วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ลิงหลอกไพร่



ลิงหลอกไพร่ 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:30:41 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 17 ก.ย. 2555 )


          ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปราศจากความกลัวทุกชนิดอย่างพระอรหันต์ คนเราคงโกหกทุกคน สีดำบ้าง สีขาวบ้าง สีชมพูแก่สาวๆ บ้างเป็นธรรมดา 


         ในฐานะปุถุชน ผมคงอายที่จะประณามคนโกหกอย่างสาดเสียเทเสีย แม้ไม่ได้คิดว่าการโกหกเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยอมรับว่าเป็นบาปที่สะท้อนความอ่อนแอของความเป็นมนุษย์ของทุกคนด้วย  


          แม้เราต้องมีชีวิตท่ามกลางการโกหกหลอกลวง กระนั้นเราก็มีกติกาในทางโลกบางอย่างเกี่ยวกับการโกหกอยู่เหมือนกัน 


          นั่นคือคนในบาง "ฐานะ" โกหกไม่ได้

           ที่สำคัญคือนักการเมือง ไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ในวงการเมืองจะหลอกเมียไม่ได้เลยนะครับ ตอนที่เขาหลอกเมียนั้น เขาไม่ได้หลอกใน "ฐานะ" นักการเมือง แต่หลอกในฐานะสามี จึงไม่ได้อยู่ในกติกาห้ามโกหกอย่างเด็ดขาด  


           แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาทำหน้าที่ "นักการเมือง" เขาโกหกไม่ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือใช้ข้อมูลเท็จที่ตัวรู้อยู่แล้วว่าเท็จในการดำเนินการทางการเมืองไม่ได้ อย่างมากที่สุดคือไม่พูดอะไรเลย แม้แต่ถูกถามก็พูดได้เพียงว่าโน คอมเมนต์ หรือไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น (ซึ่งทำให้ใครๆ ก็รู้ว่าสิ่งที่ถามนั้นจริง หรืออย่างน้อยก็มีมูลอยู่มาก)  


           เพราะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำงานอยู่ได้ไม่ใช่เพียงเพราะชนะการเลือกตั้ง, นายกฯ แต่งตั้ง, หรือสภายังให้ความไว้วางใจอยู่ ที่สำคัญเหนือทั้งหมดที่กล่าวนั้น คือความไว้วางใจ (trust) ของประชาชน แม้แต่ดำเนินนโยบายที่ประชาชนไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยประชาชนก็เชื่อถือว่าดำเนินไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ประชาชนจึงพร้อมจะลงมาคัดค้านต่อสู้กับนโยบายนั้น... ด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นกัน

           ระบบการตรวจสอบเท่าที่ระบอบประชาธิปไตยสามารถสร้างขึ้นได้นั้น ไม่อาจทำงานได้เลยหากนักการเมืองเลือกวิธีกล่าวเท็จ นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงอาจเผด็จอำนาจที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ไปทั้งหมด ถึงถูกจับได้ ประชาชนก็หมดความไว้วางใจ การต่อสู้คัดค้านนโยบายของนักการเมืองคนนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่วิธีที่ไม่เปิดเผยตรงไปตรงมา หรือที่เรียกกันว่าวิธีสกปรก ระบบการเมืองทั้งระบบก็เสื่อมลง

           ในการเมืองของระบอบประชาธิปไตย บาปที่ใครๆ ก็ทำกันทั่วไป แต่ทำใน "ฐานะ" นักการเมืองไม่ได้ นั่นคือการโกหก เช่นเดียวกันกับหมอ หากฆ่าคนใน "ฐานะ" หรือทำหน้าที่เป็นแพทย์ย่อมผิดมหันต์ เพราะคนไข้เข้ารับการรักษาด้วยความวางใจว่าหมอไม่มีความประสงค์ต่อชีวิตของเขา จึงปล่อยปละละเลยที่จะป้องกันตนเอง ยอมเชื่อฟังคำสั่งของหมออย่างเต็มที่ หากหมอฆ่าคนไข้ในกระบวนการรักษา ย่อมทำลายกระบวนการรักษาพยาบาลลงไปทั้งหมด  


           แต่หมออาจหลงผิดฆ่าเพื่อน ฆ่าพยาบาล ฆ่าศัตรู ฆ่าคนร้ายได้เหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เพราะเขาไม่ได้ฆ่าใน "ฐานะ" หมอ แน่นอนว่าเขามีความผิดแน่ แต่ไม่ใช่ความผิดมหันต์ต่อสังคมเท่ากับจงใจฆ่าคนไข้ในกระบวนการรักษา  


