วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำถามถึงนักประชาธิปไตยไทย 2556: ผ่าน 80 ปี ย่าง 40 ปี

คำถามถึงนักประชาธิปไตยไทย 2556: ผ่าน 80 ปี ย่าง 40 ปี
Posted: 13 Dec 2012 09:12 AM PST (อ้าอิงจากเวบไซท์ประชาไท)

        ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่เริ่มการขับเคลื่อนครั้งใหม่ของพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งเคยแตกกระจายกันแล้วลดรูปลงเป็น ‘แนวร่วมเพื่อรักษาสถานภาพเดิมทางสังคม’ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นำโดยองค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย ตามมาด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และส่งต่อให้กับองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อบดขยี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่เกินคาด เพราะเป็นการกระทำที่จะต้องเกิดขึ้นตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นขั้นตอนของภารกิจสร้างภาวะ ‘ตาสว่างครั้งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่’ ในภารกิจใหม่ในการเริ่มต่อสู้ขั้นยัน (ศิวะ รณยุทธ์, สิงหาคม 2555)และความน่าสนใจจากปรากฏการณ์ข้างต้น อยู่ที่พฤติกรรมของบรรดาผู้ที่เชื่อว่า ตนเองอยู่ในขบวนแถวของนักประชาธิปไตยที่กำลังต่อสู้เพื่อสร้างเสรีภาพและยุติธรรมให้กับมวลชนส่วนใหญ่

        กรอบคิด ปฏิกิริยา และพฤติกรรมอันหลากหลายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในขบวนการต่อสู้ของนักประชาธิปไตยอย่างชัดเจนว่า หากขืนปล่อยให้ดำเนินต่อไป อาจทำให้ 80 ปีที่ล่วงไปแล้วของเจตจำนงของคณะราษฎร 2475 และเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กำลังย่างครบ 40 ปี จะกลายเป็นโมฆียกรรมได้อย่างง่ายดาย กลายเป็นสงครามยืดเยื้อที่มองไม่เห็นชัยชนะในอนาคต หรือไม่ก็สอดคล้องกับความเห็นส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ของพลเอก สนธิ บุญรัตกลิน อดีตนักรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ว่า ประชาธิปไตยไทยอาจจะต้องใช้เวลา 3 ชั่วอายุคนในการพัฒนา

         ผู้รักประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อย มองเห็นว่า การชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์รอบใหม่นับแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการมุ่งทำลายประชาธิปไตย ขบวนการของคนเสื้อแดง และรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม โดยกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมเดิมที่สร้างขบวนการสมคบคิดเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ ดังนั้น จึงต้องเข้ามีส่วนร่วมในการปกป้องรัฐบาล ‘ประชาธิปไตย’ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อป้องกันการเถลิงอำนาจของพลังเผด็จการอนุรักษ์นิยม

         ผู้รักประชาธิปไตยและแกนนำคนเสื้อแดงจำนวนมาก ถือโอกาสพยายามแสดงออกซึ่งทัศนะที่โล่งอกสบายใจที่การเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยามคุกคามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คนเสื้อแดงที่แตกแยกหรือห่างเหินกันไปด้วยสาเหตุสารพัด สามารถกลับมารวมตัวผนึกสู้กับพลังอนุรักษ์นิยมสำเร็จ สามารถกลบเกลื่อนความขัดแย้งและข้อบกพร่องของกลุ่มต่างๆ ในขบวนการเดียวกันออกไปเสีย โดยไม่คิดที่จะทบทวนหรือแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวอย่างจริงจังโดยชูคำขวัญเหมารวมอย่างยัดเยียดว่า ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่รอด ประชาธิปไตยอยู่รอด

         ท่าทีดังกล่าว มองในมุมกลับคือ ยอมรับว่า หากไม่มีการดำรงอยู่หรือขับเคลื่อนของพลังอนุรักษ์นิยมเผด็จการเช่นองค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย หรืออื่นๆ เสียแล้ว อนาคตของคนเสื้อแดงก็เหว่ว้า  ซึ่งการดำรงสภาวะเช่นนั้น ย่อมไม่ต่างจากแกนนำของคนเสื้อเหลืองและพรรคแมลงสาบ ที่หากปราศจากข้ออ้างในการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ แล้ว ก็ไร้ข้ออ้างที่จะทำการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้มวลชนมารวมตัวกัน แล้วก็ไม่ต่างจากนักเลือกตั้งอาชีพที่อำพรางตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย ใช้มวลชนเป็นโล่มนุษย์เพื่ออ้างความชอบทำในการกำบังหาประโยชน์จากการเข้าแย่งยึดอำนาจรัฐ

