วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โทษประหาร


 
โทษประหาร
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 89


            "ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา 31 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมาย หรือทางปฏิบัติ แต่ประเทศ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และเยเมน ยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก โดยที่หลายกรณีมีความขัดแย้งโดยตรงกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 


             "จำนวนการประหารชีวิตได้ลดลง ในปี 2553 มีบุคคลถูกประหารชีวิตทั้งหมด 527 คน ในขณะที่ในปี 2552 มีคนถูกประหารชีวิตทั้งหมด 714 คน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีประชาชนจีนหลายพันคนถูกประหารชีวิตใน ปี 2553 ในขณะที่ประเทศจีนได้ปิดบังข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตต่อสาธารณะ 


             "ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังมีการประหารชีวิต ในปี 2553 สหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาประหารชีวิตทั้งหมด 110 คดี ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเพียงหนึ่งในสามของคำพิพากษาที่เกิดขึ้นกลางทศวรรษ 2530 ในเดือนมีนาคม 2554 มลรัฐอิลลินอยส์กลายเป็นมลรัฐที่ 16 ในสหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต"
http://ilaw.or.th/node/954

              การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตน่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่สุดทำยากมากใน สังคมไทย (เรื่องที่รณรงค์ง่ายที่สุดในสังคมคือรณรงค์ให้คนเป็นคนดีไง)
              ล่าสุดในอีสานโพลล์ คนยังเห็นด้วยว่าควรลงโทษประหารชีวิตผู้ที่กระทำผิดในคดีทางเพศ เช่น ข่มขืน หรือลงโทษด้วยการตัดอวัยวะเพศ ไม่ต้องพูดถึงคดียาเสพติดที่เรามักได้ยินคำว่า "คนพวกนี้ต้องเอาไปประหารชีวิตให้หมด" 


              และหากมีการทำประชามติในวันนี้ก็น่าจะมีแนวโน้มสูงว่าสังคมไทยน่าจะยังยินดีให้รักษาโทษประหารชีวิตเอาไว้อยู่
              ในโลกนี้มักจะมีอะไรที่ย้อนแย้งอยู่ในตัวเองเสมอ หากเราดูรายชื่อที่ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต มักจะเป็นประเทศที่ไม่ได้แยกรัฐออกจากศาสนา และโทษที่หนักและรุนแรงมักเกี่ยวข้องกับการละเมิดศาสนาด้วยความย้อนแย้งในที่นี้คือ เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของศาสนาคือความเมตตามิใช่หรือ? 


            ในประเทศไทยก็เช่นกัน เรามักพูดกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เนืองนองไปด้วยความรัก มีสโลแกนคนไทยไม่ทิ้งกัน มีความเอื้อเฟื้อ 


            ทว่า พอพูดถึงโทษประหารชีวิต อาการของคนไทยจะเปลี่ยนเป็นการถลึงตาทำหน้าขึงขัง ทั้งเชื่อว่าที่ทางของคนชั่วคือนรกและความตายเท่านั้น ขอเอามือทาบอกตามประสาคนขวัญอ่อน นี่มันความเมตตาชนิดใดกันที่เรามี
          สัปดาห์ที่ผ่านมา Amnesty International หรือองค์กรนิรโทษกรรมสากล ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมาโดยตลอด (ยกเว้นในประเทศไทยอีกนั่นแหละที่ประเด็นนี้เจือจางเสียจนฉันคิดว่า มีคนน้อยคนมากที่รู้ว่าประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตนั้นเป็น "ส่วนน้อย" ของโลก และประเทศยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพลของโลกอย่างจีนและอเมริกายังมีโทษประหารชีวิตอยู่) จัดเทศกาลหนังมีชีวิต 


           และหนึ่งในหนังที่นำมาฉายคือสารคดีเรื่อง Crime after Crime
           สารคดีที่เรียบง่ายนี้เล่าเรื่องของ Deborah Peagler ผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งในแอลเอ ที่คบกับแฟนหนุ่ม Oliver Wilson ตั้งแต่อายุ 15 หลังจากนั้น เธอถูกเขาบังคับให้ขายตัว ทำร้ายร่างกาย กักขัง ล่วงละเมิดทางเพศลูกสาวของเธอ 

 
           เหตุการณ์ดำเนินต่อไปหลายปีจนกระทั่งเธอหนีออกมาอยู่กับแม่ของเธอในขณะที่ Wilson ตามมาข่มขู่ ทำร้าย แม้จะแจ้งความกับตำรวจ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเพราะเขาแค่ถูกจับไปอยู่ในคุกหนึ่งคืนแล้วก็ถูกปล่อยออกมาเธอจึงไปขอความช่วยเหลือจากมาเฟียประจำถิ่นโดยบอกว่า ช่วยให้เขาอย่าต้องมายุ่งกับเธออีก และสิ่งที่มาเฟียจัดการคือฆ่า Wilson


