ผู้บริหารสุงสุดของฮ่องกงขึ้นปราศรัยในงานวันชาติจีนเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับการ 'ปฏิรูป' การเลือกตั้งของทางการจีน ขณะที่ผู้ประท้วงโดยรอบยังคงรวมตัวชุมนุมกันอย่างสงบในช่วงกลางวันโดยโบก 'ธงเสรีภาพ' แทนธงชาติจีน
1 ต.ค. 2557 สำนักข่าวบีบีซี รายงานบรรยากาศการประท้วงในฮ่องกง ช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบการปฏิวัติสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งถือเป็นวันชาติของจีนด้วย โดยระบุว่ามีการเตรียมรับมือกับผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเอาไว้ด้วย
ในงานพิธีการผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเหลียงชุนอิงได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับการปฏิรูปการเลือกตั้งที่ทางการจีนกำหนดไว้ โดยทางการจีนต้องการให้พวกตนเป็นฝ่ายคัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดในปี 2560 แทนการรับสมัครทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งไม่พอใจเพราะไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีตามหลักสากล
พิธีการในช่วงกลางวันดำเนินไปอย่างสงบ อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ยกเลิกการจุดพลุเฉลิมฉลอง
เหลียงกล่าวปราศรัยว่า แม้ผู้คนจะมีความต้องการเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งในฮ่องกงต่างกันไปแต่การมีสิทธิที่จะได้เลือกตั้งก็ดีกว่าไม่มีเลย อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกับรัฐบาลจีนด้วยความสงบสันติ มีเหตุผล เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติได้จริง เพื่อการพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้า
แคร์รี่ เกรซี บรรณาธิการข่าวประเด็นเกี่ยวกับประเทศจีนของบีบีซี รายงานบรรยากาศงานเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในงานอนุญาตให้คนที่สวมเสื้อยืดและสวมหมวกแก๊บสีแดงโบกธงชาติจีนเท่านั้นที่เข้างานได้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรอบรักษาความปลอดภัยในขณะที่เหลียงชุนอิงผู้บริหารสูงสุดกล่าวปราศรัยเน้นย้ำว่าฮ่องกงอยู่ในสถานะพิเศษภายใต้การปกครอง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีน
เกรซีรายงานบรรยากาศอีกว่าฝ่ายผู้ประท้วงทางการจีนพยายามแสดงตัวให้เห็น มีบางคนอยู่นอกพิธีการโดยหันหลังให้กับธงชาติจีน ผ้ประท้วงส่วนหนึ่งยังพากันเข้าไปในลานที่ตอนนี้พวกเขาเรียกว่าเป็นจัตุรัสประชาธิปไตย (Democracy Square) ซึ่งเต็มไปด้วยร่มและ "ธงเสรีภาพ" (freedom flags) โดยไม่มีธงชาติจีนอยู่เลย
ผู้ชุมนุมได้ปักหลักอยู่ตามย่านธุรกิจสำคัญในฮ่องกง มีผู้คนเริ่มมารวมตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันอังคาร (30 ก.ย.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้สนับสนุนกลุ่มยึดครองย่านศูนย์กลาง รวมถึงผู้ที่ไม่พอใจการใช้กำลังของตำรวจเข้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าทางการจีนคงไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วงง่ายๆ เนื่องจากผู้นำมองเป็นเรื่องการเมืองเชิงพื้นที่และกลัวว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยจะลามไปถึงในจีนแผ่นดินใหญ่
ส่วนทางการสหรัฐฯ เริ่มปรับท่าทีต่อการประท้วงในจีน โดยระบุว่าการให้มีตัวเลือกอย่างแท้จริงสำหรับผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้บริหารสุงสุดย่อมทำให้การเลือกตั้งในฮ่องกงดูมีความชอบธรรมมากกว่า กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังได้แถลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาอีกว่า จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ต้องการหารือกับ หวางอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในเรื่องเกี่ยวกับการประท้วงในครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น