Tue, 2016-07-05 19:07
หลังเกิดกรณีระเบิดในอิรักที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ไฮดา อัล อบาดี นายกรัฐมนตรีของประเทศอิรักก็สั่งยกเลิกเครื่องตรวจระเบิดปลอม ADE 651 ซึ่งเคยมีการพิสูจน์ก่อนหน้านี้นานแล้วว่าเป็นเครื่องมือตรวจระเบิดที่ไม่สามารถใช้การได้จริง แต่ก็ยังมีการใช้กันอยู่ ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนมองว่าเครื่องมือปลอมนี้ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน
5 ก.ค. 2559 ก่อนหน้านี้อิรักเคยสั่งซื้อเครื่องตรวจระเบิดปลอมมูลค่า 53 ล้านปอนด์ (ราว 2,400 ล้านบาท) จากชาวอังกฤษชื่อเจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ทำรายได้มหาศาลจากการขายเครื่องมือนี้ แต่ต่อมาในปี 2557 เขาก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีข้อหาต้มตุ๋นหลอกลวงหลังจากที่ถูกจับในปี 2553 และรัฐบาลอังกฤษก็สั่งห้ามการส่งออกเครื่องตรวจระเบิดของเขา โดยที่แมคคอร์มิคถูกดำเนินคดีคู่ขนานไปกับคนขายเครื่องตรวจระเบิดปลอมอีกคนหนึ่งชื่อแกรี่ โบลตัน ผู้เคยขาย GT200 ให้กับทางการไทย
หลังจากเกิดเหตุระเบิดในอิรักครั้งร้ายแรงที่สุดในปีนี้ที่มีกลุ่มไอซิสอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ อบาดีก็สั่งยกเลิกเครื่องมือตรวจระเบิดที่ชื่อ ADE 651 ซึ่งแมคคอร์มิคอ้างว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจระเบิดและยาเสพติดได้แม้อยู่ห่างออกไป 1 กม. โดยอาศัย "การ์ดตรวจจับสสาร" อ้างอิงสรรพคุณว่าตรวจจับได้แม้กระทั่งช้างหรือธนบัตร 100 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามจากการสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวบีบีซีในปี 2553 ระบุว่าเครื่องมือนี้เป็น "ไม้ไสยศาสตร์ที่โฆษณาเกินจริง" อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดในกองทัพอังกฤษก็บอกว่าการขาย ADE-651 เป็นเรื่อง "ไร้จริยธรรมโดยสิ้นเชิง"
ไม่เพียงแค่ยกเลิกการใช้ "ไม้ไสยศาสตร์" นี้เท่านั้น นายกรัฐมนตรีอิรักยังสั่งให้มีการสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันกรณีการขายเครื่องมือ ADE-651 ในช่วงปี 2550-2553 ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้สูญเสียในเชิงค่าใช้จ่ายเท่านั้นแต่ยังส่งผลเสียหายต่อชีวิตของผู้คนด้วย ในอิรักมีกรณีการระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 4,000 รายตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน โดยที่ระเบิดเหล่านี้ส่วนใหญ่เล็ดลอดด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ทางการมาได้เพราะใช้เครื่องมือตรวจระเบิดปลอมชิ้นนี้
"เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคนต้องเลิกใช้เครื่องตรวจระเบิดปลอมชิ้นนี้ที่ด่านตรวจและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในจะต้องเปิดการสืบสวนกรณีการทุจริตคอร์รัปชันการติดต่อซื้อขายเครื่องมือเหล่านี้รวมถึงติดตามทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายนี้" อบาดีกล่าว
อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ (5 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อิรักบางส่วนยังคงไม่ตอบสนองคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและยังคงใช้เครื่องมือ ADE-651 อยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากการที่ไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าในการสกัดกั้นผู้ก่อเหตุวางระเบิดให้ออกห่างจากเมือง มีเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งกล่าวว่าที่เขายังคงใช้เครื่องมือนี้เพราะต้องการแสดงละครเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีประชาชนอย่างชีค คาดิม อัลซาเยด กล่าวว่าเรื่องตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดปลอมควรจะมีมานานแล้วเพราะการทุจริตเช่นนี้เป็นภัยต่อประชาชน ประชาชนอีกรายหนึ่งชื่ออัฟส์ ยาสซิน ประท้วงอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุระเบิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) บอกว่าประชาชนต้องทนร้อนต่อแถวเพื่อผ่านเครื่องตรวจจับระเบิดปลอมซึ่งเป็นแค่ของเล่น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนก็มองว่ามีคนรู้เรื่องเครื่องตรวจระเบิดปลอมมาตั้งนานแล้วและคงมีคนหัวเราะเยาะพวกเขาที่ยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่
ซาอิด อัล อาลี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอนาคตของอิรักเล่าย้อนไปว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังแมคคอร์มิคถูกดำเนินคดีมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้งในเมืองหลวงของอิรัก นักข่าวพากันซักถามนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ นูรี อัล มาลิกิ ว่าทำไมยังคงมีการใช้เครื่องมือนี้อยู่ แต่อัลมาลิกิก็ตอบว่าเครื่องมือนี้ใช้ตรวจสอบได้ร้อยละ 20-54 ถ้าหากทหารใช้มันเป็น และบอกว่าบางชิ้นก็ของแท้บางชิ้นก็เป็นของเทียม จากคำตอบของเขา อาลีตีความว่าถ้าอดีตนายกฯ ไม่ได้เชื่อสิ่งที่ตัวเองพูดจริงๆ ก็เป็นการบิดเบือนความจริง ในมุมมองของอาลีเรื่องนี้สะท้อนว่าปัญหาในอิรักไม่ได้มาจากเชื้อชาติหรือศาสนาแต่มาจากการปกครองแย่ๆ
เครื่องมือตรวจระเบิดนี้ถูกนำมาใช้ทั่วไปรวมถึงสถานที่ต้องการความปลอดภัยสูงอย่างหน้าสถานทูตหรือที่ทำการกระทรวงต่างๆ รวมถึงจุดตรวจแถวใกล้ย่านการค้าคาร์ราดาที่เกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
"มีคนจำนวนมากต้องตายเพราะแท่งพลาสติกนี่" เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด่านตรวจชื่อทิมิมีกล่าว เขาหวังว่าจะมีเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงเพื่อใช้คุ้มครองประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น