วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

'คนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้' ลั่นไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เสนอประยุทธ์ทบทวนการแก้ ก.ม.บัตรทอง


เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ยันไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เสนอประยุทธ์ทบทวนกระบวนการแก้ กม. บัตรทอง พร้อมเสนอ 4 ประเด็นเห็นร่วม 5 ประเด็นเห็นแตกต่าง 7 ประเด็นสำคัญแก้แล้วดีขึ้น
5 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (5 ก.ค.60) ภาคีเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ได้รวมตัวกัน ณ หอนาฬิกาหน้าจัตุรัส หาดใหญ่ เพื่อแถลงการณ์ขอให้ทางรัฐบาลทบทวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ยืนยันไม่ได้ต่อต้านการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ต้องการให้ทางรัฐบาลได้ทบทวนการแก้กฎหมายให้ประชาชนกว่า49 ล้านคน ที่ใช้ระบบบัตรทองได้รับรู้และมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยทางเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ พร้อมเสนอ 4 ประเด็นเห็นด้วย 5 ประเด็นเห็นต่าง 7 ประเด็นเพื่อปฏิรูป
ซึ่งจาก 12 ประเด็นในการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ พิจารณาแล้วเห็นด้วย 4 ประเด็น คือ 1. มาตรา 14 กรณีห้ามดำรงตำแหน่งสองคณะในขณะเดียวกัน หมายถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ 2. มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย 3. มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน และ 4. ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย กรณีเกิดปัญหาต่อผู้รับบริการ เมื่อมีการเยียวยาช่วยเหลือแล้วต้องไม่ไล่เบี้ยหาผู้กระทำผิด                   
ส่วนประเด็นที่เห็นต่าง 5 ประเด็น คือ 1. ไม่เห็นด้วยเรื่องการนิยาม เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพและนิยามสถานบริการ จึงต้องการเพิ่มในนิยามให้รวม องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไรเป็นสถานบริการด้วย 2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของบอร์ดสปสช. ที่ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ และไปลดผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นต้องเพิ่มตามเดิม เป็นต้น 3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่ระบุเพียงได้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และเห็นว่าควรเพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย 4. ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 46 เรื่องการแยกเงินเดือน เพราะจะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และ 5. มาตรา 48(8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพและผู้ให้บริการในบอร์ดสปสช. ซึ่งไม่สมดุล โดยต้องเพิ่มสัดส่วนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์รวม 3 คนเข้าไปด้วย
และข้อเสนอ 7 ประเด็น เพื่อการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ คือ 1. แก้ไขมาตรา 5 ให้ตัดการร่วมจ่ายออกเสีย 2. มาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีเป็นกองทุนเดียว 3.แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน 4.แก้ไขมาตรา 18 เรื่องอำนาจของคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน 5.แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส 6.มาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาผลกำไร 7.เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9และ 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ  
ทั้งนี้ขอย้ำความกังวลที่มีมาอย่างต่อเนื่อง 2 ประเด็นใหญ่คือ การร่วมจ่ายที่ยังขาดความชัดเจนและคงบัญญัติในกฎหมายหลักประกันฯ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนกว่า 49 ล้านคนในระบบบัตรทอง ว่าหากมีการผ่านการแก้กฎหมาย โดยไม่มีการตัดคำว่า ร่วมจ่าย ออกจากมาตรา 5 นั้น  อาจทำให้มีการกำหนดวงเงินร่วมจ่ายที่กระทบต่อสถานการณ์ครัวเรือนล้มละลายมีจำนวนมากขึ้น ย้อนกลับไปเหมือนก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพและประเด็นสำคัญที่เครือข่ายเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อหลักการมีส่วนร่วมคือ สัดส่วนคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆที่ไม่สมดุลย์กัน  ที่ส่งผลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นน้อยลง ทำให้ขาดการกระบวนการกลไกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของระบบในระดับต่างๆตั้งแต่ร่วมตัดสินใจ ดำเนินการ และเพื่อจัดระบบบริการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองในชุมชน ลดทอนศักยภาพที่กำลังมีความคืบหน้าลงไปถึงในชุมชนพื้นที่ผ่านกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ภาคใต้ เครือข่ายคนพิการ  เครือข่ายชุมชนแออัด  เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย  เครือข่ายผู้สูงอายุ  เครือข่ายสตรี เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ  เครือข่ายเกษตร สมาคมผู้บริโภคสงขลา  กป.อพช.ใต้ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนสงขลา  เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ จึงได้มีการแถลงการณ์พร้อมยื่นจดหมายเพื่อให้ทางรัฐบาลได้พิจารณาทบทวนกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นไปตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดกระบวนการรับฟังอย่างมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจริง และจะติดตามสถานการณ์การแก้กฎหมายอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ
จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : 
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้
          เลขที่ 2 ถนนหมู่บ้านไทยสมุทร ต.หาดใหญ่
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
5 กรกฎาคม 2560

