วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


ทหารกับความเป็นกลางทางการเมือง
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10715


       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย ชายชาติ ชื่นประชา
         สัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่อแววว่าจะมีการเลือกตั้งในอนาคต เนื่องจากทั้งรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญได้ทำตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มจะมีการเลือกตั้งหลายส่วนก็กังวลว่าผู้มีอำนาจแต่ละฝ่ายทำท่าจะใช้กลเม็ดต่างๆให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายที่ถืออำนาจตัวจริงกลับไม่แสดงท่าทีที่จะสนับสนุนหรือทำให้การเลือกตั้งมีความยุติธรรม กลับยังหาวิธีการที่จะรักษาอำนาจไว้ด้วยวิธีพิเศษต่างๆ


สัญญาณที่พอจับทางได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้เริ่มต้นมานานแล้วคือ การใช้กรณีชาตินิยมเพื่อปลุกระดมความรักชาติของคนไทย เช่น พยายามทำให้เกิดสงครามย่อยๆกับกัมพูชา ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วปัญหาไม่น่าจะเกิดจากกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้น เพราะตัวแปรต่างๆของฝั่งกัมพูชามีลักษณะคงที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานะของสมเด็จฮุน เซน ที่ปกครองบ้านเมืองยาวนานจนแทบจะเป็นเผด็จการไปแล้ว ก็เป็นเรื่องปรกติหรือเป็นที่รับรู้กัน


ในขณะนี้กัมพูชายังไม่ถึงเวลาที่จะเลือกตั้ง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาเรื่องกับประเทศไทยเพื่อสร้างคะแนนนิยม นอกจากนั้นเหตุผลที่จะสนับสนุนให้นายพลฮุน มาเน็ต ลูกชายของสมเด็จฮุน เซน ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นก็ไม่เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลที่จะก่อศึกกับไทย เพราะหากคำนวณหรือเปรียบเทียบศักยภาพของกำลังกันแล้วกัมพูชาไม่น่าจะเปิดฉากใช้กำลังทหารกับไทย
เท่ากับว่าตัวแปรฝั่งกัมพูชาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงสรุปได้ว่าฝ่ายไทยต่างหาก โดยกลุ่มอีลิตพยายามปลุกสำนึกประชาชนด้วยการใช้ข้อพิพาททางทหาร หรือความรุนแรงน้องๆสงคราม เพื่อปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมของคนไทยให้เกิดขึ้น เผื่อจะสามารถดึงเอาเป็นเครื่องมือพิเศษเพื่อต่อยอดและขยายอำนาจให้รัฐบาลคงอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าเลือกตั้งอย่างไรก็แพ้พรรคคนเสื้อแดง เพราะทำโพลแล้วหลายระดับ รวมถึงข้อเท็จจริงในสังคมที่หลายฝ่ายต่างสังเกตเห็น


ผู้เขียนเคยย้ำว่าฝ่ายอีลิตเคยใช้เครื่องมือนี้มาแล้วแต่ก็ประสบความล้มเหลวซ้ำซาก เพราะประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะสีอะไรวันนี้ฉลาดและต่างปฏิเสธสงครามหรือการรบพุ่งกัน เนื่องจากผู้คนอยู่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยมานาน มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว และเคยชินกับวิถีชีวิตแบบโลกเสรีแบบทุนนิยม จึงไม่น่าจะตกระกำลำบากทำให้ตัวเองหรือประเทศชาติเข้าสู่วังวนความขัดแย้งรุนแรงระดับสงครามอีก


จำได้ว่าตอนเกิดเหตุการณ์รุนแรง ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่พอใจ ไม่ว่าจะฝ่ายไหนหรือใครก็ตามที่เป็นตัวการก่อให้เกิดความรุนแรง และยังปฏิเสธการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว


วลีเด็ดของผู้บัญชาการทหารบกที่กล่าวว่าจะยึดประเทศกัมพูชาเสียก็ได้หากรัฐบาลสั่งมา จึงไม่เกิดผลทางจิตวิทยาอย่างที่คนพูดอยากให้เกิด เพราะไม่ได้สร้างภาพความเป็นฮีโร่เลย แต่กลับสะท้อนความไร้สามัญสำนึกหรือก้าวไม่ทันโลกของคนที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ซึ่งคำพูดแต่ละคำอาจจุดไฟความตึงเครียดระหว่างประเทศขึ้นได้


ในยุคของผู้บัญชาการทหารบกคนนี้แหละที่ดูเหมือนทหารจะถอยหลังกลับไปสู่ภาพ ลักษณ์โบราณเดิมๆ ทั้งกรณีไม่รู้กาลเทศะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงการส่งสัญญาณหรือไม่ห้ามปรามลูกน้องที่ออกมาตบเท้าแสดงพลัง ซึ่งถูกโลกสากลตีความว่าเป็นการคุกคามสภาวะประชาธิปไตย เพราะในต่างประเทศ ทหารในฐานะเป็นองค์กรไม่มีสิทธิแสดงตนว่าจะเลือกข้างอยู่ฟากฝั่งใดทางการเมือง


การที่เป็นกองกำลังถืออาวุธจึงต้องยืนตรงกลางเท่านั้น ประชาชนต่างหากที่จะตัดสินใจเลือกข้างทางการเมือง ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทหารต้องกลับไปเป็นคนกลางรับใช้ประชาชนในบั้นปลาย


บทบาทของทหารวันนี้จึงหมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียความเป็นกลาง และถ้าหากยังดำรงจุดยืนเลือกข้างอยู่เช่นนี้ทหารก็จะเกิดอคติ เมื่อแนวโน้มว่าสังคมฝั่งตรงข้ามกับที่ทหารสนับสนุนมีแววแข็งแกร่งขึ้น จึงกระโดดไปร่วมวงสกัดกั้นและใช้เครื่องมือต่างๆช่วยเหลือฝ่ายที่สนับสนุน เพราะเกรงว่าจะแพ้แล้วจะถูกกวาดล้างหรือสูญเสียผลประโยชน์ จึงยิ่งทำให้ต้องพยายามหาทางรักษาอำนาจเดิมไว้ให้นานที่สุด


เหตุการณ์เช่นนี้แหละทำให้กองทัพเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองแบบสมัยโบราณอย่างถอนตัวไม่ขึ้น


ครั้งที่แล้วมีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารจนสำเร็จมาแล้ว ครั้งนี้ยังไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจจะใช้ทหารเพื่อรักษาฐานการเมืองในรูปแบบไหนอีก แต่จะใช้เครื่องมือเดิมๆและใช้กำลังทหารปฏิวัติน่าจะพ้นสมัยไปแล้ว เพราะถ้าหากทำก็คงสำเร็จ แต่วันรุ่งขึ้นจะพาประเทศเดินต่อไปอย่างไร ทางที่ดีผู้นำทหารต้องใช้สติปัญญาทบทวนและเลือกทางเดินเพื่อให้บทบาทของกองทัพมีความเป็นสากลและสนับสนุนประชาธิปไตย ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกทางเดินกันเองดีกว่า


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 
คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น