วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

จี้อำนาจรัฐหยุดคุกคามคนเห็นแตกต่างเรื่องสถานะสถาบันกษัตริย์

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
     ปีที่ 12 ฉบับที่ 3039 ประจำวัน จันทร์ ที่ 25 เมษายน 2011

         นักวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ติดตามสถานการณ์ในไทยออกแถลงและจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ถือครองอำนาจรัฐให้ยุติการคุกคามนักวิชาการหรือประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุใช้วิธีบีบบังคับ ปิดกั้นจะยิ่งขยายปมความขัดแย้งให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก แนะควรเปิดพื้นที่ให้อภิปรายทางวิชาการและแสดงความเห็นได้ตามหลักการประชาธิปไตย “สมศักดิ์” แฉมีนายทหารกดดันรัฐบาลให้เอาผิดตามมาตรา 112 ส่งคนติดตามคุกคามข่มขู่ ยืนยันไม่เคยคิดล้มล้างหรือให้ยกเลิก แค่ให้ปรับปรุงสถานะเพื่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงในระยะยาว เผยมีคนแนะให้หนีแต่ไม่ทำ พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมแค่ขออย่าใช้วิธีนอกกฎหมาย


วันที่ 24 เม.ย. 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแถลงข่าวของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 จากการร่วมเวทีอภิปรายเรื่อง “สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ” เมื่อเดือน ธ.ค. 2553 จัดโดยคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

“วรเจตน์” ยันเป็นประเด็นสาธารณะ


ก่อนการแถลงข่าวนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า การจัดอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญปีที่แล้วเป็นเรื่องที่คณะนิติราษฎร์ทำขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะแสดงทรรศนะทางกฎหมายในประเด็นที่เป็นสาธารณะ เริ่มจากเรื่องตุลาการ มโนธรรมสำนึก, สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ถัดจากนั้นคือกองทัพกับประชาธิปไตย และล่าสุดคือกฎหมายว่าด้วยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและตั้งใจจะทำต่อไปอีก


หลังจากจัดงานในวันที่ 10 ธ.ค. 53 ก็เกิดผลพวง โดยบุคคลกลุ่มหนึ่งร้องเรียนไปยังมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการกับกลุ่มอาจารย์ที่จัดงานและให้ดำเนินการทางวินัยกับอาจารย์สมศักดิ์ด้วย แต่ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ และเห็นว่าทำกิจกรรมทั้งหมดด้วยความสุจริตใจ


ย้ำเสนออยู่ในกรอบประชาธิปไตย


ในตอนท้ายของการอภิปรายวันนั้นได้ย้ำแล้วว่าไม่มีใครบอกให้เปลี่ยนรูปการปกครองเป็นสาธารณรัฐ การเสนอวันนั้นอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ราชอาณาจักร อยู่ในกรอบกฎหมาย เมื่อเกิดสภาพแบบนี้เราจึงต้องคิดว่าแล้วจะเดินต่อไปข้างหน้า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้แล้วทุกคนเงียบหมด กิจกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้


คณะนิติราษฎร์เห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ทางวิชาการที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้เพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ อภิปรายกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆอภิปรายกัน สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังคงนิ่งเฉย ที่สุดแล้วพื้นที่น้อยนิดที่มีในสังคมไทยก็จะหดหายไป


ถ้าหยุดจะไม่มีใครกล้าพูดอีก


“หลายคนอาจจะแปลกใจว่าคนที่ถูกดำเนินคดี 112 มีหลายคนทำไมไม่ออกมาแถลงข่าว ผมเรียนว่าการอภิปรายทั้งหมดทางวิชาการที่เราทำมาแล้วและจะทำต่อไปคือ การช่วยเหลือบุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้อยู่ เราเรียกร้องให้ดำเนินกระบวนการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่กรณีอาจารย์สมศักดิ์เป็นพื้นที่ทางวิชาการ เนื้อหาทางวิชาการทำอย่างเปิดเผย เปิดโอกาสให้โต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วยังเกิดสิ่งที่เล่าให้ฟังไป ปัญหาคือเราไม่สามารถขยับเขยื้อนต่อไปได้อีก สังคมไทยจะตกอยู่ในภาวะเงียบงัน ไม่มีใครกล้าพูดในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งทุกคนมีความชอบธรรมที่จะพูดได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของอาจารย์สมศักดิ์แล้วปล่อยให้ไปเผชิญปัญหาไปโดยลำพัง คณะนิติราษฎร์ในฐานะผู้จัดงานต้องร่วมรับผิดชอบ และยืนยันว่าเราทำในกรอบของกฎหมาย สิ่งที่ทำในวันนี้เป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ใจของเราทั้งหมด และการกระทำทางวิชาการของเราเป็นเรื่องที่จะมาข่มขู่กันไม่ได้”


