ภาพจากเฟซบุ๊กปวิน
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ปฏิเสธเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.หลังการรัฐประหาร เขาถูกทางการยึดพาสปอร์ต และตัดสินใจใช้ชีวิตในต่างแดน ก่อนหน้านี้ในปี 2555 เขาเป็นรองศาสตราจารย์ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ขณะเดียวกันก็ไปสอนยังประเทศอื่นเป็นช่วงๆ ไม่ว่า University of Freiburg, University of Stockholm, University of Tallinn, Stanford University และขณะนี้สอนการเมืองการปกครองของเอเชียตะวันออดเฉียงใต้อยู่ที่ University of Cambridge
กลางดึกของวันที่ 24 ก.พ.2559 เฟซบุ๊กของปวินขึ้นข้อความหลายข้อความระบุถึงข่าวที่เขาได้รับทราบจากครอบครัวในเมืองไทย เมื่อทหารได้ไปพูดคุยที่บ้าน และมีการโทรศัพท์ข่มขู่ญาติ ประชาไทสัมภาษณ์เขาเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้
อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ใครเป็นคนไปพบที่บ้านและติดต่อญาติของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ทหารแน่ใช่ไหม มีการแจ้งหรือไม่ว่ามาจากหน่วยไหน การพูดคุยเป็นอย่างไร
ผมจะเล่าในส่วนที่ได้ยินมานะครับ วันนี้ (24 ก.พ.) ได้รับข้อความจากทางบ้านให้โทรกลับด่วน ผมโทรไปทันที ได้คุยกับพี่สาวสองคน คนแรกบอกว่า มีทหารนอกเครื่องแบบมาที่บ้าน 4 คน แต่ไม่ทราบว่าหน่วยงานไหน มาเพื่อพูดเรื่องผม และขอร้องว่าให้เตือนผมว่าอย่าเอ่ยถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก ในส่วนนี้ผมไม่มีข้อมูลเพิ่ม
ที่น่าสนใจกว่าก็คือ มีบุคคลโทรไปหาพี่สาวผมที่ที่ทำงาน บอกว่าได้รับคำสั่งจากเจ้านายให้มาพูดกับพี่ผม เพื่อขอให้พี่ผมเตือนให้เลิกพูดเรื่องสถาบัน ณ บัดนี้ วันนี้ หากไม่หยุด คนในครอบครัวผมจะต้องเดือดร้อน จึงขอเตือนไว้ล่วงหน้า พี่สาวบอกว่าจะเตือนผมได้อย่างไร เราเป็นคนละคน แล้วทางบ้านก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกิจกรรมของผมทั้งสิ้น บุคคลผู้นั้นตอบว่ายังไงทางบ้านผมก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ย้ำว่าถ้าปวินหยุดพูด เรื่องนี้ก็จบ
ที่สำคัญเช่นกันคือ ผู้ที่โทรมาจะขอให้คนทั้งบ้านผมไปรายงานตัว (จำสถานที่ไม่ได้ แต่เป็นหนึ่งในค่ายทหารแน่ๆ) ขอให้มาทั้งบ้าน เพราะทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ หากฝ่าฝืนไม่มาจะส่งคนมาที่บ้านแทน หากต้องการให้เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น นอกจากนี้ยังขู่ด้วยว่าหากผมไม่หยุด ทางตำรวจสอบสวนกลางจะออกหมายข้อหา 112 ต่อผม
คนในครอบครัวอาจารย์มีความวิตกกังวลระดับไหน รวมถึงตัวอาจารย์เองด้วย
ก็ต้องวิตกเป็นธรรมดา เพราะภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เราไม่มีที่พึ่งทางด้านกฎหมายหรือการปกป้องใดๆ จากรัฐ เพราะทุกหน่วยงานล้วนแต่เป็นเครื่องมือ คสช. ส่วนตัวผมนั้นอยู่นอกประเทศก็คงไม่กังวลใจเท่าไร คำนึงถึงความปลอดภัยของคนที่เมืองไทยมากกว่า โดยเฉพาะมันมีหลายกรณีที่ชี้ว่า ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐอาจถึงแก่ชีวิตได้ (หมอหยอง ฯลฯ)
ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีนี้เช่นนี้ไหม
ทหารมาที่บ้าน 2-3 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อกดดัน แต่ผมตัดสินใจไม่โวยวายหรือทำเป็นข่าว เพราะมาไม่นาน แต่ครั้งนี้ ทหารอุกอาจมาก ผมจึงจำเป็นต้อง reach out ไปสู่องค์การระหว่างประเทศ ทูตต่างๆ ในไทย สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของทหารต่อครอบครัวผม
คิดว่ามีเหตุเฉพาะอะไรหรือไม่ทำให้ทหารไปกดดันครอบครัว เพราะปกติทหารก็ใช้วิธีตอบโต้เองโดยตรงผ่านสื่อ
คงเป็นเพราะการที่ผมยังเล็คเชอร์อย่างต่อเนื่องเรื่องสถาบันกษัตริย์และผ่านงานเขียน หรือการแสดงความห็นทางเฟซบุ๊กวันที่เกิดเหตุก็เกิดวันเดียวกับวันที่ผมมีเล็คเชอร์ที่ oxford university เรื่องอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทย
อาจารย์ได้ดำเนินการอย่างไรบ้างแล้ว และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
อย่างที่บอก ผมได้แจ้งผู้เกี่ยวข้องแล้วทั้งหมด องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน United nations, Human Rights Watch, ทูตานุทูตหลายคนในไทย สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ รวมถึง New York Times ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คงต้องดูท่าที คสช. ด้วย แต่ผมต้องการให้เรื่องการคุกคามครอบครัวผมได้รับรู้ในระดับระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางที่สุด
ตัวอาจารย์เองกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเพิ่มขึ้นไหม
ไม่ครับ ผมอยู่ในโลกที่พัฒนาแล้ว และเป็นประชาธิปไตย ได้รับความคุ้มครองจากทางการของประเทศเหล่านี้อย่างเต็มที่
ข้อเรียกร้องของอาจารย์ต่อ คสช.
ขอให้ยุติการคุกคามครอบครัว
ดีลที่เขาเสนอมา อาจารย์คิดอย่างไร
ดีลอะไรครับ คือหยุดพูด เรื่องจบ? ผมขอตอบสั้นๆ ผมเป็นนักวิชาการ ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำต่อไปด้วยความสุจริต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น