           แต่หมอโกหกใน "ฐานะ" หมอได้ และหมอหลายคนก็เคยโกหก โดยเฉพาะสีขาวแก่คนไข้มาแล้ว แถมยังถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของหมอด้วยซ้ำ

           แต่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโกหกใน "ฐานะ" นักการเมืองไม่ได้เด็ดขาด 


           เช่นเดียวกับคนทำสื่อ จะโกหกในรายงานข่าวไม่ได้เด็ดขาด แม้โดยส่วนตัวจะเป็นคนคล็อกขนาดไหนก็ตาม  


           ผมออกจะสงสัยว่า นักการเมืองไทยเข้าใจประเด็นนี้ไม่ชัดนัก ฝ่ายค้านประณามการโกหก (ที่อ้างว่าสีขาว) ของรัฐมนตรีคลัง เหมือนผู้ใหญ่กำลังดุเด็กโกหก บางคนอาจพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่คนที่หลงเชื่อคำพูดของรัฐมนตรีคลัง แต่ไม่มีใครพูดถึงการละเมิดกติกาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย  


           แม้ตัวรัฐมนตรีเอง เมื่อแถลงว่าตัวโกหกสีขาว ก็ทำท่าว่าโกหกเพื่อชาติไปอีกคน หาเข้าใจไม่ว่า บาปที่ตัวทำนั้น เป็นบาปที่อภัยไม่ได้ในการเมืองของระบอบประชาธิปไตย บางคนเชื่อว่า มีเฉพาะนักการทูตเท่านั้นที่สามารถโกหกเพื่อชาติได้โดยไม่ต้องตกนรก แต่นักการเมืองทำไม่ได้ 


            และบางทีคนไทยทั่วไปก็อาจไม่เข้าใจประเด็นนี้ชัดนักก็ได้

            หลายสิบปีมาแล้ว รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษชื่อนายโปรฟิวโม ไปดู๋ดี๋กับนางแบบ
            สาวคนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาหน่วยข่าวกรองจับได้ว่า นางแบบคนนั้นเป็นสายลับของโซเวียตด้วย เมื่อเรื่องแดงขึ้น ฝ่ายค้านในสภาก็ซักถามนายโปรฟิวโมเรื่องนี้ แต่นายโปรฟิวโมโกหกหลายเรื่อง เช่นยอมรับว่ารู้จักกับนางแบบจริง แต่ไม่ถึงขั้นดู๋ดี๋ โกหกว่าไม่เคยหิ้วกระเป๋าซึ่งมีเอกสารลับของราชการไปพบนางแบบ ฯลฯ   


           ในที่สุดฝ่ายค้านและสื่ออังกฤษก็จับได้ว่า คำให้การของเขาต่อสภาเป็นการโกหก นายกฯ จึงต้องบีบให้เขาลาออกไป  


            สื่อในเมืองไทยรายงานเรื่องนี้ว่า เพราะรัฐมนตรีไปดู๋ดี๋กับนางแบบ ทำให้อยู่ในตำแหน่งไม่ได้ เพราะอาจเอาความลับทางทหารของอังกฤษไปกระซิบข้างหูของคู่นอน 


            แต่นั่นเป็นต้นเหตุมากกว่าเป็นสาเหตุ ความผิดมหันต์ที่ทำให้นายโปรฟิวโมอยู่ในวงการเมืองไม่ได้ ก็เพราะเขาโกหกต่อสภา จะตั้งกระทู้อะไรให้ตายก็ไร้ความหมาย หากผู้ตอบใช้การโกหกเป็นเครื่องมือในการตอบกระทู้เพราะเมื่อไรที่นักการเมืองโกหก ไม่ว่าจะโกหกสีอะไรก็ตาม ยากมากที่สังคมจะตรวจสอบได้ 

