วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เปิดคำอุทธรณ์จากผู้บาดเจ็บ-ญาติคนตาย คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายแดงปี 53

หนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง (ผู้เสียชีวิต) โจทก์ร่วม (ภาพเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งว่านายพัน เสียชีวิตจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ. คลิ๊ก อ่านรายละเอียดคำสังศาล)
ผู้บาดเจ็บและญาติคนตายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นกรณีไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายการชุมนุม นปช. ปี 53 พร้อมอุทธรณ์คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เปิดอ่านคำอุทธรณ์ประวัติศาตร์
เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของของโจทก์ร่วม คือ นายสมร ไหมทอง อาชีพขับรถตู้ ผู้ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พ.ค.53 และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เดี่ยวกัน ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ อดีต ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
คดีดังกล่าวศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย
นายโชคชัย กล่าวว่า “คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา เพราะว่าข้อหาที่ฟ้องเป็นข้อหาความผิดต่อชีวิต ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับข้อหานี้ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และเราก็เห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจรับคดีจาก ป.ป.ช. คดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งคดีนี้ไม่ใช่คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่”
“แม้จำเลยทั้ง 2 จะกระทำในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ แต่ก็เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้จำเลยทั้ง 2 สั่งการฆ่าผู้ใดได้ทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพียงแต่จำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ” นายโชคชัยกล่าวและว่า โจทก์ร่วมทั้ง 2 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในประเด็นข้อกฎหมาย โดยขอถือเอาความเห็นแย้งของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ด้วย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำสั่งของศาลอาญาและให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของของโจทก์ร่วม

โดยคำอุทธรณ์ของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ดังนี้
อุทธรณ์คำพิพากษา คดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 หมายเลขแดงที่ อ.2911/2557 และ อ.2917/2557
ด้วยความเคารพอย่างยิ่งต่อคำพิพากษาของศาลอาญา โจทย์ร่วมทั้ง 2 ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา และขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในปัญหาข้อกฏหมาย ดังที่จะได้ประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ต่อไปนี้
1. เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มีความเห็นแย้งดังกล่าวข้างต้น และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 ก.ย. 2557 คัดค้านคำพิพากษาศาลอาญาแล้ว โจทก์ร่วมทั้ง 2 จึงขอถือเอาความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ด้วย
ตามที่ศาลอาญาได้พิจารณาคำฟ้องและที่โจทก์แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณาฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2557 และวันที่ 28 ก.ค. 2557 แล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อการผลักดันชุมนุมก็ดี สลายการชุมนุมก็ดี กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ก็ดี ดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหามานั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในฐานนายกฯ จำเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกฯ และในฐานะ ผอ.ศอฉ. ในวาระต่างๆ กัน ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 ดังข้อคัดค้านของโจทก์ไม่
ทั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์ของหารใช้อำนาจตามกฏมายของกฏหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าน้าที่ฝ่ายพลเรือหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายใต้การสั่งการของจำเลยทั้ง 2 ในการร่วมป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฏหมาย ความปลอดภัย และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของระชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม และเมื่อตรวจดูจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบสำเนาคำสั่งศาลในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ถึง 7 ก็ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มีความรุนแรง ลุกลามบานปลายมากขึ้น ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน
จำเลยทั้ง 2 จึงออกคำสั่งตามกฎหมายข้างต้น เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น  อย่างไรก็ดีการออกคำสั่งใดๆ ของจำเลยทั้ง 2 นั้น ในการกำหนดมาตรการ หรือข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไขหรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าจะกระทำเช่นใดได้บ้างนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฏหมายฉบับนี้บัญญัติไว้ มิใช่จะออกคำสั่งอย่างไรก็ได้โดยอำเภอใจ เฉพาะอย่างยิ่งการออกคำสั่งให้มีการใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วนนั้น หากการออกคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนดหรือไม่มีความเหมาะสมหรือให้มีการกระทำเกินกว่าความจำเป็น ไม่พอสมควรแก่เหตุเหมือนดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหา โดยอ้างว่าตามแนวทางปฏิบัติสากลในการควบคุมฝูงชนและปราบจราจล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริง ซึ่งขั้นตอนของการใช้กำลังนั้นจะมีเพียงการใช้แก๊สน้ำตา และปืนลูกซองกระสุนยางเท่านั้น
เช่นนี้ การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 ซึ่งถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการออกคำสั่งดังฟ้องจึงอาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฏหมายอาญาและกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นมูลแห่งความผิดคดีหลัก ที่ต่อมาภายหลังจากการออกคำสั่งเช่นว่านั้นได้ก่อผลให้บุคคลจำนวนมากถึงแก่ความตาย อันถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่ข้างต้น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลประโยชน์หรือย่อมเล็งเห็นผลของจำเลยทั้ง 2 ต่อความตายของบุคคลดังกล่าวนั่นเอง แต่ก็หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่และกลายเป็นคดีฆาตรกรรมโดยส่วนเดียวดังที่โจทก์เข้าใจไม่
และที่โดยการวินิจฉัยถึงความรับผิดในทางอาญาของจำเลยทั้ง 2 ต่อความตายและบาดเจ็บของบุคคลต่างๆ อันเป็นคดีเกี่ยวเนื่องดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 มานี้ มีข้อที่พิจารณาในมูลแห่งคดีว่ามีการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ดังเช่นที่มีการฟ้องกล่าวหามานั้นอันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ตามกฏหมายและถือเป็นการกระทำความผิดต่อตำหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เสียก่อน กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแหร่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน พร้อมทั้งทำความเห็นว่าการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ข้างต้นเป็นการมิชอบดว้ยหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ซึ่งหากข้อกล่าวหามีมูลจึงค่อยส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามมาตรา 70 แห่งบทบัญญัติของกฏหมายข้างต้นและตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557
ด้วยเหตุนี้เมื่อได้พิเคราะคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว แม้โจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้ง 2 จากผลที่มีคนตายและได้รับบาดเจ็บจากกรณีการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่า แต่ก็เห็นได้ว่ามูลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 มานี้ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฏหมายอื่น คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ด้วยการออกคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือมิชอบด้วยน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการผลักดัน สลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลนั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) หาใช่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาไม่