ขอบคุณเพื่อนนักวิชาการให้กำลังใจ


นายวรเจตน์กล่าวอีกว่า เราไม่ได้มีกำลังทรัพย์สิน ไม่มีอาวุธ เรามีเพียงกำลังสติปัญญาตอบแทนสังคม การที่บุคคลที่ไม่มีอะไรเลยอย่างพวกเราถูกกระทำในลักษณะที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพอย่างนี้ เราต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย เราได้รับกำลังใจจากนักวิชาการหลายท่านที่มาร่วมกับเรา กลุ่มสันติประชาธรรมที่ให้การสนับสนุนอย่างดี นักวิชาการอื่นๆและอีกหลายท่านที่ไม่สามารถมาได้ ทำให้ยังอุ่นใจว่าเพื่อนนักวิชาการอื่นๆยังร่วมกันเดินต่อไปบนหนทางวิชาการที่จะทำให้ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ


“ไม่ว่าเราจะมีแรงกดดัน แรงเสียดทานอย่างไรเราจะพยายามทำต่อไปอีก” นายวรเจตน์กล่าว


“สมศักดิ์” ไม่เคยคิดล้มล้างสถาบัน


จากนั้น ดร.สมศักดิ์แถลงว่า บรรยากาศทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาชวนให้อึมครึมและเซ็ง ขอขอบคุณคณะนิติราษฎร์และนักวิชาการ รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจ รู้สึกว่าถ้าเป็นอะไรไปหลังจากนี้ก็คุ้มกับชีวิต
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้เขียนบทความทางวิชาการ ข้อเขียนอื่นๆ และพูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่เคยเสนอให้ล้มเจ้าหรือล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่เสนอยู่ในกรอบของการมีสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดบังความคิดที่ว่า สถาบันต้องปรับปรุง ซึ่งไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและอาญา จึงเขียนโดยใช้ชื่อจริงและเปิดเผยโดยตลอด เมื่อปีกลาย 2553 ได้รวบรวมข้อเสนอ 8 ข้อ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังเอาไปเผยแพร่มาแล้ว


อัดรัฐสร้างบรรยากาศกดดัน


อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าเป็นความผิดก็ยินดีจะชี้แจงและไม่เคยคิดหลบเลี่ยง แต่ระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สร้างบรรยากาศความเครียดกดดัน มีการให้สัมภาษณ์พาดพิง เช่น นักวิชาการโรคจิตที่จ้องทำลายสถาบัน หลังจากนั้นการออกมาให้สัมภาษณ์และการตบเท้าของทหาร แม้ไม่เกี่ยวข้องหรือพาดพิงถึงตัวเองโดยตรง แต่ก็ได้สร้างความหวาดกลัวกับสังคมไทย


แฉมีทหารบี้รัฐบาลให้จัดการ


“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบุคคลระดับนำของรัฐบาลแจ้งให้ผมทราบว่า ทหารได้กดดันให้ดำเนินการกับผมเป็นการเฉพาะ แต่ในเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์แปลกๆขึ้นกับผมโดยตรง เช่น ชาย 2 คนขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปเวียนในหมู่บ้านผม โดยบอกกับยามว่ามารับอาจารย์ มีโทรศัพท์ไปที่บ้านผมว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่หลายสิบนายติดตามอย่างใกล้ชิด ผมขอยืนยันว่าผมทำการวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้กรอบกฎหมายเสมอมา ภายใต้บรรยากาศแปลกๆผมต้องชี้แจงต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน สิ่งที่ผมทำเป็นสิทธิที่ชอบธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและตามกฎหมาย หากจะดำเนินการกับผมควรดำเนินการไปตามแนวทางกฎหมายปรกติ หยุดสร้างบรรยากาศหวาดกลัวที่เอื้อกับอำนาจนอกระบบไม่ว่ากับผมหรือผู้ต้องหาอื่นๆ การออกมาแสดงพลังของทหารในหลายวันที่ผ่านมาไม่ใช่ครรลองของกฎหมาย ผมขอย้ำว่าผมมีความบริสุทธิ์ใจและเปิดเผยในสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าผมมีปัญหาก็สามารถขอพบเพื่อชี้แจง หากมีการตั้งข้อหาดำเนินคดีผมพร้อมจะสู้คดีตามครรลองของกฎหมาย”


