สปท.เห็นชอบรายงานของ กมธ. ปมปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นมาตรการป้องปรามปัญหา ชงเพิ่มการสแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า 'พลเมืองเน็ต' ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารระบบ
3 ก.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ด้วยคะแนนเสียง 144 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงและงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 147 คน
สำหรับรายงานดังกล่าว กมธ.ได้มีการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและนโยบายเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติ และการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลังสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ปัจจุบันกลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ กอปรกับขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจและสถาบันหลักของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในปี 2562 และในระยะยาวซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์อย่างมีคุณภาพ มีจริยธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีหลายสื่อ เช่น สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น โลกวันนี้ และโพสต์ทูเดย์ ยังรายงานตรงกันด้วยว่า รายงานดังกล่าว ได้เสนอแนวทางการปฏิรูป ให้มีการจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ด้วยการเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะระบบเติมเงิน ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับแผน เพื่อใช้สแกนลายนิ้วมือและใบหน้า ควบคู่ การลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า สมาชิกสปท.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตอาจมีบางมาตรการกระทบสิทธิมนุษยชน โดย กษิต ภิรมย์ สมาชิกสปท. กล่าวว่า การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัท กูเกิ้ล หรือแอปเปิ้ล ต้องยอมรับเป็นไปได้ลำบากเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นต้องสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น ถ้าให้รัฐดำเนินการฝ่ายเดียว จะเหมือนกับขี่ช้างจับตั๊กแตน และอยากให้ทบทวนรายงานฉบับนี้ทั้งหมด เพราะอ่านแล้ว จับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องจะแก้ไขปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างไรขณะที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปท. อภิปรายว่า การที่กมธ.เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือ ใบหน้าในการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน เหมือนการทำหนังสือเดินทางนั้น ไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้บ้าง หากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศ จะเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะการแค่มีบัตรประชาชนสามารถบอกอะไรได้ทุกอย่างอยู่แล้ว
'พลเมืองเน็ต' ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารระบบ
ขณะที่ ทีมข่าววอยซ์ทีวี รายงานว่า อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นกับทีมข่าววอยซ์ทีวีในสองประเด็นว่า เรื่องแรกการลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือเพิ่มเติมจากการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน นั้นเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดจริงหรือไม่เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพยายามลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนตั้งแต่การทำใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนมาขยายเป็นทั่วประเทศแต่ก็ไม่ได้เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เหตุเพราะสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารระบบ ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการเครื่องขายมือถือแห่งหนึ่งที่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ออกมาขายให้กับกลุ่มรับจ้างทวงหนี้ หรือเคสล่าสุดการที่แก๊งชาวจีนสามารถลงทะเบียนซิมการ์ดในการรับจ้างกดไลค์ได้แสนกว่าเครื่อง แล้วถ้าหากลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือถ้าหากมีข้อมูลที่รั่วไหลจะยิ่งสร้างความเสียหายหรือไม่ ในการใช้ลยนิ้วมือในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์เพื่อยืนยันตัวตนถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการบังคับใช้งานจริง
ส่วนอีกประเด็นเรื่องการจัดตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวังออนไลน์ อาทิตย์ กล่าวว่าในป้จจุบันปัญหาหนึ่งที่พบคือ ทั้งหน่วยงาน DSI กระทรวงดีอี ปอท.ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ล้วนมีศูนย์มากมายและมีความทับซ้อนเป็นอย่างมาก อยากให้มีการกำหนดขอบเขตหน้าที่การรับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนแม้กระทั่งตัวเจ้าทุกข์และจำเลย ซึ่งควรจะแบ่งงานให้ชัดเจนว่าทำเรื่องอะไร เช่นการกำกับดูแลประเด็นการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ หรือ เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงจะเป็นการดีกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น