วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

สรุปคำแถลงตุลาการผู้แถลงคดี ทำไม ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ไม่ควรถูกไล่ออก


1 มี.ค.2559 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยมีนางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้ฟ้องคดียื่นคำแถลงเป็นหนังสือและวาจาต่อศาล ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้นิติกรผู้รับมอบอำนาจเข้าร่วมการพิจารณาโดยไม่มีการแถลง ขณะที่ ก.พ.อ.ไม่ได้เข้าร่วม
จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็น โดยศาลแจ้งว่าปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อยู่ร่วมรับฟังด้วย แต่ครั้งนี้เห็นควรอนุญาต ตุลาการผู้แถลงคดีสรุปความเห็นว่า เห็นควรให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกดังกล่าวเนื่องจากเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว (อ่านรายละเอียดด้านล่าง) อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า การให้ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีนั้นเป็นระบบปกติของศาลปกครอง ไม่มีผลผูกพันกับคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิจารณาคดี และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8  มี.ค.นี้ ห้องพิจารณาคดี 8 เวลา 9.30 น.
ก่อนหน้าการพิจารณาคดี ภาวิณีให้ข้อมูลว่า หากมหาวิทยาลัยเห็นว่าการไม่กลับมาสอนหนังสือของสมศักดิ์ผิดวินัย ข้อกำหนดมหาวิทยาลัยให้เป็นอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจะ “ปลดออก” หรือ “ไล่ออก” หากปลดออกสิทธิประโยชน์ เช่น บำเหน็จบำนาญราชการก็ยังอยู่ แต่กรณีไล่ออกนั้นผู้ถูกไล่ออกจะไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่สมศักดิ์เป็นอาจารย์มายาวนานมาก กรณีนี้ไม่ใช่การทุจริตคอรัปชั่น หรือประพฤติผิดกฎหมาย แต่มีเหตุที่จำเป็นถึงชีวิตที่ทำให้ต้องลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส 
สำหรับกระบวนการพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงแห่งคดีเบื้องต้นและตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของ ก.พ.อ.นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบตามกฎหมายหรือไม่
จากนั้นภาวิณีได้แถลงด้วยวาจาจต่อศาลขอให้องค์คณะเพิ่มเติมการพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่ทำให้สมศักดิ์ไม่สามารถกลับมาปฏิบัติราชการได้ เนื่องจากการถูกฟ้องคดีมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรมโดยกองทัพ การถูกลอบยิงบ้านพักไม่กี่วันก่อนการรัฐประหาร การออกคำสั่ง คสช.เรียกรายงานตัวซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ และผู้รายงานตัวจะโดนอะไรเนื่องจากไม่ได้รับการอนุญาตให้ติดต่อโลกภายนอก 7 วัน อีกทั้งสมศักดิ์เองยึดถือระบอบประชาธิปไตยจึงดำเนินการตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในการต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่กลับมารายงานตัวและปฏิบัติราชการต่อ อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามในการติดต่อกับคณะศิลปศาสตร์และมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีความจงใจละทิ้งการปฏิบัติราชการ
ภาวิณีแถลงต่อว่า จนถึงปัจจุบันผู้ฟ้องคดีก็ยังอยากกลับมาเป็นอาจารย์ตลอดเวลา เพราะรักการสอนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างยิ่ง หากเหตุการณ์คลี่คลาย อันตรายต่างๆ พ้นไปก็ยังอยากกลับมาสอนหนังสือที่นี่จนเกษียณอายุราชการ
ภาวิณีแถลงอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2  ยังมีสภาพไม่เป็นกลาง โดยสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็น สนช. ขณะที่ ประธาน ก.พ.อ. คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาสัย เป็นสมาชิก คสช. และ รมว.ศึกษาธิการ ในวันประชุมออกคำสั่งไม่รับอุทธรร์ของสมศักดิ์ พล.ร.อ.ณรงค์ก็ร่วมประชุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายวิจิตต์ รักถิ่น ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็นที่เห็นควรเพิกถอนคำสั่งไล่ออกดังกล่าว โดยสรุปความได้ว่า
ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่ามีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของราชการอันทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง และละทิ้งหน้าที่เกิน 15 วันโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่
ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอลาไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการในวันที่ 16 พ.ค.2557 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการคณะและคณบดีแล้ว แม้ไม่จะยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับอนุมัติลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.2545 โดยได้รับอนุมัติในวันที่ 15 ต.ค.2545 อันเป็นการอนุมัติภายหลังสิ้นสุดการลาแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีได้ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ตั้งแต่ 1 ส.ค.2557 จนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งยุติการขออนุญาตของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 28 ม.ค.2558  จึงถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการและละทิ้งหน้าที่เกิน 15 วันโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2557 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนข้ออ้างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระบุว่าได้ ผู้ฟ้องคดีได้รับบันทึกจากหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ลงวันที่ 18 ธ.ค.2557 แจ้งว่าการพิจารณาอนุมัติการลาล่าช้า ล่วงเลยถึง 6 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการพิจารณามหาวิทยาลัย จึงให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีก็ยังเพิกเฉย แล้วยื่นหนังสือลาออก นับเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ขณะผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากหัวหน้าภาคให้กลับมาสอนดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่กลับเข้ารับราชการและยื่นใบลาออกทันทีเมื่อ 19 ธ.ค.2557 ให้มีผลวันที่ 30  ธ.ค.2557 ถือว่ามีเหตุผลจำเป็นพิเศษ การไม่สามารถยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยเสียหายอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด
“คดีหนัง Insect in the backyard ที่ผู้กำกับหนังเรื่องนั้นฟ้องให้เพิกถอนการแบนหนัง ตุลาการผู้แถลงคดีก็อ่านความเห็นในทิศทางเดียวกัน ผู้กำกับฟังความเห็นถึงกับน้ำตาไหล แต่ในการพิพากษาก็กลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม เราจึงต้องจับตาดูวันพิพากษา 8 มี.ค.นี้ และคดีนี้ก็เป็นคดีแรกที่ศาลนัดฟังควาเห็นตุลาการผู้แถลงคดีพร้อมกับนัดฟังคำพิพากษาที่ห่างกันเพียง 7 วัน โดยปกติจะนัดที่ละนัด และทิ้งช่วง 1 เดือนหรือมากกว่านั้นก่อนการสรุปเป็นคำพิพากษาสุดท้าย” ภาวิณีกล่าว
ภาวิณีกล่าวอีกว่า หากวันที่ 8 มี.ค.องค์คณะพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกด้วยเช่นเดียวกับวันนี้ และผู้ถูกฟ้องไม่อุทธรณ์ก็จะมีผลให้สมศักดิ์ยังคงสถานะอาจารย์มหาวิทยาลัย สมศักดิ์จึงมีสิทธิ์ที่จะลาออกจากราชการตามปกติหากเห็นควรว่ายังไม่สามารถกลับมาได้ซึ่งจะส่งผลจะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญที่สะสมไว้ตลอดชีวิตอาจารย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น