วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

6 องค์กรนักกฎหมายสิทธิ เรียกร้องปล่อยตัว 'วัฒนา' ทันที

19 เม.ย. 2559 กรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ถูก คสช. ควบคุมตัวไว้ หลังเดินทางไปรายงานตัวที่ มทบ. 11 ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.)
ล่าสุด สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวัฒนา โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมขอให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ
รายละเอียดมีดังนี้ 

แถลงการณ์
ขอให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ
         

รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐต่อกันเองและต่อประชาชน รัฐธรรมนูญจึงเป็นกติกาที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งปวงดังนั้น กติกาที่จะออกมาบังคับใช้ดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเข็มข้นและกว้างขว้างของประชาชน และประชาชนต้องสามารถแสดงเจตจำนงได้อย่างเสรีในการยอมรับหรือไม่ยอมรับกติกาดังกล่าว
       
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นมา การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องด้วยการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญกระทำโดยคนเพียงบางกลุ่มและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอในกระบวนการร่างส่วนในเชิงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ก็ถูกตั้งคำถามในหลายประเด็น อาทิ ประเด็นเรื่องสิทธิในการศึกษา สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค ที่มาของนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. อำนาจขององค์กรอิสระ การรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำและการใช้อำนาจจาก คสช. เป็นต้น
       
แม้ผู้มีอำนาจจะกำหนดให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่บรรยากาศการมีส่วนร่วมและการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมฉบับนี้ก็ยังถูกจำกัดอยู่ โดยเฉพาะการจำกัดหรือปิดกั้นการแสดงออกในทางที่ไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญดังจะเห็นได้จากการที่ผู้มีอำนาจออกมาข่มขู่อยู่เสมอๆอาทิ การขู่ห้ามไม่ให้ใส่เสื้อ Vote No หรือแม้แต่ขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ทำการรณรงค์ในทางที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และเห็นได้ชัดจากการพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งมีมติเห็นเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการทำประชามติไว้ค่อนข้างสูง[1] ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายภายใต้สถานการณ์ที่ลุแก่อำนาจเช่นนี้ย่อมมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกตีความตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจในการไปจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
       
การควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากที่เขาแสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการจำกัดและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นกรณีล่าสุด ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นแล้ว ยังเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ ไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ในความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 ก็ตาม แต่คำสั่งเหล่านี้ต่างเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ/นิติธรรม (Rule of Law) เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างไร้เหตุผลหรือตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ[2] อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักแห่งความจำเป็นและหลักสัดส่วน (necessity and proportionality)[3] ประกาศหรือคำสั่งในลักษณะเช่นนี้  จึงไม่ควรถูกรับรองว่าเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ในกรณีดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9
       
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิทธิที่ได้รับการประกันตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 19 ที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซงและบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน[4] เนื่องจากถือว่า หลักการนี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์[5]และเสรีภาพดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นอันนำไปสู่การพัฒนาทางสังคม ส่งเสริมให้หลักความโปร่งใส (transparency) และความรับผิดชอบ (accountability) เกิดขึ้นเป็นจริงได้ และที่สำคัญหลักการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและ คสช. ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
       
1. ให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะการกระทำของเขาถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อหรือความคิดเห็นโดยสันติ ภายใต้ขอบเขตที่พันธกรณีระหว่างประเทศระบุไว้ และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบและตามอำเภอใจ อีกทั้งมีการควบคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผย ทำให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
       
2. รัฐจะต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นโดยสันติวิธี รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสามารถรณรงค์ทั้งในทางสนับสนุนหรือคัดค้านได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงประชามติที่ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง (Rights to Self-Determination)
       
3. รัฐต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความเห็น ตลอดจนยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจมาปิดกั้นและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างจากแนวทางของรัฐ

ด้วยความเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
[1] โปรดดูรายละเอียดในพระราชบัญญัติตามลิ้ง http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d040759-01.pdf(ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
[2] Siracusa Principles on the Limitation and Derogation of Provisions in the International Covenant on Civil and Political Rights ข้อ 15 - 18
[3] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.22
[4] International Covenant on Civil and Political Rights article 19 (1) (2)
[5] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น