วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554


เปิดคำพิพากษาศาลให้ทหารชดใช้ค่าเสียหายเหยื่อเสื้อแดง
เหตุยิงคนมือเปล่าไร้อาวุธผิดกฎใช้กำลัง
เมื่อโจทก์ทั้งสองยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอาวุธ และฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้ง ทั้งยังเบิกความตอบคำถามค้านรับว่าไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมถืออาวุธปืนไม่ว่าชนิดใด โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุคคลที่จะเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายทหารใช้กำลังอาวุธประจำกายต่อโจทก์ทั้งสองได้ เพราะตามกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยตามเอกสารหมาย ล.12 ผนวก จ.ข้อ 5.8 ทหารที่ปฏิบัติการปราบจลาจลจะใช้กำลังได้เฉพาะเพื่อป้องกันตนเอง หรือป้องกันชีวิตผู้อื่นจากอันตรายใกล้จะถึงจากกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธเท่านั้น

ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด
23 สิงหาคม 2554

หมายเหตุ - จากเหตุการณ์สลายม็อบนปช.เมื่อเดือนเม.ย.2552 มีผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ต่อมานายไสว ทองอุ้ม และนายสนอง พานทอง ผู้ร่วมชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ดำเนินคดีจำเลย 5 ราย ได้แก่ จำเลยที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 กองบัญชาการกองทัพไทย จำเลยที่ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำเลยที่ 4 พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ และจำเลยที่ 5 กองทัพบก ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2,857,534 บาท และ 2,245,205 บาท ตามลำดับ ศาลรับฟ้องแค่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ก่อนมีคำพิพากษาออกเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2554 และจากนี้คือคำพิพากษาบางส่วน...



โจทก์บรรยายฟ้องว่าในวันที่ 13 เมษายน 2552 เวลา 2 นาฬิกา มีการสั่งการให้ใช้กำลังทหารบกเข้าระงับเหตุและเปิดการจราจรบริเวณสี่แยกใต้ทางด่วนดินแดง ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งร่วมชุมนุมอยู่ด้วยถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ที่ 1 ถูกยิงที่ไหล่ซ้ายเป็นเหตุให้ไม่สามารถกลับมาใช้แขนซ้ายได้ตามปกติอีก โจทก์ที่ 2 ถูกยิงหัวเข่าขวาลูกสะบ้าแตกไม่สามารถใช้ขาข้างขวาได้ตามปกติอีก โจทก์ทั้งสองจึงกลายเป็นผู้พิการ

ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การต่อสู้ว่า ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 13 เมษายน 2552 ดังกล่าว กองกำลังทหารได้รับการต่อต้านจากกลุ่มนปช. โดยใช้ระเบิดเพลิง แก๊สน้ำตา และใช้พลซุ่มยิงด้วยปืนพก การปฏิบัติภารกิจของทหารจึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงไม่มีความรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่า กองกำลังทหารบกกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า กองกำลังทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจในวันเกิดเหตุ ประกอบด้วย กองกำลังทหารจากสองกองพัน คือ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

ฝ่ายโจทก์เบิกความว่า กองกำลังทหารตั้งแถวเดินเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม แถวแรกเดินถือไม้เคาะโล่เข้าหาผู้ชุมนุม แถวที่สองและแถวที่สามซึ่งถือปืนบางส่วนยิงปืนขึ้นฟ้า บางส่วนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมแตกกระเจิง โจทก์ที่ 1 จึงตามรถแกนนำไป แต่ขณะที่โจทก์ที่ 1 เอี้ยวตัวกลับเพื่อหันมามองทหารที่อยู่ด้านหลัง จึงถูกยิงที่หัวไหล่ซ้ายล้มลงหมดสติ

โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เห็นแถวทหารเดินเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม โดยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ เมื่อผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว จึงยิงในแนวระนาบ แล้วกระจายตัวตีโอบล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการอลหม่าน ผู้ชุมนุมบางส่วนล้มลง โจทก์ที่ 2 เห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกยิงล้มลงจึงเข้าไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ถูกยิงเข้าที่หัวเข่า และทหารกรูกันเข้ามาเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกกระเจิง โจทก์ที่ 2 จึงกระโดดหนีลงในคลองริมถนนวิภาวดีรังสิต