ส่วนคดีความผิดเกี่ยวเนื่องฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือพยายามฆ่านั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งการในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 ตาม คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงกถือเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาโดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557 ซึ่งทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฏหมายนี้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเลือกฟ้องในฐานความผิดเกี่ยวเนื่องอันมีที่มาจากการกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันต่อศาลอื่นได้นอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบังเกิดผลเชิงรูปธรรมอย่างจริงจัง ไม่ถูกบิดเบือนไปจนทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมืองนั้นหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบโดยอาศัยหลักกฏหมายเรื่องที่บุคคลควรได้รับการพิจารณาและลงโทษเพียงครั้งเดียวจากการกระทำในครั้งเดียวกันนั้นได้ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา
ศาลอาญาจึงมิใช่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการรับชำระคดีทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้ได้ การที่ศาลรับฟ้องโจทก์ทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้เพื่อพิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมายและโจทก์ร่วมทั้ง 2 ย่อมไม่อาจยื่นคำร้องของเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ นั้น
โจทก์ร่วมทั้ง 2 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดที่ 1 ว่าด้วยความผิดต่อชีวิต ในลักษณะ 10 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี ซึ่งความผิดที่โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษดังกล่าวมิใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาแต่อย่างใด
โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19(2) และ (3) ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับอำนาจการไต่สวนและวินิจฉัยโดยมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามหมวด 6 และไต่สวนวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าดว้ยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในลักษณะที่ 2 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในลักษณะที่ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 200 ถึงมาตรา 205
ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดในข้อหาความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายตามประมวลกฏหมายอาญาแต่อย่างใด
อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และ(2) ได้กำหนดอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีขอศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฏหมายอื่น และคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 9(1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดทางอาญาตามมาตรา 9(1) 
จึงเห็นได้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น เฉพาะคดีอาญาที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในลักษณะที่ 2 ว่าด้วยความผิดเกี่ยกับการปกครอง ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในลักษณะที่ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม เท่านั้น
และในคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในขอหาการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตตามกฏหมายอื่นแต่อย่างใด
แม้ศาลอาญาจะเห็นว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันมีมูลมาจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่การกระทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และยังปรากฏว่าภายหลังจากศาลจากที่ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยเฉพาะการตายของนายพัน คำกอง สามีโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ และได้สั่งสำนวนไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดี และอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288, 83 และ 84 อันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้ง 2 การฟ้องคดีของโจทก์ต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการและตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143
และโจทก์ร่วมทั้ง 2 ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30 จึงได้ของยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 และศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ชอบด้วยกฏหมาย
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น
ขณะนี้ยังไม่ปรากฏผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. และโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อความผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288, 83 และ 84 ต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลอาญาจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157
โดยความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 157 ต่างมีองค์ประกอบความผิดที่ไม่เหมือนกัน และมีอัตราโทษที่ไม่เท่ากัน ซึ่งความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288 เป็นความผิดที่มีโทษหนักและสูงกว่า และการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น หากจะดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฏหมายมาตรา 157 เพียงข้อหาเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายและทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดไป และความผิดข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำในขณะดำรงตำหน่งนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 2 กระทำในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ตาม แต่เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฏหมายใดอนุญาตให้จำเลยทั้ง 2 สั่งการฆ่าผู้ใดทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพี่ยงแต่จำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ส่วนในความผิดเกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 หาก ป.ป.ช. จะมีการชี้มูลหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องการดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ย่อมไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์หรือผู้เสียหายและโจทก์ร่วมทั้ง 2 ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาตามฟ้องนี้ได้
ที่ศาลอาญาวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฏหมายเบื้องต้นแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้ง 2 โดยยังมิได้มีการฟังข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้ง 2 เสียก่อนว่า จำเลยทั้ง 2 กระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากฟังว่าจำเลยทั้ง 2 สั่งการโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลถึงการตายของผู้ตาย ย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่ศาลวินิจฉัยว่าการกรทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกับข้อหาปฏิบัติที่มิชอบตามประมวลกฏหมาย มาตรา 157 จึงอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยังคลาดเคลื่อนต่อข้อกฏหมายอยู่
ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมทั้ง 2 ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์มาแล้วข้างต้น ขอศ่าลอุทธรณ์ได้โปรดพิจาณาพิพากษากลับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอาญา ให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 แล้วให้ศาลอาญาดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพาษาต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สำหรับในคดีนี้ อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณืไปก่อนหน้า โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดได้ยื่นขออุทธรณ์คดีที่ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
โดยอัยการสูงสุดขออุทธรณ์ในประเด็นทางข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157
หากศาลอุทธรณ์พิจารณาสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งหมายแจ้งนัดวันให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายรับทราบ เพื่อเดินทางมาฟังคำพิพากษาต่อไป ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าใด ยังไม่สามารถระบุได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จะเสร็จสิ้นเมื่อใด    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น