มีโทรศัพท์ไปข่มขู่ที่บ้าน


“เรื่องที่ผ่านมาไม่ได้กระทบกันผมมากเท่ากับภรรยา หลังจากนั้นมีข่าวกระซิบเขียนด่า แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดชัดเจน มีตัวตนชัดเจน เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก มีโทรศัพท์ไปถึงบ้าน ภรรยาก็ตกใจ เพื่อนฝูงบอกให้ผมเผ่นไป ผมก็คิดอยู่ บางคนกลัวว่าผมจะโดนดักตีหัว ในที่สุดผมคิดว่าไม่ เพราะสิ่งที่ผมพยายามจะทำคือการพยายามเปิดพื้นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ใช่ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันหมดเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ มีคนที่เห็นต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อ เผลอๆเกือบจะเหยียบล้านคนด้วย บรรดาผู้พิทักษ์สถาบันทั้งหลายควรจะตั้งสติให้ดีว่า คนเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านที่เขาไม่ได้คิดเหมือนกัน คุณจะทำอย่างไร จะไล่ออกไปนอกประเทศหรือ ปัญหาคือไม่ใช่อย่างนั้น มีคนจำนวนมากที่เห็นว่าสถานะปัจจุบันของสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่...อย่างน้อยที่สุดคือการอภิปรายกันอย่างตรงไปตรงมา และผมยอมรับว่าการอภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ส่งผลที่ผมคาดไม่ถึง แม้แต่พาหมาไปหาหมอหรือขึ้นลิฟท์ในมหาวิทยาลัยก็มีเด็กมาจ้องหน้าผมว่านี่คือคนที่อยู่ในวิดีโอใช่ไหม นี่คือความเป็นจริงที่ว่ามีคนเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่ผมทำไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปิดพื้นที่และบอกว่าเราสามารถอภิปรายเรื่องสถาบันได้ และพิสูจน์ได้ว่าผมไม่เคยบอกให้เลิก


วอนให้มองความเป็นจริงในสังคม


“ผมไม่คิดจะหนีไปไหน ผมอยากจะสื่อสารไปถึงคนเหล่านี้ว่าให้มองความเป็นจริงของสังคมไทยบ้าง ความเป็นจริงของโลกบ้าง ถึงคุณจะไม่เห็นด้วย โกรธหรือเกลียดมากอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงคือคนเหยียบล้านที่คิดไม่ตรงกัน แล้วการพยายามจะปิดโน่นปิดนี่ เอากฎหมายมาตรา 112 มาเล่นงานคนเป็นร้อยๆ แล้วตอนนี้จะแก้ไขอย่างไร มันไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะสิ้นสุดได้คือการมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมาภายใต้หลักการประชาธิปไตย ต่อให้ความเห็นไม่ตรงกันอย่างไรก็มานั่งเถียงกัน การจับคนนั้นคนนี้เข้าคุก แม้แต่อากง (ชายที่ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS หมิ่นเบื้องสูงไปยังโทรศัพท์มือถือของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็ไม่ปล่อย หรือคุณสุรชัย (แซ่ด่าน) ถึงปล่อยมาแกก็คงไม่ไปไหนหรอก เพราะถ้าจะไปแกคงไปก่อนหน้านี้แล้ว นั่นไม่มีเหตุมีผล และที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การปะทะใหม่ นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตอีก”


อย่าพยายามปิดปากประชาชน


“บรรดาพวกที่ออกมาตบเท้าลองถามตัวเองดีๆว่าคุณต้องการให้เป็นอย่างไร คุณปิดปากเขา เขาพูดตรงๆไม่ได้เขาก็ใช้สัญลักษณ์พูด นี่คือความจริง พล.อ.ประยุทธ์เองก็ตาม ไม่มีประโยชน์นะครับ ท่าทีแบบนี้ไม่มีทางที่จะทำให้คนไม่คิด ไม่พูด ไม่อภิปรายกัน ประเทศไทยไม่มีทางกลับถึงยุคที่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ซึ่งมียุคนั้นจริงหรือเปล่าไม่รู้ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และวิธีแก้ปัญหาแทนที่จะใช้กำลังกดดัน จับคนแก่ไม่ให้ประกัน ผู้หญิง ศาลยกเลิกคำตัดสินไปแล้วก็ยังไม่ให้ประกัน วิธีแบบนี้มีแต่ทำให้คนไม่พอใจอยู่แล้วไม่พอใจยิ่งขึ้น คนที่สงสัยก็ยิ่งสงสัยมากขึ้นและนำไปสู่การปะทะ”