         การพึ่งพาการดำรงอยู่ของขั้วตรงกันข้ามเพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ได้ สะท้อนถึงความหลักลอยและฉวยโอกาสจากสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่ไม่ได้มีเข็มมุ่งที่ชัดเจนในระยะยาว ปล่อยให้สถานการณ์พาไปตามยถากรรมอย่างไร้ทิศทาง

          กรอบคิด ปฏิกิริยา และพฤติกรรมดังกล่าว แม้ไม่ได้ผิดเสียทั้งหมด แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมดเช่นกัน เพราะโดยข้อเท็จจริงนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบันกลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายซึ่งแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาล ได้กลับขึ้นสู่และรักษาอำนาจค่อนข้างยาวนานอย่างมีเสถียรภาพจากฉันทามติของผู้รักประชาธิปไตยและคนเสื้อแดง ได้ทำการแสดงพฤติกรรมมากหลายที่ยืนยันให้เห็นมากขึ้นต่อเนื่องว่า ต้องการครองอำนาจเพื่อรักษาอำนาจภายใต้แนวทางการเมืองแบบแมคเคียเวลลีเป็นหลักสำคัญ ไม่ได้ใส่ใจมากนักกับการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำสังคมไทยไปสู่ชัยชนะของพลังประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและทำลายล้างอำนาจเผด็จการอย่างแท้จริง

          ข้อเท็จจริงที่นักประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงจำนวนมากพยายามมองข้ามไป ทั้งๆที่เกิดขึ้นจริงชนิดไม่อาจปฏิเสธได้ อยู่ที่ว่า ท่ามกลางการต่อสู้ในหลายปีมานี้ กลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย ได้ปฏิบัติการ ‘ชกใต้เข็มขัด’ ทำการเจรจาต่อรองทางอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกลับหลังมวลชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมละทิ้งพฤติกรรมแบบอำมาตย์ดั้งเดิมที่พวกเขาเคยสังกัดอยู่และถูกขับไล่ออกมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (เพราะข้อกล่าวหาว่า สร้างฐานมวลชนแข่งกับกลุ่มอำมาตย์อภิสิทธิ์เดิม) ไม่เคยเปิดเผยให้รู้ว่าได้มีประเด็น หรือสาระของการเจรจาแลกเปลี่ยนหรือต่อรองอะไรกันบ้าง

         ผลลัพธ์ของการต่อรอง ‘ชกใต้เข้มขัด’ ดังกล่าว ปรากฏให้เห็นหลายครั้งถึงท่าทีที่
เรรวนไปมา หาความแน่นอนไม่ได้ ปรากฎเป็นการ ‘สู้ไปกราบไป’ และเกิดก้าวย่างที่พลาดชนิดจ่ายค่าโง่ซ้ำซาก เพราะประเมินความหน้าไหว้หลังหลอกของศัตรูหลักต่ำเกินไป ส่งผลให้สถานการณ์พลิกผันจาก ‘รุก’อย่างเหนือกว่า กลับมาเป็น ‘รับ’อย่างด้อยกว่าซ้ำซาก ที่สำคัญยังเปิดช่องจุดประกายให้ ‘กงจักรปีศาจ’ ของกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม อาศัยอารมณ์ความรู้สึก ‘เกลียดทักษิณ’ ที่โรยราลงไป ประสานมือรวมพลังกันคึกคักขึ้นมาเปิดเกมรุกใหม่อย่างรับลูกส่งต่อกันเป็นระบบในทุกเวที ทั้งบนพื้นที่สื่อ บนท้องถนน ในรัฐสภา และองค์กรอิสระอย่างแข็งแกร่งครั้งแล้วครั้งเล่า