เรื่อง    ขอให้ทบทวนและเริ่มกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่
เรียน   ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น
เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ได้ติดตามและร่วมคัดค้านกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่ากระบวนการรับฟังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ทั้งนี้ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น หน่วยงานไม่มีการสรุปเนื้อหาของร่างกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจโดยง่าย ไม่บอกวัตถุประสงค์ในการยกร่างให้ชัด
รวมถึงร่างกฎหมายที่คณะกรรมการยกร่างจัดทำขึ้น ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุข แนวโน้มเปิดโอกาสให้มีการร่วมจ่ายณ หน่วยบริการ หรือในแต่ครั้งในการใช้บริการ ขาดความครอบคลุมถึงบุคคลที่พิสูจน์สถานะ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ มองบุคคลเพียงหมายเลข13 หลักขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่มีความสมดุลย์ในคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
ซึ่งหากเป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบกองทุนที่ติดขัดก็สามารถดำเนินการได้เลยตาม คำสั่ง คสช.ที่ 37/59 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องรอการแก้ กม.หลักประกันสุขภาพ จึงไม่จำเป็นต้องจัดกระบวนการแบบรวบรัดดังเช่นที่กระทำอยู่นี้
ที่สำคัญไม่มีคำตอบ ว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน แต่เจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง และหากจะให้การดำเนินการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพเป็นกระบวนการที่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รับฟังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง เครือข่ายฯ จึงขอเสนอให้การแก้ไขกฎหมายยึดหลักการดังต่อไปนี้
1.      การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ควรมีการแก้ไขมาตรา ๙ มาตรา 10 เพื่อรับรองสิทธิประชาชนด้านบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคนได้มาตรฐานและมีคุณภาพยอมรับว่าสิทธิด้านสุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนเป็นมนุษย์ควรได้รับเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนใด ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนสุขภาพของผู้ประกันตนไปเพิ่มในสัดส่วนของบำนาญชราภาพเพื่อที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากขึ้น รวมถึงครอบคลุมบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจด้วย
2.      ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการเพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการเนื่องจากการแก้ไขมีการเพิ่มเติมสัดส่วนกรรมการจากสถานพยาบาลที่มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย และสอดคล้องกับนโยบาย ขึ้นทะเบียนคนจน ๑๔ ล้านคน ซึ่งการเก็บเงินณ จุดบริการ ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการ หลายมาตรฐาน ความขัดแย้ง แต่รัฐบาลควรมีแนวทางในการเก็บเงินก่อนป่วยในรูปแบบภาษี หรือสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ น้ำตาล หรือภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคนคนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง 
3.      ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based)เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช. จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ ๔.๙ ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปี ละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา
4.      การแก้กฎหมายควรสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกระจายบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ควรมีการแยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่มีความกังวลในการทำงาน แต่ไม่สามารถมีหลักประกันให้ลูกจ้างพนักงานได้ ต้องยอมรับจะทำให้เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล
5.      การจัดสมดุลย์โครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติการแก้ไขกระทำโดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ และตัดสัดส่วนกรรมการหน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องน้อย ส่วนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) เพื่อให้การปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสมดุลย์ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียกร้องให้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติกระบวนการที่เหลือทั้งหมด และเริ่มกระบวนการทำความเข้าใจเนื้อหาในการแก้ไข รับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวาง และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างสมดุลย์
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้
6 กรกฎาคม 2560

ประกอบด้วย
เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้
กป.อพช.ใต้
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ภาคใต้
สมาคมผู้บริโภคสงขลา
เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย
เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน
เครือข่ายคนพิการ
เครือข่ายชุมชนแออัด
เครือข่ายผู้สูงอายุ
เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
เครือข่ายสตรี
เครือข่ายเกษตร
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนสงขลา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น