วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รายงาน: การคุกคามทนาย-ผู้ต้องขังคดีเตรียมป่วนBike for Dad กดดันถอนแจ้งความ

ภาพวันตำรวจแถลงข่าวการจับกุม 2 รายแรกคือ ประธินและณัฐพล

พูดคุยกับทนาย 2 คนของผู้ต้องหาหลายรายที่อยู่ในคุกพิเศษ มทบ.11 ซึ่งระบุว่าถูกกักตัว ติดตาม กีดกันการพบผู้ต้องหา และถูกกดดันให้ถอนการแจ้งความกล่าวโทษทหาร-ตำรวจที่ออกหมายจับคดี112 “ธนกฤต” 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดี 112 เตรียมป่วนกรุง ทนายเตรียมแถลงการคุกคามต่อศาลทหารพรุ่งนี้
เบญจรัตน์ มีเทียน หนึ่งในทนายความของผู้ต้องหาคดีเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for Dad  ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ “คุกคามทนายความ” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ภายในเรือนจำ มทบ.11 ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจแจ้งความของเธอในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.)
เรื่องราวเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 29 พ.ย.เธอได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมายของ คสช. และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีหมิ่นเบื้องสูง พร้อมคณะ ในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ แจ้งความเท็จ และข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีการออกหมายจับนายธนกฤต โดยระบุว่านายธนกฤตเป็น 1 ในผู้เตรียมก่อเหตุความไม่สงบในกรุงเทพฯ ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล และมีการแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 
ผู้ต้องหาที่ตำรวจออกหมายจับในกรณีเตรียมการป่วนครั้งนี้มี 9 ราย ทนายความระบุว่าถูกจับกุมและควบคุมตัวใน มทบ.11 แล้วถึง 7 ราย โดยทยอยโดนจับมาอย่างเงียบๆ และเพียงประธินกับณัฐพลที่มีการแถลงข่าว นอกจากนี้หมายจับดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงธนกฤตซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขอนแก่นในความผิดเกี่ยวข้องกับคดี “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อปี 2557 ต่อมาได้ประกันตัวและขณะนี้กำลังรับโทษจำคุกในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะครบกำหนดพ้นโทษในอีก 6 เดือนข้างหน้า เบญรัตน์ซึ่งเป็นทนายความของธนกฤตระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่นายธนกฤตจะกระทำผิดตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ลูกความจึงได้มอบให้เธอดำเนินการแจ้งความกลับกับพล.ต.วิจารณ์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ และคณะดังกล่าว

เบญจรัตน์ มีเทียน (แฟ้มภาพ)
เบญจรัตน์กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าแจ้งความแล้ว (วันที่ 29 พ.ย.) ในช่วงกลางคืนของวันนั้นเองตำรวจกองปราบฯ ที่รับแจ้งความได้โทรศัพท์เรียกให้เธอเข้าไปแก้ไขเอกสารและให้การเพิ่มเติมที่กองปราบฯ ในคืนนั้น แต่เธอปฏิเสธพร้อมแจ้งว่าจะเข้าไปดำเนินการเมื่อมีเวลาว่าง หลังจากนั้นตำรวจยังคงโทรมาหาเธออีกเกือบ 10 ครั้ง และแจ้งว่าจะมาพบที่บ้านเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่เบญจรัตน์ยืนกรานปฏิเสธ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดเวลาให้เข้าไปที่กองปราบในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น (30 พ.ย.)  แม้ว่าเบญจรัตน์จะแจ้งว่าต้องเข้าไปสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องหาที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11

