อไม่ให้เป็นภาระ ถ้าเก็บไว้นานก็จะกดราคาข้าว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งระบายออก อย่างไรก็ตามในการทำงานแม้ว่าจะมีมาตรา 44 ออกมา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนในการระบายข้าวและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถอ้างว่ามีมาตรา 44 มาคุ้มครองแล้วทำอะไรก็ได้" นางอภิรดี ระบุ
นางอภิรดี เปิดเผยอีกว่าการใช้มาตรา 44 ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล เพราะเป็นการดูแลในทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการระบายข้าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน คณะทำงานระบายข้าว
กรมการค้าต่างประเทศ รับ ม.44 การระบายข้าวทำได้รวดเร็วมากขึ้น
ขณะที่นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยอมรับว่ามาตรา 44 จะช่วยให้การระบายข้าวทำได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งข้าวดีและข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยจะคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลช่วยปลดล็อคมาตรการต่างๆได้พอสมควร เช่น การรับมอบข้าวของรัฐที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งการใช้มาตรา 44 จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ และช่วยให้ตลาดข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น