ภาพข้างบน คืออีกหนึ่งในปฏิกิริยาต่อข่าวที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติมอบรางวัล ‘ผู้อุทิศตนด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น’ แก่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ภาพดังกล่าวสะท้อนความแจ่มชัดในการรับรู้ของสาธารณะว่า ผู้คนรับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า ว.วชิรเมธี คือเจ้าของวาทกรรม ‘ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน’ แต่แทบจะไม่ได้รับรู้กันเลยว่า ว.วชิเรเมธีได้ทำอะไรบ้างที่เป็นการ ‘ปกป้องสิทธิมนุษยชน’
หรือหาก ว.วชิรเมธี เคยทำอะไรบ้างเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่การที่ท่านทวิตเตอร์ข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ในคืนวันที่ 9 เมษายน 2553 ก่อนเหตุการณ์นองเลือดที่สี่แยกคอกวัวเพียง 1 วัน ข้อความนี้ที่ออกสู่สาธารณะในสถานการณ์เช่นนั้น ย่อมเป็น ‘ตราประทับ’ ว่า ว.วชิรเมธีไม่คู่ควรกับรางวัล ‘ผู้อุทิศตนด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น’ เพราะท่านไม่เคยออกมาขอโทษประชาชนในความผิดพลาดนี้เลยด้วยซ้ำ อีกทั้งในช่วงการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เพิ่งผ่านพ้น ท่านยังออกมาตอกย้ำว่า “กฎหมายบ้านเมืองต้องศักดิ์สิทธิ์” อันเป็นการสอดรับกับแนวทางของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ต้องสลายการชุมนุมด้วย ‘กระสุนจริง’ เพื่อรักษากฎหมาย
ที่สำคัญชื่อ ‘ว.วชิรเมธี’ ก็ได้ถูกจดจำในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนไปแล้วว่า ท่านไม่ใช่ผู้ปกป้องสิทธิของประชาชนที่สละชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้กับเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ท่านจึงไม่ได้ปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับกิตติวุฑฺโฒ ภิกขุ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19
คำแก้ตัวของกิตติวุฑฺโฒ ภิกขุ ที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หมายถึงฆ่าลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ฆ่าคนที่เป็นคอมมิวนิสต์” นั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะนี่เป็นคำแก้ตัวในภายหลังจากที่ก่อนหน้านั้นตนเคยพูดต่อสาธารณะไปแล้วว่า “ฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้บุญมากกว่าบาปเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรถวายพระ”
เช่นเดียวกันคำแก้ตัวของ ว.วชิรเมธี ทำนองว่าที่พูดประโยค “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนความรุนแรง แต่ต้องการกระตุกผู้คนให้รู้คุณค่าของเวลา” ก็ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะท่านพูดคำนี้ออกมาในสถานการณ์ความขัดแย้งที่สื่อเสื้อเหลืองและสื่อหลักกำลังโหมประโคมภาพความรุนแรงของเสื้อแดง และรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังเตรียมสรรพกำลังเพื่อจัดการกับการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง ปี 2553
แม้สมมติว่า ว.วชิเมธี ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนความรุนแรงดังที่กล่าวจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโดยเจตนาเช่นนั้นจะทำให้การกระทำนั้นไม่ใช่เป็นความผิดพลาดและไม่ควรขอโทษประชาชน เพราะ ‘เจตนา’ ของท่านไม่สามารถควบคุม ‘ความหมาย’ ของวาทกรรทประดิษฐ์ที่ตนเองเสนอออกไปในท่ามกลางสถานการณ์ที่พระควรจะเตือนสติมากกว่าจะไปพูดอะไรที่หมิ่นเหม่ต่อการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงกว่าเดิม
ปัญหาของ ว.วชิรเมธี (หรือพระสงฆ์และชาวพุทธส่วนมาก) คือการคิดว่าที่ตนเองออกมาแสดงทัศนะทางการเมือง วิจารณ์การเมือง หรือกระทั่งออกมาชุมนุมทางการเมืองล้วนแต่เป็นการกระทำจาก ‘เจตนาดี’ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือเพื่อชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น ทว่าเจตนาดีดังกล่าวย่อมไม่อาจถือเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมในการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไปได้