          พฤติกรรมดังกล่าว นอกจากสะท้อนให้เห็นจุดยืน พื้นฐาน และเป้าหมายระหว่างผู้รักประชาธิปไตยกับชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้กลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่ฝ่ายหลังพยายามใช้ฝ่ายแรกเป็นเครื่องมือ ‘โล่มนุษย์’ ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดียวกันกับที่กลุ่มจำลอง ศรีเมืองได้กระทำมาโดยตลอดในการต่อสู้บนท้องถนนแล้ว ยังสะท้อนท่าทีต่อความสัมพันธ์แบบหลายหน้าของชินวัตร-ดามาพงศ์และบริวาร-พันธมิตร กับมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยว่า ในขณะที่ปากพูดถึงคำว่า ‘พี่น้อง’ และเรียกร้อง ‘ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน’ ในพื้นฐานของทฤษฎีเกมว่าด้วย ‘ร่วมมือกัน’ เพื่อแบ่งปันความสุข-ทุกข์นั้น มีเพื่ออำพรางท่าทีการจัดความสัมพันธ์ที่แท้จริงซึ่งเป็นเพียงแค่ ‘กินแบ่งไม่เท่ากัน’ ในฐานะที่กุมสภาพเหนือกว่าเสมอ บางครั้งอาจจะกินรวบเสียด้วยซ้ำหากเป็นไปได้

          สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ทิศทางของการต่อสู้เพื่อบรรลุประชาธิปไตยไทย ตกอยู่ในสภาพพายเรือในอ่างไม่สามารถก้าวรุกต่อไปข้างหน้าได้ ทำให้โอกาสช่วงชิงความได้เปรียบ พลิกสถานการณ์จากตกเป็นเบี้ยล่างขึ้นมาในการต่อสู้ขั้นยันยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะเข้าข่ายการเตรียมการต่อสู้ในลักษณะ ‘สงครามจำกัดวง’ ซึ่งได้พิสูจน์ในการยุทธ์มาแล้วทั่วโลกว่า ไม่เคยสร้างชัยชนะที่ยั่งยืน เพราะศัตรูของประชาธิปไตยนั้นยังแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะทำสงครามเบ็ดเสร็จเพื่อทำลายเสรีภาพและยุติธรรมของมวลชนต่อไปไม่เคยหยุดยั้ง

          สำหรับนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการความยั่งยืนของการต่อสู้ จะต้องแน่วแน่นในหลักการต่อสู้อย่างชัดเจน ไม่ยอมปล่อยให้สภาวะเช่นนี้ดำเนินอย่างเป็นไปตามยะถากรรม แต่ยืนหยัดเงื่อนไขในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และทำลายล้างอำนาจเผด็จการที่แท้จริงตามแนวทางของนักประชาธิปไตยแบบสันติวิธี(ตามที่นักประชาธิปไตยหลายกลุ่มเรียกร้องกัน) ปรากฏอยู่ในกฎเหล็ก 6 ข้อของจีน ชาร์ปแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเสนอแนวทางนี้ ในงานเขียนอันลือลั่นของเขา From Dictatorship to Democracy: A Conceptual Framework for Liberation (Profile Books Ltd, 1993) เมื่อ 19 ปีก่อน ซึ่งมีข้อเสนอบทสุดท้ายในหัวข้อ Groundwork For Durable Democracy ระบุว่า ภารกิจของการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและสันตินั้น จะต้องกระทำให้ครบถ้วนพร้อมกันทั้ง 6 ข้อคือ

-  ดำเนินการปกป้องเผด็จการรุ่นใหม่ที่อาจกลายพันธุ์แล้วฉกฉวยโอกาสในเสื้อคลุมของประชาธิปไตยเอง ตัวอย่างเช่น กรณีของฟิเดล คาสโตร อูโก้ ชาเวซ และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ นักบวชชิอะห์แห่งอิหร่าน

-  ดำเนินการตีโต้ความพยายามของพลังนิยมเผด็จการที่พยายามสร้างเงื่อนไขทำรัฐประหารทุกรูปแบบ

-  เร่งดำเนินการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ที่สร้างเงื่อนไขประชาธิปไตยในระยะยาวที่ยั่งยืน ทดแทนรัฐธรรมนูญที่มีเงื่อนไขเผด็จการ

ดำเนินการปกป้องกระบวนการประชาธิปไตยและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

แสดงความรับผิดชอบต่อวิถีชีวิตของมวลชนผู้รักประชาธิปไตย เพื่อให้พวกเขามีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมืองอย่างตาสว่าง โดยมีเป้าหมายเพิ่มพูนเสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม ไม่ใช่แค่เครื่องมือเหยียบขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น.