เธอเล่าอีกว่า เวลา 10.30 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2558 เบญจรัตน์เดินทางไปเรือนจำ มทบ.11 ขอเข้าพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นผู้ต้องขังทั้ง 4 คน ได้แก่ นายประธิน, นายพาหิรัณ, นายวัลลภ และนายฉัตรชัย ที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ไม่อนุญาตให้เอาโทรศัพท์เข้าไป เธอจึงนำโทรศัพท์มาเก็บที่รถก่อนเข้าพบผู้ต้องหา แต่ปรากฎว่ามีผู้ต้องหาเพียง 3 คนที่ออกมาที่ออกมาพบ ยกเว้นประธิน เธอสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสามโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งฟังอยู่ด้วยตลอดเวลา หลังจากผู้ต้องหาทั้งสามกลับเข้าที่คุมขัง ทหารที่เฝ้าอยู่ซึ่งมียศร้อยเอกและทหารยศต่ำกว่าอีก 2 คน ได้แจ้งให้เธอรอประธินออกมา 
เบญจรัตน์นั่งรออยู่จนถึงเวลาเที่ยง จึงได้แจ้งต่อทหารว่าเธอมีนัดที่ศาลอาญาในเวลา 13.30 น.มีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากเรือนจำ แต่นายทหารยศร้อยเอกได้ล็อคประตูห้องและสั่งให้เธออยู่พบ "นาย" ก่อน เบญจรัตน์นั่งรออยู่อีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเปิดสมุดนัดหมายศาลให้ทหารดู และเจรจาว่าจำเป็นต้องขอไปทำหน้าที่ แล้วจะมาคุยกับ "นาย" ในภายหลัง แต่ทหารคนดังกล่าวก็ยืนกรานว่าให้ไปไม่ได้ นายสั่งไม่ให้ไปไหน เบญจรัตน์ถามกลับว่าศาลสั่งกับนายสั่งอย่างไหนสำคัญกว่า ทหารก็ยืนยันไม่ให้ออกไป และยังบอกด้วยว่าจะโทรศัพท์ไปคุยกับผู้พิพากษาให้

วิญญัติ ชาติมนตรี (กลาง) (แฟ้มภาพ)
ในขณะเดียวกัน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของผู้ต้องหาในคดีนี้อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาเยี่ยมและสอบข้อเท็จจริงจากลูกความที่เรือนจำ มทบ.11 เช่นกัน วิญญัติกล่าวว่า เขาได้ทำเรื่องขอเยี่ยมและได้พบกับประธินเพียงคนเดียวเท่านั้น ประธิน ถูกตีตรวน ใส่กุญแจมือ และใช้ผ้าปิดตาระหว่างเดินมาพบทนาย ก่อนจะได้รับการแก้ผ้าปิดตาออกระหว่างพูดคุย อย่างไรก็ตาม วิญญัติระบุว่าเขาได้มีเวลาคุยกับประธินเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น โดยระหว่างการคุยสอบข้อเท็จจริงก็มีนายทหารนั่งฟังอยู่ด้วย 
"จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำก็บอกว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องการให้คุย แล้วผมก็โดนกักบริเวณไว้ ไม่มีคำอธิบาย แค่บอกให้รอ แล้วไม่ให้ผมกับทนายเบญจรัตน์เจอกัน ทั้งๆ ที่ไปอยู่ในที่เดียวกัน แต่ให้แยกห้อง และต่อมาก็คุมตัวตัวทนายเบญไปโดยผมไม่ทราบ  มาทราบตอนหลัง" วิญญัติกล่าว
"ผมก็บอกว่าผมเป็นห่วงทนายเบญ แต่ทหารก็ไม่ยอมให้พบ" วิญญัติกล่าว
วิญญัติกล่าวด้วยว่า ทหารไม่ได้แสดงอาการก้าวร้าวแต่อย่างใด เพียงแค่บอกให้เขารอพบผู้ต้องขังเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ถูกจำกัดไม่ให้ออกนอกห้อง ไม่ให้ใช้มือถือ และไม่ยอมบอกว่าจะได้เจอหรือไม่ โดยมีทหารใส่ชุดฝึกลายพราง 2 นายมานั่งประกบอยู่ตลอดเวลา
วิญญัตินั่งรอต่อไปจนถึงช่วงบ่ายแก่ จึงมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาขอให้วิญญัติกลับไปเสียก่อน โดยระบุว่า "กลัวว่าจะมีปัญหากับทนายเพราะทหารไม่อยากให้อยู่"
โดยสรุปแล้ว วิญญัติขอเข้าพบผู้ต้องขังในเวลา 10.30 น. ถูกกักตัวให้รอ และได้ออกจากเรือนจำในเวลา 14.45 น. โดยได้มีโอกาสได้พบประธินลูกความของเขาเพียง 5 นาที
สำหรับเบญจรัตน์ เธอเล่าว่า หลังจากรออยู่พักใหญ่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรจากกองปราบ 2 คน เปน ชาย 1 หญิง 1  มารับตัวเธอเพื่อจะนำตัวไปที่กองปราบฯ ทหารจึงยอมนำตัวเธอออกมา เธอได้แจ้งกับตำรวจว่ามีนัดที่ศาลในคดีที่รับผิดชอบอยู่ ต้องการขอไปเลื่อนนัดศาล ตำรวจหญิงจึงนั่งรถมากับเบญจรัตน์เพื่อเดินทางไปที่ศาลด้วย โดยนายตำรวจอีกคนขับรถตามหลังมา เมื่อถึงศาลนายตำรวจหญิงได้ติดตามเข้าไปนั่งเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดี  เบญจรัตน์จึงได้แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้พิพากษา ผู้พิพากษาให้เจ้าหน้าที่ศาลออกมาตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินให้เสร็จสิ้นไปก่อนจึงค่อยคุมตัวไป  
เบญจรัตน์เล่าต่อว่า เธอออกจากศาลในเวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจที่รออยู่มารับตัวพร้อมกับนำบันทึกที่มีเนื้อความว่า เบญจรัตน์ได้เดินทางไปกองปราบฯ ด้วยความสมัครใจมาให้เซ็นด้วยก่อนจะเดินทางไปกองปราบฯ  เจ้าหน้าที่แจ้งเธอว่า ถ้าไม่ได้ตัวทนายไปในวันนี้จะถูกย้ายภายใน 7 วัน 
เธอให้ปากคำอยู่ที่กองปราบฯ จนถึงประมาณ 21.00 น. โดยการให้ปากคำและแก้ไขเอกสารเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรมากนัก สุดท้ายเบญจรัตน์จึงถามพนักงานสอบสวนยศพันตำรวจโทเจ้าของสำนวนว่า ต้องการอะไรกันแน่ พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งว่า “นาย” ต้องการให้ถอนการแจ้งความกล่าวโทษ แต่เบญจรัตน์ได้ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้
"เรายืนยันไปว่าเป็นทนายความไม่สามารถถอนฟ้องได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามีใบมอบอำนาจจากผู้ต้องหาแล้วก็ถอนได้สิ" เบญจรัตน์กล่าวและอธิบายว่าเหตุที่ไม่สามารถอนการกล่าวโทษได้ เพราะตามหลักกฎหมายความผิดดังกล่าวเป็นอาญาแผ่นดิน เมื่อความผิดได้เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถถอนการดำเนินคดีได้
เธอกล่าวต่อว่า นอกจากการถูกจับตา ติดตาม  กดดันแล้ว เธอยังกังวลว่าอาจจะถูกคุกคามอีกเมื่อจะต้องเข้าไปสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องขังทั้งสี่คนใน เรือนจำพิเศษ มทบ.11 ในครั้งถัดๆ ไป
เบญจรัตน์กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) เธอจะเดินทางไปยังศาลทหาร เพื่อแถลงต่อศาลถึงเรื่องการกักขังหน่วงเหนี่ยวทนาย เป็นคุกคามและขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพทนายความ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เรือนจำ มทบ.11 อำนวยความสะดวกในการเข้าพบผู้ต้องขัง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างโปร่งใส

