วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาพิพากษายืนจำคุก 4 ปี 'วริศรียา' เจ้าของบ้านประกอบระเบิดหลังพรรคภูมิใจไทย ปี 53


ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก วริศรียา หรือ อ้อ จำเลยฐานเป็นเจ้าของบ้านที่ใช้ประกอบระเบิด ในเหตุระเบิดหลังพรรคภูมิใจไทย ปี 53 เป็นเวลา 6 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี ศาลชี้พยานเบิกความสอดคล้องกัน 

5 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 713 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลฏีกาอ่านคำพิพากษาคดีที่ วริศรียา บุญสม หรือ อ้อ ยื่นฏีกาคดีที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับ เอนก สิงขุนทด และพวกรวม 6 คน ที่ร่วมกันก่อเหตุวางระเบิดโดยรถเข็นผลไม้หลังพรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 2553 โดยวันนี้ ศาลฏีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก วริศรียา 4 ปี เนื่องจากจำเลยแย้งว่า คดีนี้ที่จำเลยคนอื่นซัดทอดมาเป็นเพียงคำบอกเล่าไม่น่าเชื่อถือ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าคำบอกเล่า เป็นการกล่าวถึงมูลเหตุน่าเชื่อจะพิสูจน์ได้ จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
ขณะที่จำเลยที่เหลือไม่ได้ยื่นฏีกาถูกลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับรายละเอียด ตามฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างต้นเดือน มิ.ย.ถึงวันที่ 22 มิ.ย. 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตหรือทำวัตถุระเบิด และร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ทำขึ้น โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันทำให้เกิดการระเบิดขึ้น โดย อเนก สิงขุนทด จำเลยที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ อ.2930/2553 ซึ่งเป็นผู้เข็นรถเข็นผลไม้ที่ซุกซ่อนระเบิดไว้ เข็นรถผ่านไปทางด้านหลังของอาคารที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ตั้งอยู่ใกล้ซอยพหลโยธิน 43 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เมื่อระเบิดขึ้นทำให้ อเนกได้รับบาดเจ็บ และเป็นเหตุให้ผนังด้านหลังอาคารพรรคภูมิใจไทยแตกเสียหาย ขณะเดียวกัน แรงระเบิดยังทำให้ อเนกตาบอดทั้งสองข้าง นอกจากนี้ เพิงโรงเรือนร้านค้าขายอาหารตามสั่งของ แถม ตรุพิมาย ถูกแรงระเบิดเสียหายพังทั้งหลัง ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท รถยนต์ทะเบียน ธต 7963 กทม.ของว่าที่ ร.ต.ภูมิรัตน์ นาคอุดม ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 40,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร และแขวงและเขตลาดพร้าว กทม. จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2556 ว่า จำเลยทั้งห้าเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช) ไม่พอใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้น โดยมีเดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 เป็นผู้สั่งการให้อเนกเข็นรถผลไม้ไปที่หน้าพรรคภูมิใจไทยก่อนที่จะมีการระเบิดขึ้น จึงมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับอเนก การกระทำของเดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 มีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.218 และ 222 ที่เป็นบทหนักสุด ฐานทำให้เกิดระเบิดจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินผู้อื่น และสถานที่ประชุม ให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 5 ปี และร่วมกันมีระเบิดให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 อีกคนละ 5 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 10 ปี และให้ปรับจำเลยที่ 1-3 คนละ 100 บาท ฐานพาอาวุธไปในเมืองฯ
ส่วนสุริยา จำเลยที่ 5 รับว่าเป็นผู้ประกอบระเบิดอย่างเดียว ไม่มีส่วนรู้เห็นในการวางระเบิด ให้จำคุก 5 ปี ฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิดฯ
ขณะที่จำเลยที่ 1-3 และ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุก เดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 คนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 66.66 บาท ส่วน สุริยา จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
สำหรับ วริศรียา จำเลยที่ 4 พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัย ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยที่ 4 ไว้ระหว่างอุทธรณ์