ย้ำเสนอเพื่อให้สถาบันมั่นคง


“ใครที่เคยอ่านเคยฟังผมผมก็พูดแบบนี้มาตลอด แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ผมพยายามยืนยันคือการเสนอให้แก้ให้ปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ และถ้าทำตามที่ผมว่าสถาบันกษัตริย์จะมั่นคงมาก ประเด็นคือในระยะยาวเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ที่คุณให้ข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา ตบเท้าทำให้ทุกคนต้องเงียบมันทำไม่ได้หรอก และทำให้ประเทศนี้ไม่น่าอยู่มากๆ”


ต้องให้ทุกอย่างเป็นเรื่องปรกติ


“ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้ คนมีเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ถ้ามีเรื่องไม่เห็นด้วยก็แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา ไม่ใช่ว่าพอเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แล้วต้องเงียบ ฐานคิดของผมคือทำให้เราทุกคนมีความเป็นคนปรกติในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เหมือนเรื่องอื่นๆ องค์กรสาธารณะอื่นๆ เมื่อไม่เห็นด้วยก็เถียงกันออกมา นี่คือความเป็นคนปรกติธรรมดา แต่สถานะของสถาบันกษัตริย์มาถึงจุดที่ว่า เมื่อคุณจงรักภักดีมาก แล้วพอมีคนไม่เห็นด้วยคุณต้องการให้คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นอะไรล่ะ สังคมแบบนี้ ประเทศแบบนี้ไม่น่าอยู่เอามากๆ” ดร.สมศักดิ์กล่าวในที่สุด (ขอบคุณข่าวจากเว็บไซต์ประชาไท)


นักวิชาการออกแถลงการณ์หนุน


ทั้งนี้ ได้มีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศออกแถลงการณ์กรณีการคุกคาม ดร.สมศักดิ์ โดยแถลงการณ์ของนักวิชาการในประเทศที่มีผู้ลงนาม 50 คน ระบุว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้ยึดกุมอำนาจรัฐต้องเผชิญกับการคุกคามสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้เงาทะมึนของการคุกคามได้ลุกลามเข้าสู่ผู้คนในวงวิชาการด้วยเช่นกัน ล่าสุดคือการคุกคามที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ด้วยสาเหตุที่อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยในเวทีวิชาการต่างๆหลายครั้งหลายครา


หวั่นถูกใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหาร


พวกเราในฐานะนักวิชาการเครือข่ายสันติประชาธรรมและประชาชนที่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ เชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยของอาจารย์สมศักดิ์วางอยู่บนเจตจำนงที่ต้องการเห็นสถาบันกษัตริย์ดำรงควบคู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของทั้งสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยโดยรวม แต่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่การแสดงความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ที่มุ่งเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ได้ถูกโจมตีว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มุ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และอาจถึงขั้นถูกนำไปเป็นข้ออ้างสำหรับการรัฐประหารครั้งต่อไปก็ได้ นอกจากนี้อาจารย์สมศักดิ์ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่จะแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน คำถามคืออำนาจรัฐจะติดตามคุกคามประชาชนด้วยประเด็นปัญหานี้อีกกว้างขวางแค่ไหน


จี้เลิกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ


พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์สมศักดิ์และประชาชนกลุ่มอื่นๆที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง โปรดตระหนักว่าในสังคมประชาธิปไตยทุกสถาบันควรได้รับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมประการสำคัญ การเปิดกว้างยินยอมให้มีการแสดงความคิดที่แตกต่างได้อย่างเปิดเผย โดยปราศจากภัยคุกคามและความกลัวต่างหากที่จะช่วยนำสังคมไทยฝ่าออกไปจากวิกฤตในขณะนี้ได้


อาจารย์หลายมหาวิทยาลัยร่วมลงชื่อ


สำหรับผู้ร่วมลงชื่อ เช่น กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศรีประภา เพชรมีศรี ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภูมิอินทร์ สิงห์ชวาลา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสาวนีย์ อเล็กซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จีรพล เกตุจุมพล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