ธนกฤต 
สำหรับบทสรุปเรื่องจะมีการถอนแจ้งความหรือไม่นั้น แรงกดดันดูเหมือนไม่ได้มาทางทนายความอย่างเดียว  เช้าวันนี้ (3 ธ.ค.) เบญจรัตน์ได้เข้าเยี่ยมธนกฤตในเรือนจำขอนแก่น ลูกความของเธอได้แจ้งว่า หลังมอบอำนาจให้เธอไปแจ้งความกลับกับเจ้าหน้าที่นั้น ได้มีชุดตำรวจทหารจากกรุงเทพฯ เดินทางมาที่เรือนจำขอนแก่นเพื่อสอบสวนเขาถึง 4 รอบ โดยคณะผู้สอบสวนได้ขอให้เขาถอนแจ้งความเพื่อแลกกับการที่เจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งข้อหามาตรา 112 กับเขาโดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขามีการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในเรือนจำ สุดท้ายเขาจึงจำเป็นต้องยินยอมเซ็นชื่อถอนแจ้งความ แต่อย่างไรก็ดี วานนี้ (2 ธ.ค.) มีการแถลงข่าวจากทางเจ้าหน้าที่ว่าจะเอาผิดธนกฤตในคดีเตรียมป่วนกรุงเช่นเดิม ดังนั้นธนกฤตจึงเปลี่ยนการตัดสินใจและได้มอบหมายให้ทนายดำเนินคดีฟ้องเอาผิดต่อเจ้าพนักงานผู้กล่าวโทษในความผิดที่เขาไม่ได้ก่ออีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น