วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

‘ค่าโง่’เจ็ดพันล้านใครโง่ใครไม่โง่

ได้ยินข่าว “ค่าโง่” คลองด่านที่ทาง “อนุญาโตตุลาการ” มีคำวินิจฉัยออกมามีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านบาท ฟังดูหลายคนที่ไม่เข้าใจในระบบกฎหมายคงอุทานด้วยความกังวลและงงงวยกับคำตัดสินของ “อนุญาโตตุลาการ” ว่าเหตุใดจึงมีเมตตาให้กับฝ่ายที่ชนะการตัดสินได้ค่าชดเชยไปมากถึงเพียงนั้น

ก็ต้องทำความเข้าใจในระบบอนุญาโตตุลาการก่อนว่า เป็นระบบที่ปัจจุบันในการทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนมักจะมีข้อกำหนดเอาไว้ข้อหนึ่ง หากในกรณีมีข้อพิพาทก็จะให้ต่างฝ่ายต่างเลือกตัวแทนเข้าไปฝ่ายละ 1 คน รวมกับคนกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความไว้วางใจอีก 1 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่ขึ้นบัญชีไว้กับศาล รวมเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ 3 คน ซึ่งอนุญาโตตุลาการแต่ละคนต้องมีคำวินิจฉัยส่วนตัวและร่วมกันทำคำวินิจฉัยกลาง เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักใช้เสียงข้างมาก

ปรกติในสัญญาขนาดใหญ่เมกะโปรเจกต์ทั้งหลายต้องการให้ก่อนฟ้องคดี ซึ่งจะกินเวลานาน ต้องให้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หากไม่เห็นด้วยก็สามารถไปยื่นร้องขอต่อศาลให้บังคับผลการชี้ขาดได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไปสู่ศาลปกครอง

ก็ต้องเรียนให้ทราบว่าในการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนในหลายกรณี เหตุใดจึงถูกอนุญาโตตุลาการชี้ให้เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเกือบจะทุกคดี ก็ต้องบอกว่าการที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสกำหนดให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถืออยู่อั​นดับเจ็ดสิบแปดสิบของโลกตีคู่กับประเทศอย่างอินเดีย ฟิลิปปินส์ เพราะว่า “ที่ใดไม่มีควัน ก็ไม่มีไฟ”

เขียนอย่างนี้คนไม่เข้าใจก็จะยิ่งสับสน แต่พูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คือ การโกงกันของคนในสังคมไทยนั้นมีเกือบทุกหย่อมหญ้า คงจำได้ดีว่าก่อนคดี “ค่าโง่คลองด่าน” เรามีมาแล้วทั้ง “ค่าโง่ทางด่วน” “ค่าโง่เรือขุด” “ค่าโง่โทลล์เวย์” “ค่าโง่รถและเรือดับเพลิง” และคาดว่า “จะมีค่าโง่อื่นๆตามมาอีกหลายระลอก”

ทั้งนี้ ต้องเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ที่เรียกว่า “ค่าโง่” นั้นไม่ใช่ “สิ่งที่เกิดจากความโง่” อย่างแท้จริง แต่เป็น “ความฉลาดในการฉ้อฉล ยักยอก และโกงกินอย่างแยบยลของนักการเมือง” ทุกยุคทุกสมัย ไม่เลือกว่าเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือเผด็จการ

เราคงจำได้ว่าแม้แต่เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ไล่เรียงไปกระทั่งเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิด ถ้าไม่มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการผู้ไม่มีส่วนได้ผลประโยชน์ทับซ้อนกับใครออกมาเฉลยถึง “ความขี้โกง” ป่านนี้เราคงได้เห็นเจ้าหน้าที่ถือ “ท่อนเหล็กเสมือนไม้ล้างป่าช้า” ไปกวาดวัตถุระเบิดอยู่แถวๆชายแดนภาคใต้ และอาจจะอีกหลายจุดที่อ้างว่ามีการลอบวางวัตถุระเบิดกันให้เป็นที่อุจาดตากันไปเรียบ​ร้อย

นี่คือปรากฏการณ์ทางสังคมไทยที่หากเราไม่คิดจะทำอะไรกันอย่างจริงจังในวันนี้ ต่อให้มีองค์กรอิสระดีแท้แค่ไหน กี่องค์กร ก็คงเอา “นักการเมืองชั้นเลว” ที่เข้ามากอบโกยเอาผลประโยชน์แบบไม่บันยะบันยังไม่อยู่มืออย่างแน่แท้

http://www.dailyworldtoday.com/columblan...m_id=49158

*********************************************************

ชาวบ้านค้านรัฐจ่ายค่าโง่คลองด่าน

จากการกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แพ้คดีและจะต้องจ่ายค่าโง่ ซึ่งหมายถึงค่าจ้างค้างจ่าย ค่าเสียหายในกรณีต่างๆ รวมถึงค่าปรับและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น แก่บริษัทเอกชน และล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 กุมภาพันธ์ 54) นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดี คพ. ได้แถลงข่าวค้านผลการจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9,000 ล้านบาท และยังแสดงเจตนาที่จะต้องการเดินหน้าโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านอีกนั้น

นางดาวัลย์ จันทรหัสดี แกนนำชาวบ้านคลองด่านที่ต่อสู้กับโครงการนี้จนกระทั่งรัฐบาลได้สั่งยุติโครงการอย่าง​เป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 กล่าวแสดงความเห็นต่อคำแถลงของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ คพ. ที่ออกมาคัดค้านและไม่ยอมรับคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ขณะเดียวกันก็เห็นว่า เมื่อ คพ. ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว สิ่งที่ คพ. ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนมี 3 ข้อด้วยก้นเพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียค่าโง่แก่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ได้โกงกินบ้านเมืองไปแล้วครั้งหนึ่งนั่นคือ