             แต่เพราะทั้งสังคมและนักการเมืองไทย ไม่ค่อยตระหนักถึงความผิดมหันต์ในการโกหกทางการเมือง เห็นการโกหกว่าเป็นการละเมิดศีลห้าเท่านั้นผมจึง "รู้สึก" ว่า (ใช้คำว่ารู้สึกเพราะขี้เกียจไปตรวจสอบเพื่อจับโกหก) นักการเมืองไทยนั้นโกหกเป็นไฟแลบทั้งนั้น ขนาดมีคลิปเสียง  แสดงได้ชัดเจน ก็ยังหานักวิชาการมายืนยันว่า คลิปนั้นถูกตัดต่อ โดยไม่พูดว่าเนื้อหาสาระในคลิปนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ จนในที่สุด ดูเหมือนจะมีความเห็นทั่วไปว่าการโกหกทางการเมือง กับการโกหกเมียนั้น เป็นความผิดเท่าๆ กัน ในทางศีลธรรมนั้น จะเท่ากันหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ในทางความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย ผมเห็นว่าต่างกันไกล เพราะถ้าเรายอมให้นักการเมืองโกหกได้ อำนาจในการตรวจสอบก็หายไปครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย  


            การที่ทั้งนักการเมืองไทย และคนไทยจำนวนมาก มองไม่เห็นภยันตรายของการโกหกต่อระบอบการปกครองนั้น คงไม่ใช่เพราะคนไทยใจบาปหยาบช้า แต่เพราะในวัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสูงมาก และอาจมองเห็นอย่างเดียวกับลัทธิขงจื๊อว่า ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างบุคคลนั่นแหละคือรากฐานที่สำคัญสุดของความสัมพันธ์ที่ราบรื่นในสังคม (จึงเชื่อว่าการ ?จับเข่าคุยกัน" เป็นการระงับความขัดแย้งทางสังคมที่ได้ผลที่สุด)   


             การโกหกเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย รักษาความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างบุคคลไว้ย่อมสำคัญกว่าโดยไม่แยกว่า โกหกใน "ฐานะ" อะไร

             ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากเดาว่า ต่อกรณีรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังพูดเองแบบไม่รู้สึกอะไรเลยว่าตัวโกหกนั้น คงไม่เกิดผลอะไรทางการเมืองแก่ผู้โกหกทางการเมืองผู้นี้นัก  เขาจะต้องถูกตั้งกระทู้โดยนักการเมือง ที่ไม่ได้เชื่อว่า การโกหกต่อสาธารณชนใน "ฐานะ" นักการเมืองนั้น เป็นการละเมิดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ถึงไม่มีโทษทางกฎหมายแต่เลวร้ายยิ่งกว่า ม.112  กระทู้จะถูกถาม และตอบท่ามกลางความไม่ใส่ใจอย่างจริงจังของรัฐสภา ของนายกฯ และของสังคมในวงกว้าง ใครๆ ก็พูดโกหกกันบ้าง คนละนิดคนละหน่อย แล้วทำไมรองนายกฯ จะโกหกบ้างไม่ได้  และเมื่อนายกฯ ยังไม่ใส่ใจ คู่แข่งทางการเมืองของเขาย่อมบ่อนเซาะเก้าอี้ของเขาได้ยากเป็นธรรมดา

             ส่วนจะเกิด "ฟ้าผ่า" มาจากต่างประเทศหรือไม่ คำตอบก็ดูไม่แน่นอนนัก เพราะเท่าที่เขาร่ำลือกันมีสองคำตอบ ประการแรกเจ้าของสายฟ้าในต่างประเทศก็เหมือนนักการเมืองไทยทั่วไป กล่าวคือ  


ไม่ได้มองเห็นการโกหกในหน้าที่นักการเมืองเป็นเรื่องร้ายแรงนัก ซ้ำประเด็นยังไม่ก่อให้เกิดความรังเกียจนักการเมืองโกหกในหมู่ผู้เลือกตั้งไทยเสียอีก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องลั่นสายฟ้าลงมาจากต่างประเทศ

             ที่ร่ำลือกันอย่างที่สองก็คือ ว่ากันว่าท่านนายกฯ ได้ตั้งสายล่อฟ้าขึ้นเหนือทำเนียบได้สำเร็จแล้ว "คุณปู" เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมากด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่เพียงเพราะโคตรเหง้าเหล่าตระกูลเหมือนเดิม จึงไม่ต้องเกรงสายฟ้าจากต่างประเทศมากนัก ในขณะที่รองนายกฯ ที่โกหกสีขาว เป็นที่ไว้วางใจของท่านนายกฯ มาก อย่างไรเสียก็ต้องเก็บไว้ใน ครม.เหมือนเดิม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น