สร้างความตระหนักรู้ให้มวลชนเข้าใจถ่องแท้ว่า เสรีภาพและความยุติธรรมนั้นมีต้นทุนที่สูงค่า ไม่ได้มาโดยง่ายดายจากการมอบให้โดยบุคคลอื่นหรือวีรชนคนใดคนหนึ่งที่นำอยู่ข้างหน้า แต่มาจากการร่วมต่อสู้ลงมือลงแรงและเสียสละทรัพยากรบางอย่างของตนเองและมวลชนคนอื่นๆ

ภายใต้หลักการนี้ เทียบกับสถานการณ์จริงในห้วงเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านไปของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมคำขวัญ ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ จะเห็นได้ชัดว่า นอกเหนือจากการเอาตัวให้รอดจากสถานการณ์เฉพาะหน้า (จนไม่สามารถกระทำได้ตามนโยบาย 16 ข้อที่ได้หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ครบถ้วน) และการแต่งตั้งพลพรรคหรือบริวารแวดล้อม หรือเครือข่ายของชินวัตร-ดามาพงศ์ เข้ายึดกุมองคาพยพของอำนาจรัฐเท่าที่กระทำได้ ทั้งเพื่อผลักดันเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ในการสานต่ออำนาจ และเพื่อการขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจในรัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรรัฐต่างๆ ในลักษณะที่ไม่ต่างจากพวกเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ที่เล่นเก้าอี้ดนตรีแล้ว การสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนตามกฎเหล็ก 6 ข้อ ของชาร์ปข้างต้น แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย

1 ปีเศษผ่านไปของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ไม่มีเคยการผลักดันหรือเสนอร่างกฎหมายใดที่เปิดทางเพิ่มพูนเสรีภาพและยุติธรรมให้มวลชนเพิ่มมากขึ้น และกฎหมายเผด็จการทั้งหลาย(รวมทั้ง มาตรา 112ของกฎหมายอาญา) โดยที่เงื่อนไขเผด็จการอำนาจนิยมยังคงอยู่ครบถ้วน โดยอ้างว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงเวลาสุกงอม แต่กลับมีการร้อนรนเสนอร่างกฎหมายที่ไม่จำเป็น อาทิ ร่างกฎหมายปรองดอง เพื่อสนองตอบกิเลสส่วนบุคคลของใครบางคน เสมือนหนึ่งว่า ‘ผลประโยชน์ของมวลชนรอได้เสมอ’

ส่วนผู้รักเสรีภาพและยุติธรรมที่ตกเป็นเหยื่อของการจับกุมคุมขังโดยอำนาจรัฐและกฎหมายเผด็จการหลายร้อยคน ก็มีการดำเนินการช่วยเหลือแบบ ‘ฝนตกไม่ทั่วฟ้า’ โดยปล่อยให้คนอีกจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อต่อไปไม่สิ้นสุด ภายใต้ข้ออ้างว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักประชาธิปไตยและแกนนำคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ได้รับโอกาสในเก้าอี้แห่งอำนาจทั้งหลาย ก็ได้แปลงสภาพบทบาทและภารกิจเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล หรือโฆษกแห่งความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีการพยายามตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการสร้างเงื่อนไขประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน หรือ กระทั่งการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ที่ยังเหลืออยู่

 นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงจำนวนมากก็ยังเปิดเผยชัดเจนจนไม่สามารถ ‘ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ’ ได้จนล้มเหลวสำหรับความพยายาม ‘ปิดตาข้างเดียว’ หรือ ‘ทำตาบอดสำหรับคนพวกเดียวกัน’ ว่า รัฐบาลชุดนี้ มีคนจำนวนหนึ่งได้ลุแก่อำนาจกระทำการฉ้อฉลหาผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังอย่างเต็มที่ ทั้งการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าดำรงตำแหน่ง และการหาประโยชน์จากสัมปทาน หรือสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณรัฐเข้าดำเนินการ หรือหาประโยชน์จากการเล่นพรรคพวกสร้างรายได้อันมิชอบทั้งในที่ลับและที่แจ้ง อยู่ที่จะจับได้ไล่ทันหรือไม่เท่านั้น