1. คพ. ต้องรีบร้องขอต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลแพ่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 90 วันตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเรื่องนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 นั่นหมายถึง คพ. ต้องร้องขอต่อศาลแพ่งไม่เกินวันที่ 12 เมษายน 2554 ข้อสำคัญคือ คพ. จะต้องเอาผลคำตัดสินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 2 คดีไปประกอบการร้องขอต่อศาลแพ่งคือ 1) คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งตัดสินจำคุกนายวัฒนา อัศวเหมเป็นเวลา 10 ปีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 และ 2) คดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดิน ที่ศาลแขวงดุสิตได้ตัดสินไปแล้วโดยสั่งจำคุกจำเลยที่เป็นบุคคลคนละ 3 ปี และสั่งปรับนิติบุคคลรายละ 6000 บาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552

2. คพ. ควรนำผลจากคำตัดสินของคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินมาขยายผลเพื่อประโยชน์ขอ​งประเทศต่อไป ด้วยการนำมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือกิจการร่ว​มค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เรื่องที่ คพ. ต้องเร่งทำโดยทันทีด้วย ไม่ควรปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป เนื่องจากศาลแขวงได้ตัดสินคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินไปแล้วปีกว่า

3. ถ้าหาก คพ. ปล่อยเรื่องนี้ให้นานออกไป จะมีผลเสียต่อประเทศมากไปกว่านี้และจะส่งผลให้ คพ. แพ้อุทธรณ์ในคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินที่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้ยื่นอุทธรณ์อยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ นางดาวัลย์ จันทรหัสดียังมีความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมต่อคำแถลงของนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดี คพ. ที่กล่าวเมื่อวานนี้ (11 กพ. 54) ด้วยว่า คำแถลงของอธิบดี คพ. ที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ และพฤติกรรมของ คพ. ที่ผ่านๆ มาที่ต้องการฟื้นคืนบ่อบำบัดน้ำเสียมีความขัดแย้งกันเอง โดยตนรู้สึกว่า คพ. มีเจตนาต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะในเรื่องนี้และเตะถ่วงเวลาออกไปเพื่อให้ค​ำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมีผลบังคับเกิดขึ้น นั่นคือให้รัฐบาลจ่ายค่าโง่แก่เอกชน เพราะจากการที่ตัวเองได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้ติดตามในส่วนของการต่อสู้คดีความของ คพ. มาอย่างใกล้ชิด มีความเห็นว่า “ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความพยายามที่จะให้ฝ่าย คพ. แพ้คดีความทั้งหมด เช่น หลังจากที่ คพ. ประกาศให้สัญญาโครงการคลองด่านเป็นโมฆะและมีการฟ้องร้องคดีตามมา โดย คพ. ได้ว่าจ้างทนายเอกชนมืออาชีพเข้ามาดำเนินการฟ้องร้องบริษัทเป็นคดีอาญาที่ศาลแขวงฐาน​ฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินเพื่อทำให้คดีความสามารถดำเนินการไปได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายในกระทรวงทร้พย์ฯ เกิดขึ้น คพ. ก็เปลี่ยนท่าทีและมีความพยายามจากฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการให้มีการถอนคดีฟ้องร้องเพื่อเอาผิดกับบุคคลและบริษัทเอกชนที่ฉ้อโกง เมื่อไม่สามารถถอนคดีได้ก็ใช้วิธีเปลี่ยนตัวทนายความระหว่างไต่สวนคดีแทน ซึ่งการเปลี่ยนตัวทนายระหว่างทางที่คดียังไม่ถึงที่สุดเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำกัน”

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ การที่อธิบดี คพ. บอกว่าจะต้องส่งสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไปให้กระทรวงการคลังพิจารณา ว่าถ้าหากกระทรวงการคลังเห็นด้วยและชี้ขาดให้จ่ายเงินแก่เอกชน คพ. ก็จะยินดีจ่ายเงินตามคำสั่ง ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังในต้นเดือนมีนาคมปีนี้

“ดิฉันเห็นว่า หาก คพ. จะรอผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังแล้วค่อยดำเนินการในเรื่องนี้ ดิฉันเห็นว่า มันนานเกินไป” นางดาวัลย์กล่าว และยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการต่อสู้คดีกันอยู่ คพ. มีความพยายามต่างต่างนานาที่จะเอาโครงการกลับคืนมา โดยตัวอธิบดี คพ. คือ คุณสุพัฒน์ ได้เสนอเรื่องไปยังคุณอนงค์วรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยฯ ในสมัยนั้นให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการให​้สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทกับเอกชนได้ และเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการทับลงบนลำคลองส​าธารณะและที่สาธารณะต่อไปได้จนแล้วเสร็จ

ทั้งนี้นางดาวัลย์ได้กล่าวว่า ความพยายามดังกล่าวของ คพ. ในช่วงที่ผ่านมาจะมีผลทำให้รัฐต้องยอมรับงานก่อสร้างทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่สาม​ารถใช้การได้ นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทเอกชนเป็นฝ่ายได้เปรียบในการต่อสู้คดีความในอนาคตอีกด้วย นางดาวัลย์จึงเรียกร้องให้ คพ ต้องหยุดพฤติกรรมการเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างเกี่ยวกับโครงการบ่อบำบัดน้ำ​เสียคลองด่านได้แล้ว

http://prachatai3.info/journal/2011/02/33085

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น