วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

'เรืองไกร' ยื่นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์


เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง ขอให้ตรวจสอบรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการกองทัพบกบัญชีกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ธนาคารทหารไทย สาขาบก.ทบ. เกี่ยวกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า มีการปฏิบัติให้เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 หรือไม่
โดย 1.มีข้อเท็จจริงปรากฏทั่วไปว่า กองทัพบกได้มีการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยมีการระบุถึงพื้นที่และแนวคิดการจัดสร้าง กรอบระยะเวลาดำเนินการ และการเชิญชวนประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุนโดยการโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขา บก.ทบ. ชื่อบัญชี “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” บัญชีกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 และมีการระบุว่า ทั้งนี้สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ กองกิจการพลเรือน สำนักกิจการพลเรือน กองกิจการพลเรือนทหารบก โทรศัทพ์ 0-2247-7581-4
2.มีภาพและข่าวข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า มีประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคเป็นจำนวนมาก
3.การรับเงินบริจาคเข้าบัญชี “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงเป็นข่าวทั่วไปว่า มีการจ่ายเงินออกไปในลักษณะที่เป็นการไม่ชอบ เข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างแพงเกินจริง และมีการยอมรับจากอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพบกที่เกี่ยวข้อง จนกองทัพบกต้องเร่งตรวจสอบรายรับรายจ่ายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งน่าเชื่อว่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาหมายบทหลายกรรมตามมา
นายเรืองไกร ระบุว่า 4.ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 ข้อ 5 วรรคท้าย กำหนดว่า “ในกรณีที่มีผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้ทางราชการทุกกรณี ให้มีการรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ และให้ถือว่าเป็นการรับบริจาคในนามของส่วนราชการ” และ ข้อ 11 กำหนดว่า “การปฏิบัติเกี่ยวกับบัญชี วิธีการจ่าย และหลักฐานการรับจ่าย เงินบริจาคให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น และให้รวบรวมหลักฐานการรับจ่ายให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นภูมิภาคแล้วแต่กรณีตรวจสอบได้ทุกขณะ” และสปช. ทบ. ได้มีบันทึกข้อความที่ กห 0406/778 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 48 เรื่อง การรับเงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากพล.อ.ประวิตร์ วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 48 แล้วนั้น ทำให้เห็นได้ว่า การรับ-จ่ายเงินเพื่อจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ถือว่าเป็นการรับบริจาคในนามของส่วนราชการ มีระเบียบทางราชการให้ปฏิบัติ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ทุกขณะ
5.เนื่องจากการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อยู่ภายใต้การดำเนินการโดยกองทัพบก ซึ่งเป็นส่วนราชการ จึงเป็นเรื่องของหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่อย่างใด และมีหลักฐานเป็นบัญชีกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ธนาคารทหารไทย สาขาบก.ทบ. ในชื่อ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ที่จะสามารถตรวจสอบถึงรายรับและรายจ่ายได้ว่ามีการปฏิบัติตามระเบียบทางราชการโดยถูกต้องหรือไม่ มีการใช้จ่ายเงินที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกขณะ และหากพบว่า มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ควรตรวจสอบเชิงลึกต่อไปว่า มีการกระทำที่ทำให้ทรัพย์สินที่ตกเป็นของราชการได้รับความเสียหายหรือไม่ ใครต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายนั้น และหากมีความผิดทางอาญาตามบทกฎหมายใด ๆ ก็ควรส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. สตช. หรือป.ป.ท. เป็นต้น
นายเรืองไกร ระบุอีกว่า 6.เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่า มีการจ่ายเงินจากบัญชี "กองทุนสวัสดิการกองทัพบก" ในการสร้างทรัพย์สินถาวรหลายรายการ ซึ่งต้องนำมาขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่กลับมีการใช้จ่ายเงินไปในลักษณะที่แพงกว่าความเป็นจริง ซึ่งแม้จะมีการยอมรับว่าเป็นค่าหัวคิว และมีการคืนเป็นเงินบริจาคแล้วก็ตาม แต่หากพิจารณาว่า เงินที่รับบริจาคมาเป็นของส่วนราชการ การจ่ายเงินของส่วนราชการออกไปดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ มีลักษณะเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการบวกราคาเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ซึ่งเงินดังกล่าวไม่อาจเรียกเป็นค่าหัวคิวหรือค่านายหน้าได้แต่อย่างใด แต่เป็นเงินที่สมคบกันทำสัญญาให้สูงกว่าค่างานที่ทำจริง จึงเป็นการทุจริตเงินของส่วนราชการที่ได้รับบริจาคมาโดยการสมรู้ร่วมคิดกันหลายฝ่าย
กรณีเช่นนี้ สตง.ควรขยายผลการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป โดยเฉพาะค่านายหน้าหรือค่าหัวคิวที่อ้างนั้น ผู้จ่ายเงินลงบัญชีไว้อย่างไร มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ หรือมีการใช้บิลอื่นมาหักเป็นรายจ่ายหรือไม่ บิลที่นำมาหักเป็ยรายจ่ายหรือต้นทุนใช้ได้ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดหรือไม่ และใครคือผู้รับเงินค่านายหน้าหรือค่าหัวคิวต่อจากเซียนพระคนดังกล่าว ผู้รับเงินต่อจากเซียนพระเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น