การปล่อยให้คนชั่วจำนวนหนึ่งหาประโยชน์มิชอบอย่างลอยนวล จากอำนาจที่ได้มาโดยอาณัติของมวลชนผู้รักประชาธิปไตยนั้น เท่ากับการร่วมสมคบคิดปล้นประชาชนที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ จะอ้างว่าไม่ได้กระทำเองก็ไม่สมเหตุผลใดๆ

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช.และสส.พรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการให้สัตยาบันรับรองฐานะการเป็นสมาชิกของประเทศไทยในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็ได้มีการเบี่ยงเบนสาระของการเคลื่อนไหวไม่ให้มีผลในทางปฏิบัติ เพราะแทนที่จะผลักดันโดยช่องทางที่ถูกต้องคือ ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภารับรองสัตยาบัน (ซึ่งสามารถกระทำได้อยู่แล้ว หากคิดตามปริมาณเสียงของนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล) เพื่อสร้างกระบวนการหาตัวผู้ใช้อำนาจกระทำการสังหารหมู่ประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติบนท้องถนน กลับเลี่ยงบาลีไปเป็นเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศลงนามรับรองสัตยาบันของศาลดังกล่าว ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ช่องทางดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักแต่อย่างใด

กรอบคิด ปฏิกิริยา และพฤติกรรมที่กล่าวมา ทำให้เกิดข้อสรุปว่า ผู้รักประชาธิปไตยและคนเสื้อแดงจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ได้ถูกจับเป็นตัวประกันใต้ร่มเงาของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายอย่างเต็มรูปในนามของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังทำตนเป็นโฆษกสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอำนาจนิยมซึ่งยังมีความฉ้อฉลในระดับสำคัญ สร้างความมึนชาสับสนให้กับมวลชนอย่างต่อเนื่อง

สภาวะและบรรยากาศเช่นว่ามานี้  ชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย มีความชาญฉลาดมากเกินพอที่จะอำพรางตนเองในเสื้อคลุมประชาธิปไตย ฉกฉวยโอกาสเข้ายึดครองและสร้างกลไกรัฐอำนาจนิยมภายใต้เหตุผลและข้ออ้างของการเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งและมาด้วยวิถีประชาธิปไตยอย่างลอยนวลโดยอาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตย

หากปล่อยสถานการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไป  เท่ากับสร้างเงื่อนไขแห่งความพ่ายแพ้ให้กับพลังประชาธิปไตย และเปิดทางให้พลังอนุรักษ์นิยมเพิ่มศักยภาพในการรุกง่ายขึ้นในสงครามขั้นยันในระยะต่อไป

ผู้เขียนยืนยันว่า บรรยากาศของการสร้างเอกภาพเชิงสร้างสรรค์ ไม่ปฏิเสธวิพากษ์ถึงความผิดพลาดของ ‘พวกเดียวกัน’ เป็นความจำเป็นต้องเกิดขึ้นในทุกระดับและภาคส่วน ไม่ปล่อยปละให้เกิดสภาพของการ ‘รักษาเอกภาพเพื่อลดทอนความขัดแย้งในหมู่ประชาชน’ พัฒนาไปถึงขั้นลัทธิพรรคพวกที่ ‘รู้ว่าเดินทางผิด ก็ยังยอมร่วมเดินด้วย’ ซึ่งอาจเข้ารกเข้าพงไปสู่หายนะ จึงเป็นเรื่องต้องกระทำในทันทีโดยแบ่งข้อเรียกร้องไปยังผู้รักประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการก้าวข้ามทักษิณ และรู้ดีว่ากำลังต่อสู้เพื่อแผ้วถางทางสู่เป้าหมายที่ดีกว่า  แต่ที่ผ่านมาเมื่อถึงห้วงเวลาที่สถานการณ์การต่อสู้เข้าด้ายเข้าเข็มกลับต้องตกอยู่ในสภาพ’ตกกระไดพลอยโจน’ ถูกตั้งข้อหา ‘ยืมเวทีเพื่อน’ เพื่อลดทอนและแย่งชิงการนำเสนอ กลายเป็นตัวประกันที่ถูกกระทำอย่างหมดพลังไร้แรงต้านทาน หรือปล่อยไม่ไป ทำนองเดียวกันกับปัญญาชนในจีนหลังการปฏิวัติซินไฮ่ (ค.ศ.1911)หรืออิหร่านหลังปฏิวัติอิสลาม (ค.ศ.1979) หรือ อียิปต์หลังการเลือกตั้งในปัจจุบัน ค.ศ. 2012) เป็นต้น