นักวิชาการต่างประเทศเป็นห่วงไทย


ขณะที่เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกของนักวิชาการด้านไทยศึกษาในต่างประเทศระบุว่า ในนามของนักวิชาการด้านไทยศึกษาซึ่งพำนักอยู่นอกประเทศไทย เราได้เฝ้าสังเกตการลิดรอนพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนทางความคิดที่เกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และมีความกังวลใจอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้ การคุกคามเสรีภาพของการคิดและการแสดงออกนี้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ดังตัวอย่างที่สำคัญ เช่น การจับกุมกักขัง ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือน เม.ย. 2553 การตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อนายใจ อึ๊งภากรณ์ และการดำเนินคดีต่อนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท


ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สมศักดิ์เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งถูกคุกคามอันเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ และความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบันนี้ เราจึงต้องการที่จะแสดงออกซึ่งความห่วงใยอย่างที่สุดต่อกรณีนี้
ไม่หยุดคุกคามขัดแย้งไม่เลิก


การคุกคามที่มีต่อ ดร.สุธาชัย นายใจ นางสาวจีรนุช และ ดร.สมศักดิ์ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนนับไม่ถ้วนนั้น เป็นลักษณะบ่งชี้ถึงการปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลายรูปแบบของรัฐ ซึ่งการกระทำเหล่านี้คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพและอนาคตของประชาธิปไตยไทยอย่างรุนแรง สิ่งที่ชัดเจนในขณะนี้คือ ความขัดแย้งจะไม่มีทางหมดไปจากระบบการปกครองของไทย ไม่ว่ารัฐไทยจะเลือกใช้มาตรการจัดการที่รุนแรงเพียงใด ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจควรจะตระหนักได้แล้วว่าการอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อกระบวนการทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ความจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา
เราซึ่งมีชื่อด้านล่างนี้ขอแสดงจุดยืนเคียงข้างเพื่อนร่วมวิชาชีพจากเครือข่ายสันติประชาธรรม ขอเรียกร้องให้หยุดการข่มขู่คุกคามต่อ ดร.สมศักดิ์ และหยุดการปฏิบัติใดๆอันเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


นักวิชาการหลายชาติร่วมลงชื่อหนุน


สำหรับผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมดประกอบด้วย 1.Dr.Michael K. Connors, La Trobe University 2.Dr.Nancy Eberhardt, Knox College 3.Dr.Nicholas Farrelly, Australian National University 4.Dr.Arnika Fuhrmann, Hong Kong University 5.Dr.Jim Glassman, University of British Columbia 6.Dr.Tyrell Haberkorn, Australian National University 7.Dr.Kevin Hewison, University of North Carolina-Chapel Hill 8.Dr.CJ Hinke, Freedom Against Censorship Thailand 9.Dr.Soren Ivarsson, University of Copenhagen 10.Dr.Andrew Johnson, Sogang University 11.Dr.Tomas Larsson, Cambridge University 12.Dr.Charles Keyes, University of Washington 13.Mr.Samson Lim, Cornell University 14.Dr.Tamara Loos, Cornell University 15.Dr.Mary Beth Mills, Colby College 16.Ms.Nattakant Akarapongpisak, Australian National University 17.Dr.Craig Reynolds, Australian National University 18.Mr.Andrew Spooner, Nottingham Trent University 19.Mr.Sing Suwannakij, University of Copenhagen 20.Dr.Michelle Tan, Independent Scholar, USA 21.Mr.Giles Ji Ungpakorn, Independent Scholar, UK 22.Dr.Andrew Walker, Australian National University 23.Dr.Thongchai Winichakul, University of Wisconsin-Madison 24.Mr.Kritdikorn Wongswangpanich, Aberystwyth University 25.Dr.Adadol Ingawanij, University of Wesminster, UK. 26.Dr.Rachel V Harrison, University of London


******************************************

http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10425



http://redusala.blogspot.com

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 เมษายน 2554 เวลา 12:38

    อยากขอให้พี่น้องคนไทยและเทศที่รัก ปชต ทั่วโลก ร่วมกัน รณรงค์ลงนามยกเลิก ม๑๑๒ และประณามคนที่เอากฏหมายนี้มาข่มขู่ปิดปาก ปชช ในเมืองไทย ให้อยุดการกระทำนี้ด้วยค่ะ

    ตอบลบ