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2558 ว่าจากพยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบฟังได้ว่า เดชพล, กำพล, กอบชัย, วริศรียา จำเลยที่ 1-4 เป็นตัวการร่วมกัน สั่งการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ และมีวัตถุระเบิด ที่สุริยา จำเลยที่ 5 ประกอบขึ้น เพียงแต่วันเกิดเหตุ เดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 และอเนก เป็นผู้เข็นรถผลไม้ที่ซุกซ่อนถังแก๊สระเบิดใกล้บริเวณอาคารที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ส่วน วริศรียา จำเลยที่ 4 แม้จะไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์ระเบิด แต่ก็คอยใช้โทรศัพท์มือถือสอบถามติดตามสถานการณ์โดยตลอด จึงย่อมมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1-3 ด้วย อุทธรณ์อัยการโจทก์ ฟังขึ้นบางส่วน  จึงพิพากษาแก้เป็นว่า เดชพล, กำพล, กอบชัย, วริศรียา จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดหลายกรรม ให้จำคุกฐานร่วมกันกระทำให้ระเบิดจนเป็นอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินอื่นๆ คนละ 3 ปี, ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 6 ปี และให้ปรับคนละ 100 บาท ฐานพาอาวุธไปในที่สาธารณะ ส่วน สุริยา จำเลยที่ 5 ให้จำคุก 4 ปีฐานประกอบวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต
 คำให้การในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1-5 เป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงจำคุก เดชพล, กำพล, กอบชัย, วริศรียา จำเลยที่ 1-4 ไว้คนละ 4 ปี และปรับคนละ 66.66 บาท ส่วนสุริยา จำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี 8 เดือน ทั้งนี้สำหรับสุริยา จำเลยที่ 5 ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจึงได้ออกหมายจับ และสั่งปรับนายประกัน 500,000 บาท
ต่อมาในชั้นฎีกา วริศรียา จำเลยที่ 4 ยื่นฎีกาเพียงคนเดียว ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่ วริศรียา จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าที่ศาลอุทธณ์ลงโทษนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่าซัดทอดที่ไม่สามารถรับฟังได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การรับฟังพยานบอกเล่าที่ซัดทอดที่จำเลยอ้างว่าตามกฎหมายห้ามไม่ให้รับฟังนั้นแต่ก็ไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาด โดยศาลสามารถที่จะรับฟังประกอบกับสภาพแวดล้อมข้อเท็จจริง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1, 2, 5 ให้การหลังถูกจับกุมเพียง 2 วันซึ่งยากต่อการปรุงสรรแต่งเรื่องราว และคำให้การที่กล่าวเป็นการบอกเล่าถึงข้อมูลเหตุการณ์การกระทำผิดซึ่งศาลสามารถที่จะรับฟังและนำไปพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ไม่ได้เป็นการเชื่อคำซัดทอดพียงอย่างเดียว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลย ที่ 1, 3, 5 และอเนกคนเข็นรถผลไม้ที่บรรทุกระเบิดให้การสอดคล้องต้องกันได้ความว่ามีการประกอบวัตุระบิดกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 จะมีบ้านอีกหลัง แต่พบว่าบ้านหลังดังกล่าวมีพื้นที่ไม่ไกลกัน จึงไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่มีส่วนรู้เห้นว่ามีการประกอบวัตถุที่บ้านของจำเลย
ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าตนไม่ใช่สมาชิก นปช. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่มูลนิธิพรรคเพื่อไทย และในคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็ไม่มีสูตรการทำระเบิด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่อ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้อรู้เห็นของจำเลยเพียงคนเดียว และข้อมูลในการกระทำผิดจำเลยยิ่งต้องมีการระวังโดยการลบหรือต้องทำลาย และเมื่อพิจารณาถึงการกระทำที่สอดคล้องต้องกัน เห็นว่าฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
      
ภายหลัง พลเทพ ปวนยา ทนายความจำเลยกล่าวว่า วันนี้ศาลฎีกาพิพากษายื่นตามศาลอุทธรร์คงจำคุก 4 ปี วริศรียา ก่อนหน้านี้วริศรียาจำคุกมาแล้ว 8 เดือน ก็จะต้องรับโทษที่เหลือต่อ สำหรับคดีนี้จำเลย เดชพล จำเลยที่ 1  กำพล จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นฎีกา และได้รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3  กอบชัย และ สุริยา จำเลยที่ 5 หลบหนีไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลก็ได้ออกหมายจับไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น