วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เพื่อไทยร้องประยุทธ์สอบปมอุทยานราชภักดิ์ ชี้เงินบริจาคถือเป็นทรัพย์สินราชการ-เข้าข่ายผิดอาญา


เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้มีแถลงการณ์ฉบับลงวันที่ 13 พ.ย.เรียกร้องให้รัฐบาลแถลงรายละเอียดและมาตรการดำเนินการต่างๆ กรณีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาในระดับต่างๆ แต่ปรากฏว่าบุคคลในระดับสูงของรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กลับหลีกเลี่ยงและปฏิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องของกองทัพบกไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล การจัดสร้างไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐบาล แต่ใช้เงินบริจาคประชาชนและแม้จะพบการทุจริต รัฐบาลก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบนั้น พรรคเพื่อไทยขอแถลงในประเด็นดังกล่าว เพื่อความรับรู้ร่วมกันของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมให้กองทัพบกเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ สำหรับเงินงบประมาณให้ประสานความร่วมมือ และเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมบริจาค หากกระทรวงกลาโหมมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนการจัดสร้างจากเงินงบประมาณด้วย ก็ให้ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ปรากฏตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กห 0207/761 ลงวันที่ 30 พ.ค.58 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/19102 ลงวันที่ 3 มิ.ย.58 ดังนั้น โครงการอุทยานราชภักดิ์จึงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลมาแต่ต้นภายใต้ความเห็นชอบของ ครม.เมื่อวันที่ 19 ส.ค.58 นายกฯ รมว.กลาโหม ยังได้ร่วมในพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ ดังนั้น การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผู้ลงนามนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอ้างว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล จึงฟังไม่ขึ้น เป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยแท้
2.กองทัพบกเจ้าของโครงการเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินของกองทัพบกอันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการของกองทัพบก กินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน ใช้สถานที่และทรัพย์สินของทางราชการในการดำเนินโครงการ การรับบริจาคดำเนินการในนามกองกิจการพลเรือนทหารบก ใช้ชื่อบัญชีที่รับบริจาคว่า “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปขอหักลดหย่อนภาษีอันเป็นรายได้ของแผ่นดิน สำหรับเงินบริจาคดังกล่าว ตามข้อ 5 (4) วรรคสองของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 ให้ถือว่าเป็นการรับบริจาคในนามของทางราชการ เงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นอันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งรัดหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หาใช่เป็นเรื่องของกองทัพบกซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาตามที่รองนายกฯและ รมว.กลาโหมพยายามชี้แจงเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบแต่อย่างใดไม่
3. การที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับสูงของรัฐบาล และ คสช.ออกมายอมรับว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการจริงแต่ได้นำเงินดังกล่าวไปบริจาคแล้ว เท่ากับเป็นการยอมรับว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาเกิดขึ้นในขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่งสำคัญ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการ คสช.และเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ การทุจริตที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่ตัวผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บังคับบัญชาในระดับที่เหนือขึ้นไปประกอบด้วยรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายกฯและประธาน คสช.ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง จะต้องแสดงความรับผิดชอบอันเป็นไปตาม ข้อ 10 และ ข้อ 29 ของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ดังนั้น การที่นายกฯ ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้แสดงความไม่รับผิดชอบจึงขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
4. พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์เป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่งต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นและเกี่ยวพันถึงบุคคลในระดับสูงของรัฐบาล ชอบที่รัฐบาลจะต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฏและเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจด้วยการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยมีข้ออ้างหนึ่งคือ "เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง" ปรากฏตามประกาศ คสช ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยิ่งต้องแสดงให้ประชาชนเห็นถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิรูปการเมืองที่ทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลนี้เรียกร้องให้เกิดขึ้น
แถลงการณ์ ระบุอีกว่า ดังนั้นการที่นายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลแสดงความไม่รับผิดชอบนอกจากจะขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังขัดกับแนวทางปฏิรูปการเมืองรวมถึงนโยบายการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ อันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเองอีกด้วย
พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องมายังนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส และประกาศให้สาธารณชนทราบโดยด่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น