วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

'เกษตรกรใต้' ค้าน คสช.ใช้ ม.44 ใช้ประโยชน์อื่นในพื้นที่ ส.ป.ก. นอกเหนือจากการทำเกษตร


สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ออกแถลงการณ์ คัดค้าน มติ คสช. ใช้ ม.44 ทำประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม ระบุไม่คำนึงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมที่แท้จริงระหว่างเกษตรกรรายย่อย กับนายทุน
22 มิ.ย. 2560 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์ คัดค้าน มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ในการทำประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม

โดยระบุว่า ตามที่ โฆษกรัฐบาล ได้แถลงเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การประชุมของ คสช.มีมติให้ใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ในการทำประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การสำรวจปิโตเลี่ยม  การติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ การสำรวจทำเหมืองแร่ โดยให้กิจการเหล่านี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ทั้งนี้ ต้องการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ทั้ง 3 กิจการ รวมทั้งสิ้น 3.6 พันไร่ จากพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งหมด 41 ล้านไร่

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มีความเห็นคัดค้าน ต่อมติ คสช.ในเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผล ดังนี้ คือ 1. กิจการปิโตเลี่ยม เหมืองแร่ และการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันลม มิได้มีเจตนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เป็นการลงทุนของบริษัทฯ เพื่อแสวงหาผลกำไร เป็นจุดมุ่งหมายหลัก 2. ดังนั้น จึงมิควรที่ คสช.ที่ถือครองอำนาจรัฐ จะใช้อำนาจตาม มาตรา 44 มาเบียดบังเอาที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม ของเกษตรกร ที่จะได้เข้าใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ไปปรนเปรอความมั่งคั่งร่ำรวยให้นายทุน

3. มติ คสช. ดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ดำเนินไปในลักษณะ 2 มาตรฐาน กล่าวคือ มติ คสช.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. กำลังจะมอบที่ดินแปลงใหญ่ ให้กับบริษัทฯ หรือนายทุน ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ไม่นาน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน กลับมีมติจัดสรรที่ดินทำกินและอยู่อาศัยให้เกษตรกรเพียงครอบครัวละ 6 ไร่ เท่านั้น

เหตุการณ์นี้ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการดำเนินนโยบายของ คสช. และรัฐบาล ในปัจจุบัน มิได้เล็งเห็นถึงสิทธิ และความเท่าเทียมที่แท้จริงระหว่างเกษตรกรรายย่อย กับนายทุน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จึงขอแสดงความเห็นคัดค้าน มติ คสช. ในเรื่องการใช้ พื้นที่ในเขต ส ป.ก. เพื่อกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรกรรมและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
และขอเรียกร้อง ให้ยกเลิกมติดังกล่าว โดยด่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น