ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เปิดดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ปี 2016 เผยอันดับถดถอยทั่วโลก ฟินแลนด์ครองอันดับหนึ่ง ส่วนไทยอยู่ที่ 136 จากการเรียกรายงานตัว-คุมตัวสื่อของ คสช.
20 เม.ย. 2559 องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) เปิดดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2016 โดยระบุว่าเป็นปีที่ "ผู้นำหวาดระแวงสื่อมวลชน" โดยดัชนีปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในการโจมตีเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อ จากรัฐบาล กลุ่มอุดมการณ์และผลประโยชน์ของภาคเอกชน
รายงานของ RSF ระบุว่า เมื่อดูอันดับการละเมิดเสรีภาพสื่อแบ่งตามภูมิภาค สื่อในยุโรปมีเสรีภาพมากที่สุด โดยมีคะแนนอยู่ที่ 19.8 ตามด้วยแอฟริกา ที่ 36.9 และ อเมริกา ที่ 37.1 ขณะที่เอเชีย อยู่ที่อันดับที่ 4 โดยได้ 43.8 คะแนน ตามด้วย ยุโรปตะวันออก/เอเชียกลาง ที่ 48.4 และอเมริกาเหนือ/ตะวันออกกลางที่ 50.8
เมื่อดูอันดับเสรีภาพสื่อจาก 180 ประเทศ ประเทศในยุโรปเหนือเป็นประเทศที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุด อันดับหนึ่งได้แก่ ฟินแลนด์ ซึ่งครองอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2553 ตามด้วย เนเธอร์แลนด์ ที่ขยับขึ้นมาสองอันดับ และนอร์เวย์ ที่ตกลงมาหนึ่งอันดับ
สำหรับประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 136 ตกลงมาสองอันดับจากอันดับที่ 134 เมื่อปีก่อน โดย RSF ให้พาดหัวส่วนของประเทศไทยว่า "ถูกปิดปากด้วย 'การรักษาความสงบ'" พร้อมระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ควบคุมสื่อและสื่อพลเมืองอย่างถาวร โดยมีการเรียกรายงานตัวเพื่อสอบถามและควบคุมตัวโดยพลการ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มักจะโจมตีสื่อด้วยวาจา หรือแม้กระทั่งขู่เอาชีวิตสื่อ
ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้น ฮ่องกงอยู่อันดับที่ 69 เกาหลีใต้อยู่ที่ 70 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 138 พม่า อันดับที่ 143 มาเลเซียอยู่ที่ 146 สิงคโปร์อยู่ที่ 154 และจีนอยู่อันดับที่ 176
RSF ระบุว่าเสรีภาพสื่อลดลงทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยลดลงจากปี 2013 ร้อยละ 13.6 โดยการลดลงดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลในหลายประเทศ เช่น ตุรกี และอียิปต์ มีแนวโน้มที่จะเป็นเผด็จการมากขึ้น การควบคุมสื่อของรัฐที่เข้มงวดมากขึ้น แม้แต่ในยุโรปบางประเทศ เช่น โปแลนด์ สถานการณ์ความมั่นคงที่น่ากังวลขึ้นในลิเบียและบุรุนดี หรือประเทศที่ย่อยยับอย่างสมบูรณ์แบบอย่างเยเมน
สถานการณ์ความอยู่รอดของการรายงานข่าวอย่างอิสระของสื่อรัฐและสื่อเอกชนเป็นไปด้วยความล่อแหลมมากขึ้น เนื่องจากการคุกคามของกลุ่มอุดมการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มทางศาสนา ซึ่งเป็นศัตรูกับเสรีภาพสื่อ และจากเครื่องมือชวนเชื่อขนานใหญ่ "ผู้มีอำนาจ" กำลังซื้อสื่อและเพิ่มแรงกดดันเสริมเข้าไปจากที่รัฐบาลได้กดดันไปแล้ว
ตัวชี้วัดชี้ว่าการถดถอยของเสรีภาพสื่อนั้น ส่วนใหญ่มาจากเรื่องทางโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลบางประเทศไม่ลังเลที่จะปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือแม้กระทั่งทำลายอาคาร อุปกรณ์กระจายเสียง หรือแท่นพิมพ์ของสื่อที่เขาไม่ชอบ
ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องกรอบกฎหมายก็ถดถอยลงด้วย มีกฎหมายจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้ลงโทษสื่อด้วยข้อหาเท็จ เช่น "ดูถูกประธานาธิบดี" "ดูหมิ่นศาสนา" "สนับสนุนการก่อการร้าย" ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองตามมา
"น่าเศร้าที่ผู้นำโลกจำนวนมากเพิ่มความหวาดระแวงต่อสื่อสารมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย" คริสทอฟ ดูวา เลขาธิการ RSF กล่าวและว่า บรรยากาศของความกลัวยังผลให้ความเกลียดชังต่อการถกเถียงและพหุนิยมเพิ่มมากขึ้น, การควบคุมสื่อโดยรัฐบาลที่เผด็จการและกดขี่ยิ่งขึ้น, และการรายงานในสื่อเอกชนที่ถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ส่วนบุคคลมากขึ้น
เลขาธิการ RSF ระบุด้วยว่า ผู้ที่คู่ควรแก่การเรียกว่าสื่อสารมวลชนจะต้องป้องกันการเพิ่มขึ้นของโฆษณาชวนเชื่อและเนื้อหาข่าวที่ทำตามใบสั่งหรือได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ได้ประโยชน์ การประกันสิทธิของสาธารณะในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ปัญหาของมนุษยชาติทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้รับการแก้ไข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น