ถึงเวลาแล้ว นักประชาธิปไตยจะต้องเริ่มทบทวนกรอบคิดเสียใหม่ว่า ชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย อันเป็น’โลกใบเล็ก’เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมในขบวนแถวของการต่อสู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น’โลกใบใหญ่’ จึงไม่ควรจะปล่อยให้’โลกใบเล็ก’ครอบงำและชี้นำ’โลกใบใหญ่’ตลอดไป เพราะว่าความเป็นไปได้ที่ ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่รอด  ประชาธิปไตยอาจเสื่อมถอยลง’ สามารถเป็นไปได้ หากการดำรงอยู่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โน้มนำไปสู่รัฐบาลอำนาจนิยมที่กระจุกตัวอยู่ใน’โลกใบเล็ก’ของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายจำนวนน้อยที่ยึดกุมอำนาจ กระทำการฉ้อฉลไม่แตกต่างจากกลุ่มเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ เสมือนหนึ่งพฤติกรรมการฉวยโอกาสของสุนัขจิ้งจอกภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันพร้อมกันเพื่อป้องกันการบากบั่นไปโดยไร้ทิศทาง และมีฐานะเป็นแค่ที่ปรึกษาซึ่งไม่มีใครใส่ใจข้อคิดเห็น นักประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นสร้างกรอบความคิดสำหรับเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจากสถานการณ์ที่มวลชนอาจถูกทรยศว่า ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล่มสลายได้ แต่ประชาธิปไตยต้องดำรงอยู่เข้มแข็ง’เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำฝ่ายเดียวอีกต่อไป

กระบวนการที่เริ่มต้นจากกรอบคิดใหม่ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้สามารถจำแนกและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนักประชาธิปไตยที่แท้จริงกับชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายได้ชัดเจนและมีพลังมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างเงื่อนไขเรียกร้อง และขับเคลื่อนให้กฎเหล็ก 6 ข้อของจีน ชาร์ปเกิดขึ้นอย่างบูรณาการเป็นรูปธรรมให้ได้ ในฐานะข้อต่อรองหลักสำหรับแรงสนับสนุนต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การกระทำดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เหลือเกินความสามารถของนักประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะการเริ่มต้นที่ถูกต้อง ไม่ใช่’ติดกระดุมเม็ดแรกผิด’ แต่จะนำไปสู่แนวโน้มของการจัดตั้งขบวนการทางเลือกใหม่ขึ้นมา เพราะต่อสู้กับการหลงทางของกระแสหลักที่ถูกครอบงำโดยชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เริ่มต้นสลัดหลุดออกจากสภาพตัวประกันแบบสมยอมเสียที

คนเสื้อแดงและนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับผลตอบแทนของการร่วมต่อสู้ เข้าสู่ฐานะนักการเมือง หรือมีตำแหน่งแห่งอำนาจทางการเมือง ภายใต้ร่มธงชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากไม่หลอกลวงตนเองหรือผู้อื่น จะต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ท่าทีและกรอบคิดของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย หรือพรรคเพื่อไทยต่อมวลชนและผู้รักประชาธิปไตยนั้น มีท่วงทำนองเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างโจโฉและคนแวดล้อมในยุคสามก๊ก นั่นคือ ชื่นชมคนมีความสามารถเป็นพวก แต่ไม่เคยให้คนมีความสามารถเกินหน้าจะต้องอยู่อย่างถูกหวาดระแวง ส่วนคนที่มีความสามารถน้อยจะถูกดูถูกเหยียบย่ำ ทำหน้าที่ได้แต่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น เพื่อแลกกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า’ ซึ่งผลลัพธ์คือคนที่อยู่วงนอกของ ‘โลกใบเล็ก’ มีฐานะเป็นแค่ตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ที่ถูกกดปุ่มได้ตามต้องการ สูญเสียอัตวินิจฉัยอันเป็นอิสระด้วยปัญญาญาณ อันเป็นพื้นฐานของผู้คนในสังคมประชาธิปไตยอันเป็น ‘โลกใบใหญ่’ ที่เป็นเป้าหมายแห่งอนาคต

