วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"พิชิต" ซัดศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวล่วง ยัน "นิรโทษกรรม" ไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน


"พิชิต" ซัดศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวล่วง ยัน "นิรโทษกรรม" ไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน


          25 ตุลาคม 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ กล่าวยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มิใช่ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน โดยเห็นว่าแม้ว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 142-143 จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองในร่าง พ.ร.บ. ที่มีลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินที่ ส.ส. เสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่โดยสาระสำคัญในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์) กรรมาธิการและกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบ หรือร่างนิรโทษกรรม(ส.ส.วรชัย) ไม่เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน เนื่องจากในเนื้อหาของร่างกฎหมายในลักษณะนี้ ไม่มีข้อความใดที่ปรากฏว่ากำหนดให้จัดสรร หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือโอนงบประมาณแผ่นดิน (มาตรา 143 อนุ 2) ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง และร่างฯนี้ ไม่ได้ระบุจำนวนเงินว่า ต้องคืนให้กับใครเป็นจำนวนเท่าใด

        นายพิชิต กล่าวอีกว่า "สำหรับข้ออ้างของฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วย โดยอ้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 อนุ 3 ในเรื่องการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐน่าจะหมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพย์สินต่างๆ ขององค์กร หน่วยงานของรัฐ แต่มิใช่รูปแบบของเงินแผ่นดินซึ่งมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการจ่ายเงินแผ่นดิน หรือเงินแผ่นดินตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 อนุ 2 บัญญัติไว้อีกทั้งถ้อยคำที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 143 อนุ 3 ที่ระบุว่า “การดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ” น่าจะหมายถึงการจัดทำนิติกรรมที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐเท่านั้น แต่การดำเนินการเพื่อจัดทำร่างกฎหมาย หรือตรากฎหมายของรัฐสภา มิใช่เรื่องการจัดทำนิติกรรม และตามที่กล่าวมา ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีมาตราใด บัญญัติให้จัดสรร หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือโอนงบประมาณแผ่นดินให้กับใคร เป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน"

        ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้าน ยังติดใจเห็นว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ที่มีการแก้ไขโดยการแปรญัตติ หรือร่างของ ส.ส.วรชัยฯ เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 วรรคสอง-วรรคสี่ หรือมาตรา 144 วรรคหนึ่ง-วรรคสอง ได้ให้อำนาจของฝ่าย “รัฐสภา” โดยที่ประชุมร่วมกันของประธานรัฐสภา และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย และ คำวินิจฉัยของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการก้าวล่วง มาตรวจสอบว่าร่างกฎหมายใด เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่อีก เพราะตามรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้เป็นอำนาจของฝ่ายรัฐสภาในการชี้ขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น