พยานโจทก์บรรยายให้เห็นเหตุการณ์ที่โจทก์ทั้งสองประสบว่า เป็น เหตุการณ์ที่เกิดอย่างต่อเนื่องกันมาว่ากองกำลังทหารตั้งแถวเข้ายึดคืนพื้นที่ โดยเดินมุ่งเข้ากลุ่มผู้ชุมนุม มีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ให้ฝ่ายผู้ชุมนุมยอมล่าถอย เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว ทหารจึงหันมายิงในแนวระนาบ จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ชุมนุมแตกกระเจิงและเกิดการอลหม่าน ขึ้น โจทก์ที่ 1 วิ่งหนีกลุ่มทหารตามรถของแกนนำไป แต่ขณะที่กำลังหันกลับมามองกลุ่มทหารที่อยู่ด้านหลัง จึงถูกยิงที่หัวไหล่ซ้ายดังกล่าว

ส่วนโจทก์ที่ 2 เบิกความให้เห็นภาพการปฏิบัติการของฝ่ายทหารได้อย่างสอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 ในขณะนั้นโจทก์ที่ 2 เห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกทหารยิงล้มลง จึงเข้าไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ถูกยิงที่หัวเข่า ทหารกรูกันเข้ามา โจทก์ที่ 2 กลัวถูกทำร้ายอีก จึงวิ่งกระโดดลงคูน้ำข้างถนนวิภาวดีรังสิต และเบิกความต่อไปว่ากลุ่มทหารยังไล่ตามมาปาก้อนอิฐก้อนหินและอื่นๆ เข้าใส่ จนกระทั่งมีนายทหารคนหนึ่งมาบอกให้กลุ่มทหารเหล่านั้นหยุด และส่งไม้ให้โจทก์ที่ 2 เกาะขึ้นฝั่งมา

เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 5 มีคำสั่งให้กองกำลังทหารซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาและสังกัดของตนตามลำดับขั้นเข้าปฏิบัติภารกิจเพื่อยึดคืนพื้นที่และเปิดผิวการจราจรในบริเวณที่เกิดเหตุในยามวิกาล ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยหลักสากล แม้จะได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงได้ในการปฏิบัติภารกิจ

แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอาวุธ และฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้ง ทั้งยังเบิกความตอบคำถามค้านรับว่าไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมถืออาวุธปืนไม่ว่าชนิดใด โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุคคลที่จะเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายทหารใช้กำลังอาวุธประจำกายต่อโจทก์ทั้งสองได้ เพราะตามกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยตามเอกสารหมาย ล.12 ผนวก จ.ข้อ 5.8 ทหารที่ปฏิบัติการปราบจลาจลจะใช้กำลังได้เฉพาะเพื่อป้องกันตนเอง หรือป้องกันชีวิตผู้อื่นจากอันตรายใกล้จะถึงจากกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธเท่านั้น

การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยใช้กำลังทหารติดอาวุธ โดยสภาพย่อมต้องกระทำโดยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะการใช้วิธีการดังกล่าวย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมโดยสุจริตได้ เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหารในบังคับบัญชาตามคำสั่งและในสังกัดของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ก่อผลให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

เมื่อฟังได้ว่าบุคคลในกองกำลังทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจในวันเกิดเหตุ ซึ่งพยานจำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่ามีเฉพาะกองกำลังทหารบกเป็นผู้ยิงโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเพราะการนั้น จึงเป็นการเพียงพอที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดตามลำดับชั้นต้องรับผิดจากผลแห่งการละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

โจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียโอกาสจากการประกอบการงานเป็นเวลา 20 ปี รวมเป็นเงิน 2,400,000 บาทนั้น เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างตามจำนวนดังกล่าวนั้นจริง และโจทก์ที่ 1 ยังสามารถประกอบอาชีพอื่นได้บ้าง เห็นสมควรกำหนดค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเป็นเงิน 1,000,000 บาท ส่วนค่าทนทุกขเวทนาขณะรับการรักษาและต้องพิการ เห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดให้ตามนั้น

สำหรับโจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียโอกาสจากการประกอบการงานเป็นเวลา 25 ปี เป็นเงิน 1,800,000 บาท แต่เห็นว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งหมด จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จำนวน 800,000 บาท ส่วนค่าทนทุกขเวทนาดังกล่าวเห็นสมควรกำหนดให้ตามที่ขอ

พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,200,000 บาท และร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2552 เป็นต้นไป กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

*********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:เปิดใจสลด 2นปช.ชนะคดี แฉถูกยิงแขนขาพิการ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น