ความผิดพลาดของ ว.วชิรเมธี ที่เห็นได้ชัดในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เช่น
1) การแสดงออกชัดแจ้งถึงความเป็นผู้มี ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ โดย ว.วชิรเมธี แสดงความเห็นผ่านข้อเขียน ผ่านสื่ออย่างสม่ำเสมอว่า นักการเมืองไร้จริยธรรม ทุจริตคอรัปชัน แม้ว่านี่จะเป็นความเห็นที่พระแสดงออกได้เพื่อเตือนสตินักการเมือง
แต่หากพระเห็นว่า ‘ความไร้จริยธรรม’ หรือการทุจริตของชนชั้นปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พระก็ต้องรู้ว่าชนชั้นปกครองไม่ได้มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ฉะนั้น การที่พระตำหนิเฉพาะคนระดับนักการเมืองลงมาว่าไร้จริยธรรม หรือ ‘ทุนนักการเมือง’ เป็นทุนสามานย์ แต่ไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยวิจารณ์ ‘ทุนอำมาตย์’ ว่าไร้จริยธรรม ทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ ซ้ำยังยกย่องความสูงส่งทางศีลธรรมของฝ่ายอำมาตย์ และพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่า การทำรัฐประหารของฝ่ายอำมาตย์เป็นความชอบธรรม เพราะต้นเหตุมาจากนักการเมืองโกง มันจึงเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่ง ‘กฎอิทัปปัจจยตา’ เป็นต้น
นี่คือ ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ ของ ว.วชิรเมธี และยังแสดงออกถึงการขาด ‘ความกล้าหาญทางจริยธรรม’ อย่างที่ตนเองชอบสอนชาวบ้านอีกด้วย
2) บทบาทการวิจารณ์นักการเมืองว่าไร้จริยธรรมแต่ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาจริยธรรมของระบบอำมาตย์ และซ้ำยังการอวยอำมาตย์ว่าสูงส่งสมบูรณ์พร้อมทางจริยธรรมอย่างไร้ที่ติ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึง ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ ดังกล่าว ยังเป็นการสนับความเข้มแข็งของโครงสร้างอำนาจที่กดทับ และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยอีกด้วย
อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าว (ในการเสวนาที่ The Reading Room เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.นี้) ว่า “ประชาธิปไตยมันต้องสร้างกติกากลางที่ free and fair กับทุกคนให้ได้ก่อน จากนั้นประชาธิปไตยมันจะนำไปสู่ทุนนิยม รัฐสวัสดิการ หรือสังคมนิยมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่”
บทบาทของ ว.วชิรเมธี (พระสงฆ์ส่วนมากและสันติอโศก) ที่มี ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ และทำตัวเป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อทางจริยธรรมแก่ระบบอำมาตย์ คือบทบาทที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้าง ‘กติกากลางที่ free and fair กับทุกคน’ จึงเป็นบทบาทที่ขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยในระดับรากฐาน
เมื่อประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนเป็นเนื้อเดียวกัน บทบาททั้ง 1) และ 2) ของ ว.วชิรเมธี จึงไม่ใช่บทบาทของ ‘ผู้อุทิศตนด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น’ แต่อย่างใด
แต่ผมก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมกรรมการสิทธิฯชุดนี้จึงมีมติมอบรางวัลดังกล่าว แก่ ว.วชิรเมธี เพราะอย่างที่สังคมประจักษ์กันชัดแจ้งว่า กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ก็ไม่สนับสนุนหรือ ‘เคารพ’ การต่อสู้ของประชาชนเพื่อสร้าง ‘กติกากลางที่ free and fair กับทุกคน’ หรือสร้างกติกาประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนขึ้นในประเทศนี้อย่างจริงจังอยู่แล้ว!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น