 
            Deborah Peagler ถูกจับในข้อหาร่วมวางแผนฆ่าแฟนหนุ่มเพื่อหวังเงินประกันชีวิต (Wilson ทำประกันชีวิตไว้ตอนที่เธอคลอดลูกสาว) อัยการขู่ว่าถ้าเธอไม่สารภาพอาจต้องโทษถึงประหารชีวิต ทำให้เธอตัดสินใจรับสารภาพและรับโทษจำคุกตลอดชีวิต
            ในปีที่ 20 ที่เธอติดอยู่ในคุก ทนายความสองคนคือ Nadia Costa และ Joshua Safran เสนอตัวเข้ามารื้อฟื้นคดีของเธอออกมาใหม่เนื่องจากกฎหมายใหม่ของรัฐลอสแองเจ ลิสออกมาว่าหากผู้ต้องหามีหลักฐานชี้ว่าถูกทำร้ายจากความรุนแรงในครอบครัว มีสิทธิรื้อคดีออกมาพิจารณาใหม่
            จากนั้นมันนำไปสู่การต่อสู้กับ "กระบวนการยุติธรรม" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานอัยการที่ไม่ปรารถนาจะยอมรับข้อผิดพลาดในการ พิจารณาคดีของตนเอง อีกทั้งไม่อยากเปิดเผยการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อเอาผิดกับ Deborah Peagler
การสู้กับอำนาจกระบวนการยุติธรรมของรัฐแบบที่ต้องพ่ายแพ้หมดรูปครั้งแล้ว ครั้งเล่าดำเนินต่อเนื่องไปถึง 7 ปี (นั่นแปลว่า Deborah ติดคุกไปแล้ว 27 ปี) จนกระทั่งเธอป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน
             สิ่งที่ทนายของเธอยืนยันคือ หากเธอมีความผิดจริงในฐานที่ทำให้ Wilson ต้องตาย-โทษของเธอมันรุนแรงถึงกับต้องติดคุกตลอดชีวิตหรือ?
              และ 20 กว่าปีที่เธอต้องติดอยู่ในคุกมันเพียงพอหรือยังกับความผิดที่เธอก่อ?
             ขณะเดียวกัน ไม่มีใครตั้งคำถามว่า ความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับจากครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้าย การล่วงละเมิดทางเพศกับเป็นการกระทำที่กฎหมายไม่อาจ "เอาผิด" ได้ (เรื่องของผัว-เมียตีกัน คนนอกอย่ายุ่ง เดี๋ยวก็กลับมาคืนดีกัน Wilson ที่พกปืนไปขู่ Deborah จึงนอนคุกแค่คืนเดียว)
             ทนายความทั้งคู่ไม่ล้มเลิกที่จะขุดหาพยานหลักฐานมาต่อสู้ในชั้นศาล เจ็ดปีที่ส่งเรื่องไปแล้วถูกตีกลับ ส่งไปแล้วถูกตีกลับ ส่งไปแล้วถูกตีกลับ มีความหวังแล้วถูกดับความหวัง ซ้ำซากวนเวียนอยู่อย่างนี้จนในที่สุดก็ "ชนะ" จากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสื่อที่เริ่มเผยแพร่เรื่องของ Deborah และเริ่มตั้งคำถาม ตรวจสอบ เกาะติดการทำงานของคณะอัยการ จนอัยการต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการทำคดีนี้ในที่สุด ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมที่อำนาจสุดท้ายมาจากผู้ว่าการรัฐที่มาจากการเลือก ตั้ง
             ในที่สุด Deborah ก็ได้ออกมาสูดลมหายใจนอกกำแพงคุกและได้อิสรภาพของเธอกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงสิบเดือนสุดท้ายของชีวิตเธอ
              สารคดีเล็กๆ นี้ทำให้เราได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้นำมาซึ่งความยุติธรรมเสมอไป และในหลายกรณีที่ผลของกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นอาชญกรรมที่มีต่อตัวอาชญากร เสียเอง ไม่นับว่ามีผู้บริสุทธิ์อีกนับไม่ถ้วนที่ถูกกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนเขาให้ เป็นอาชญากร ยังไม่นับว่าการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นในคุกจะถือเป็นอีกหนึ่งอาชญากรรมที่มา พร้อมกับกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่?
              โทษประหารชีวิตนั้นนอกจากจะขัดต่อบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมืองของสหประชาชาติ และกรณีของประเทศไทยประนีประนอมต่อบทบัญญัติดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนการลงโทษ จากการยิงเป้ามาเป็นฉีดยา ด้วยเหตุผลว่ามิได้เป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณแต่อย่างใด
แต่อย่าลืมว่าความโหดร้ายของโทษประหารชีวิตนั้นอาจไม่ได้โหดร้ายด้วยวิธีการ "ฆ่า" แต่โหดร้ายด้วยการดำรงอยู่ของมัน