คนเหล่านี้ แม้จะอยู่ในฐานะที่ตัดสินใจยากลำบากในการปลีกตัวออกมาจากแวดวงของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากสามารถเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า การยอมรับบทบาทที่จำกัดแค่เป็นตราประทับหรือโฆษกสร้างความชอบธรรมอย่างไร้เงื่อนไขให้กับ ‘โลกใบเล็ก’ นี้ ผ่านความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ ‘นายกับบ่าว’ ที่ตกค้างจากสังคมเก่าและศักดินา โดยลดความสำคัญของ ‘โลกใบใหญ่’ ลงไป ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ก็จะสามารถพาตนเองกลับมาสู่เส้นทางของหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ ได้ไม่ยาก

การรักษาเอกภาพอันเลื่อนลอยของขบวนการเพื่อปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้อยู่รอดไปได้ โดยละเลยกฎเหล็ก 6 ข้อ ในภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและสันติอย่างบูรณาการ เท่ากับเป็นการปล่อยให้เชื้อไฟของเผด็จการโหมกระพือรุนแรงขึ้นมาใหม่ พร้อมจะไหม้ลามทำลายพลังของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกกัดกร่อนจากภายในได้ทุกเมื่อ

ส่วนผู้ที่เลื่อมใสมองเห็นชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายในฐานะผู้นำอันศักดิ์สิทธิ์ของขบวนแถวประชาธิปไตย (โดยละเลยข้อเท็จจริงว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งในแนวร่วมของขบวนแถวเท่านั้น) ที่มีเจตนาที่จะรักษาฐานะของตนเองในฐานะตัวประกัน หรือสุนัขรับใช้ที่สงบเสงี่ยม ที่ถนัดกับการใช้สำนวนลีลาแก้ต่างให้อำนาจนิยมอย่างไร้เดียงสา ผู้เขียนไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ เพราะถือว่าคนเช่นนี้เป็นแค่นักฉวยโอกาสที่เกาะกระแสประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเอง พร้อมจะ’ทำข้อตกลงกับปีศาจ’ ไม่ใช่นักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนที่แท้จริง เป็นเพียงผู้พลัดหลงโดยบังเอิญของขบวนแถวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แยกไม่ออกระหว่างแนวคิดของพลังอนุรักษ์นิยมทำนอง ‘ประชาธิปไตยแบบพอเพียง’ หรือ ‘ล้างบ้านเมืองให้บริสุทธิ์โดยคนดี’ หรือ ‘ภักดีต่อสถาบัน’ กับบูรณาการที่ก้าวหน้าของประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนและสันติ เว้นเสียแต่คนกลุ่มนี้จะสำนึกผิดและกลับตัวเสียใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์เกินไป

ความประมาทเลินเล่อว่าพลังเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่ยึดโยงกับกากเดนความคิดคร่ำคร่าจะเสื่อมถอยลงไป เป็นจินตนาการที่ดูเบาเกินเหตุของคนกลุ่มนี้ เพราะมองไม่เห็นว่าจุดบกพร่องของการเมืองอำนาจนิยมที่รวมศูนย์โดยกลุ่มทุนที่ฉ้อฉลในนามของประชาธิปไตยนั้น เป็นจุดอ่อนที่ก็สามารถทำลายได้ง่ายจากศัตรูเช่นกัน

ในวาระดิถีส่งท้ายปีเก่า 2555 ต้อนรับปีใหม่ 2556 ซึ่งจะเป็นห้วงเวลาของการต่อสู้ขั้นยันระหว่างพลังก้าวหน้าประชาธิปไตย กับพลังล้าหลังอนุรักษ์นิยมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดบางส่วนของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2514 ในหัวข้อเรื่อง’ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย’ ที่ว่า
‘...การรักษาเอกภาพของชาติโดยอาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปสู่อวกาศนอกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิต โดยไม่กังวลถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่นั้นย่อมมีจิตใจในทางค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้ว ไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่า อาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ความคิดของเจ้าของคฤหาสน์ต่างกับคนที่อยู่กระท่อม’

ผู้เขียนหวังว่าจะได้รับปฏิกิริยาหรือเสียงขานรับในเชิงบวกจากนักประชาธิปไตย 2 กลุ่มแรกในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ไม่สิ้นหวังจนเกินไปสำหรับวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น