19 พ.ย.2558 สืบเนื่องจากกรณีเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ลงหมายเรียกผู้ต้องหา ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ลงวันที่ 11 พ.ย.2558 โดยนัดหมายให้เข้ารายงานตัวที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่าหมายดังกล่าวถูกส่งไปยังนายคงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ตนเองยังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด
อรรถจักร์ กล่าวด้วยว่า หมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการจัดแถลงข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร (อ่านแถลงการณ์ด้านล่าง) ร่วมกันจัดโดยคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ หลังจากนั้นนายทหารพระธรรมนูญได้เข้าแจ้งความต่อผู้ร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม คงกฤช อาจารย์ผู้ได้รับหมายเรียกฉบับนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้แต่อย่างใด ตนเองจึงได้โทรไปแจ้งตำรวจเจ้าของเรื่องแล้วเพื่อให้ถอนชื่อของคงกฤชออก และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีการระบุด้วยว่า หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งนี้จะส่งถึงอาจารย์ทั้งหมด 8 ราย เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีตนเอง และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. อีกคนหนึ่ง ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง
“คงจะรออีกสักพัก หากได้หมายเรียกก็คงไปตามหมายเรียก และอาจมีการแถลงข่าวหน้าสถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่ง” อรรถจักร์กล่าว
ด้านคงกฤช อาจารย์จากศิลปากร ได้โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กเรื่องที่เขาได้รับหมายเรียกว่า “อาจารย์อรรถจักร์โทรมาแจ้งว่าผมไม่ต้องไปให้ปากคำที่เชียงใหม่แล้ว อาจารย์ได้ไปเคลียร์ให้แล้วว่าผมไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมวันที่ 31 ต.ค. อาจารย์ยังขอโทษที่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมตอบว่าอาจารย์ไม่ได้ทำผิด ที่ผิดคือทหารและตำรวจที่ทำแย่และยังชุ่ยอีกด้วย ผมขอบคุณอาจารย์และให้กำลังใจให้อาจารย์ อาจารย์อรรถจักร์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากๆ ผมนับถือสปิริต อ.จริงๆ
คิดว่าถ้ามีโอกาสจะไปร่วมประชุมเรื่องชุมชนที่จะจัดสุดสัปดาห์นี้ที่ กทม. ตามที่อาจารย์ชวน”
คิดว่าถ้ามีโอกาสจะไปร่วมประชุมเรื่องชุมชนที่จะจัดสุดสัปดาห์นี้ที่ กทม. ตามที่อาจารย์ชวน”
เมื่อถามอรรถจักร์ว่ามีความกังวลใจหรือหนักใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่หนักใจอะไร เรามีหน้าที่ที่จะต้องพูด ต้องแสดงความคิดเห็นต่อสังคมก็ต้องทำกันต่อไป จริงๆ ก็เคลียร์บทบาทนี้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเชียงใหม่แล้วว่าจะไม่ให้ทำอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ เราเป็นนักวิชาการก็มีหน้าที่ที่จะต้องพูดสิ่งที่เราคิดว่าควรต้องพูด”
“จริงๆ ผมก็ดีเฟนด์แทนมหาวิทยาลัยทั้งหมดทุกแห่งว่าไม่ใช่ค่ายทหาร ไม่ใช่ว่าจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” อรรถจักร์กล่าว
เมื่อถามว่าคาดว่าคดีนี้มีแนวโน้มอย่างไร ต้องเตรียมการประกันตัวหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่รู้ ถ้าจะจับเราข้อหานี้ จะต้องประกันตัวก็ประกัน จะจับติดคุกก็ติดคุก เพราะไม่รู้จะทำยังไง ถ้าจะเอาเรื่องกับเรื่องนี้ก็คงต้องสู้กันไป ศาลทหารก็ศาลทหาร”
เมื่อถามถึงการติดตามและพูดคุยของทหารในช่วงที่ผ่านมา อรรถจักร์กล่าวว่า ในช่วงหลังรัฐประหารและหลังการเขียนจดหมายถึงคณะรัฐประหารแล้ว มีตำรวจทหารมาที่บ้าน แต่เผอิญเขาได้รับทุนไปญี่ปุ่นก่อนแล้ว หลังกลับมาทหารชั้นผู้ใหญ่จากมณฑลทหารบกที่ 33 ก็นัดคุยที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ 2-3 ครั้ง โดยอรรจักรยืนยันว่าหากทหารต้องการพูดคุยก็ต้องมาที่มหาวิทยาลัยและเขาจะไม่ไปที่ค่ายทหาร
“คุยกันดี เขาขอให้เราไม่เคลื่อนไหว เราบอกไม่ได้ เราในฐานะนักวิชาการมีอะไรก็ต้องแสดงความคิดเห็น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ดูเข้าใจดี ทั้งคนเก่าคนใหม่ นายทหารฝ่ายข่าวกรองก็เข้าใจดีว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ กรณีนี้ผมจึงงงว่าทำไมถึงเกิด จริงๆ ข่าวก็ไม่ดัง แต่ถ้าคุณออกหมายเรียกแบบนี้มันจะทำให้เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นประเด็น” อรรจักรกล่าว
ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงข่าวของคณาจารย์กลุ่มนี้ ในวันที่ 27 ต.ค. พล.อ.ประยุทธร์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้กล่าวว่าจะสั่งการให้กระทรวงศึกษาไปทบทวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาไม่ให้สอนให้คนขัดแย้ง และต่อต้านคสช. จากนั้นในวันที่ 31 ต.ค. คณาจารย์หลายสถาบันนำโดยอรรถจักร์ได้จัดแถลงข่าวที่เชียงใหม่ ระบุว่า หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ขอบอกว่า "เสรีภาพ" เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น
แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยเรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา
จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจจำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่าการที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐานคือต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรมและโปร่งใส มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือสังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญาและไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต
ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อสังคมไทย
เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย
31 ตุลาคม 2558
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น