เช่น ถูกใช้เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ผู้ต้องสงสัยต้อง "สารภาพ" ยิ่งเมื่อนึกถึงความเป็นจริงของสังคมไทยที่อุดมไปด้วย "แพะ" ความโหดร้ายนี้ยิ่งทบเท่าทวีคูณ จะยอมจำนนรับสารภาพต่อความผิดที่ตนไม่ได้ก่อหรือจะยอมตาย?
             ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นแพะที่ต้องโทษประหารชีวิต บุคคลผู้นั้นถูกประหารชีวิตไปแล้ว อีกยี่สิบปีต่อมา พบหลักฐานที่เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยว่า บุคคลผู้นั้นไม่ได้กระทำความผิด-ถามว่า เราเอาชีวิตของเขากลับมาได้หรือไม่?
เราเอาความสูญเสียของครอบครัว เราเอาความรัก ความอาลัยของคนในครอบครัวเขากลับคืนมาได้หรือไม่? (โปรดนึกถึง "แพะ" ของไทยในหลายต่อหลายคดี)

             การคิดเรื่องโทษประหารชีวิตต่อให้มีความผิดพลาดของการพิจารณาคดีหนึ่งใน ร้อย คำถามของฉันคือ หนึ่งคนในร้อยคนที่ต้องตายเพราะความผิดที่ตนไม่ได้ก่อนั้น เราต้องปกป้องเขาไว้หรือไม่?
การยกเลิกโทษประหารชีวิตจึงยืนอยู่บนฐานคิดว่าไม่ว่าความผิดพลาดจะเกิดขึ้น น้อยเพียงใดเราก็ต้องคิดเผื่อความผิดพลาดนั้นเสมอเพราะมันเป็นเรื่องชีวิต
             ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะทำความผิดจริง สิ่งที่ต้องคำถามอย่างจริงจังอีกคือ โทษที่เขาได้รับนั้นจำต้องถึงแก่ความตายเท่านั้นหรือ?
            ในโลกที่เรามาไกลกว่ายุคตีหัวลากเข้าถ้ำมาหลายพันปี เราจะยังรักษาวิธีการลงโทษแบบชดใช้ชีวิตด้วยชีวิต ตัดมือตัดเท้าหัวขโมย?
            หรือเราควรจะใส่ใจกับการสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาซึ่งการ "ยุติ" ความบาดหมางหลังจากความจริงถูกเปิดเผย ก่อนสร้างกระบวนตระหนักในความผิดของตน และการให้อภัยของคู่กรณีก่อนจะนำไปสู่บทลงโทษที่เหมาะสมและไม่ลดทอนกระชาก ทิ้งไปซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์-อาจจะฟังดูเป็นนางเอก กระแดะไปสักนิด แต่ฉันเชื่อว่านี่คือการยุติความรุนแรงในสังคมระยะยาว
            ตามสถิติระบุชัดเจนว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้มีผลให้คดีอาชญากรรม อุกฉกรรจ์ ปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นแต่กลับลดลง
            ประเทศที่มีโทษประหารชีวิตต่างหากที่มีความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคดีอาชญกรรมก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
            (ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูประเทศไทยเป็นตัวอย่างก็ได้-แต่ก็ต้องมีคนเถียงว่า ขนาดมีโทษประหารชีวิตยังขนาดนี้ ถ้าไม่มีจะขนาดไหน ก็คงต้องบอกให้ไปดูประเทศที่ยกเลิกโทษนี้ไปแล้วเป็นกรณีศึกษา)
            คงอีกหลายก้าวสำหรับสังคมไทยที่ละครหลังข่าวยังมีฉากตบทึ้งกระชากผม แผดเสียง ใส่กันโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่น่าเชื่อถือ
ทั้งไม่ต้องพูดถึง Domestic Violence หาก "ชาติ" จะหมายถึงครอบครัวขนาดใหญ่ พลเมืองไทยยังรองรับความรุนแรง "ในครอบครัว" และมีความสุขกับการ "ตบตี" "กักขัง" กันเอง การสังหารหมู่กลางเมืองก็เป็นแค่เรื่อง "ผัว-เมีย ตีกัน"
ทุกนาทีที่ดูสารคดีเรื่องนี้ ฉันคิดถึง ใครต่อหลายคนในคุกไทยทั้งที่ตายไปแล้วและมีชีวิตอยู่
มากกว่าคิดเรื่องของ Deborah

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น