วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554


หมิ่นเจ้า?ดาบนี้..มีสองคม


http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10471

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 307 ประจำวัน จันทร์ ที่ 25 เมษายน 2011
         โดย ทีมข่าวรายวัน
         “ความเป็นทหารรักษาพระองค์ คือขอยอมตายเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะจงรักภักดีถวายความปลอดภัยต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยชีวิต พวกเราไม่ต้องสงสัยใดๆในคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ขอให้เชื่อผู้บังคับบัญชาว่าทุกคนคิดเหมือนกัน ผบ.ทบ. คิดอย่างไร ผบ.พล.1 รอ. คิดอย่างนั้น ฉะนั้นขอให้เชื่อมั่นต่อผู้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่ง อย่าลังเล ขอให้ยึดมั่นอย่างนั้น”

เสียงที่หนักแน่นและดุดันของ พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ระหว่างตรวจเยี่ยมความพร้อมรบของกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) โดย พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ร.11 รอ. ได้จัดกำลังทหารจำนวน 1 กองพัน เพื่อแสดงความพร้อมรบ และสามารถนำกำลังรบหลักปฏิบัติการตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ภายใน 30 นาทีนั้นจะถือว่าเป็นการออกมาปรามหรือขู่ก็ตาม แต่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากองทัพพร้อมจะทำทุกอย่างหากยังมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพาดพิงหรือจาบจ้วงสถาบัน
กระแสกองทัพ!


ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าทำไมกองทัพเพิ่งออกมาแสดงพลังในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากที่ผ่านมาได้ให้โอกาสมาโดยตลอด ซึ่งทหารในกองทัพรู้สึกอึดอัดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ยังมีการกระทำอยู่จึงจำเป็นต้องดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ 3 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และนายสุพร อัตถาวงศ์ ส่วนคดีจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาในชั้นศาล


พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า การออกมาป้องปรามเรื่องสถาบันนั้นไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองใด แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ จึงขอให้ทุกฝ่ายอย่านำสถาบันมาเกี่ยวโยงกับการเมือง และขอให้ทุกพรรคการเมืองนำนโยบายมาหาเสียงต่อสู้กัน โดยประชาชนต้องหนักแน่นด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครปฏิเสธว่าการฟ้องข้อหาหมิ่นสถาบันกับแกนนำ นปช. ครั้งนี้เกิดผลกระทบกับคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยไม่น้อย เพราะมีการเสนอข่าวในลักษณะโจมตี นปช. และพรรคเพื่อไทย นอกจากสร้างกระแสให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา นปช. และพรรคเพื่อไทยแล้ว กลุ่มการเมืองในพรรคเพื่อไทยก็เกิดความกลัวว่าอาจทำให้ถูกยุบพรรคได้หากมีฝ่ายตรงข้ามอ้างว่าพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังหรือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนของ นปช.


โดยเฉพาะกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยอ้างเหตุผลกระแสหมิ่นสถาบัน ทั้งที่มีการพูดคุยกันในระดับสูงของพรรคแล้ว และยังมีรายงานว่าอาจมีสมาชิกบางส่วนลาออกตาม รวมถึงการไม่ร่วมงานการเมืองของนายเสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น ที่ก่อนหน้านี้รับปากแล้วก็ตาม


แต่มีกระแสข่าวอีกด้านหนึ่งระบุว่าเพราะพรรคเพื่อไทยไม่เสนอชื่อ พล.อ.ชวลิตเป็นลำดับที่ 1 ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งที่จะถึง แต่กลับมีข่าวว่าจะเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น เมื่อมีกระแสหมิ่นสถาบันเข้ามา พล.อ.ชวลิตจึงถือโอกาสลาออก


ดีเอสไอรวบหัวรวบหาง


อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายหรือเปิดเกมรุกของกองทัพอย่างแข็งกร้าวในประเด็นสถาบันครั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเพราะแกนนำ นปช. กลับมาพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ รวมทั้งการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งการปราศรัยของคนเสื้อแดงต้องพาดพิงถึงสถาบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะไม่ได้หมิ่น จาบจ้วง หรือล้มสถาบันอย่างที่ถูกกล่าวหาก็ตาม


อย่างการฟ้องร้องที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานพระธรรมนูญ กองทัพบก แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ กับ 3 แกนนำ นปช. ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายจตุพรและพวกรวม 18 คนที่ยืนรุมล้อมนายจตุพรขณะใช้ถ้อยคำปราศรัยล่วงละเมิดสถาบัน โดยแสดงออกทั้งภาษากาย กระทำ หรือสนับสนุน เช่น การปรบมือ การโห่ร้องส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจในการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดสถาบัน ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐว่าด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 โดยได้ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2-4 พฤษภาคมนี้


สำหรับรายชื่อชุดแรกที่กำหนดให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 พฤษภาคม ประกอบด้วย นพ.เหวง โตจิราการ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ์, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายสุพร อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน, นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ


ชุดที่ 2 ในวันที่ 3 พฤษภาคม ประกอบด้วย นายสมชาย ไพบูลย์, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิเชียร ขาวขำ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นายการุณ โหสกุล และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ชุดที่ 3 ในวันที่ 4 พฤษภาคม ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายชินวัฒน์ หาบุญพาด, นายนิสิต สินธุไพร, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ


ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”


ส่วนมาตรา 116 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต 
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย 
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ 
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

“จตุพร” แจ้งความ “บิ๊กตู่”


ด้านนายจตุพรกล่าวถึงการแจ้งความในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยยืนยันว่าคนเสื้อแดงไม่เคยมีความคิดจะล้มล้างสถาบัน ซึ่งก่อนหน้านี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยอมรับเองว่าผังล้มเจ้าที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นำมาแสดงนั้นเป็นความเท็จ ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงแสดงความจงรักภักดีและปกป้องสถาบันมาโดยตลอด ตั้งแต่แจ้งความดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่นำทหารเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่กลับไปปาฐกถาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือการยื่นเรื่องให้ดำเนินการกับเว็บไซต์วิกิลีกส์และบุคคลระดับสูง 3 คนที่เกี่ยวข้องคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ที่พูดจามีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันชัดเจน


นอกจากนี้นายจตุพรยังแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีกองทัพแจ้งความดำเนินคดีกับนายจตุพรในข้อหาหมิ่นสถาบัน
“ขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกให้ผมระวังตัวไว้ อยากถามว่านี่คือคำขู่ใช่หรือไม่ ผมเป็น ส.ส. เป็นประชาชน คุณเป็นเจ้าหน้าที่แล้วมาขู่ผมอย่างนั้นเหรอ หมายความว่าจะฆ่าผมใช่ไหม ถ้าจะฆ่ากันก็บอกมาตรงๆ จะเดินไปให้ฆ่าเอง และอยากเตือนสติ พล.อ.ประยุทธ์ว่าพวกที่หมิ่นสถาบันนั้นก็คือพวกนักการเมืองที่เอาชื่อสถาบันไปแอบอ้าง ไม่ใช่คนเสื้อแดง”


“ณัฐวุฒิ” ชี้เกมล้มเลือกตั้ง


ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ได้ฝากให้เตือนสติ พล.อ.ประยุทธ์ นายธาริต และนายอภิสิทธิ์ว่า ความพยายามหยิบฉวยเรื่องสถาบันมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองและประชาชนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด ทั้งบาดเจ็บ ล้มตาย และถูกคุมขังจำนวนมาก ด้วยการยัดเยียดข้อกล่าวหาก่อการร้าย ป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และล่าสุดกำลังถูกป้ายว่าเป็นพวกโค่นล้มสถาบัน


นายณัฐวุฒิยืนยันว่า คนเสื้อแดงไม่เป็นพิษภัยต่อบ้านเมืองและสถาบัน แต่เป็นพิษกับอำมาตย์และผู้ที่คอยบงการบ้านเมืองที่สื่อเรียกว่ามีอำนาจพิเศษ แต่ไม่เห็นมีใครไปแจ้งจับสื่อ แสดงให้เห็นว่ามีอำนาจพิเศษในประเทศนี้จริงๆ จึงมองได้อย่างเดียวว่าเป็นเกมล้มเลือกตั้งและสร้างเงื่อนไขที่จะฆ่าประชาชนอีกรอบ โดยพร้อมจะพิสูจน์ทุกกรณีที่มีการกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการจาบจ้วง ล่วงเกินสถาบัน ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม และไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆมาเกี่ยวข้อง ทั้งจะไม่ตอบโต้ด้วยวาทกรรมไปมาอีกต่อไป แต่หากมีการกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี จะให้ฝ่ายกฎหมายติดตามรวบรวมหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายกับทุกคน ทุกองค์กร


คุมข่าว-ยึดประชาชน!


แต่ที่ต้องจับตามองอีกด้านคือ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.กอ.รมน.) ได้มีคำสั่งให้ กอ.รมน. ภาคและจังหวัดตรวจสอบการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทางสถานีวิทยุชุมชน เว็บไซต์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้แจ้งเบาะแสและข้อมูลการละเมิดสถาบันไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


ดังนั้น การออกมาแสดงท่าทีและตบเท้าของกองทัพต่อประเด็นสถาบันจึงไม่ใช่แค่ถูกตั้งคำถามจากคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังทางการเมืองหรือไม่เท่านั้น แต่นักวิชาการและประชาชนจำนวนไม่น้อยก็สงสัยเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่ ผบ.พล.1 รอ. จะประกาศพร้อมใช้กำลังทุกรูปแบบตามคำสั่งของ ผบ.ทบ. เท่านั้น ก่อนหน้านี้ พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ก็ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่พอใจการปราศรัยของแกนนำ นปช. ว่ามีคำพูดที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันและกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะทหารต้องออกมาแสดงบทบาท เพราะทหารทุกคนคือประชาชนที่เป็นลูกหลานของประชาชน


นักการเมืองหนาว!


การแสดงพลังของกองทัพจึงไม่ได้มีผลแค่กับ นปช. และพรรคเพื่อไทย แต่ยังทำให้นักการเมืองทุกพรรควิตกด้วยว่าหากมีกลุ่มบุคคลหรือฝ่ายใดถือโอกาสปลุกกระแสเรื่องสถาบันให้ลุกลามเหมือนครั้งปรากฏการณ์สนธิและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งวันนี้กลุ่มพันธมิตรฯประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม


ขณะที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการปฏิวัติรัฐประหารอย่างหนาหู โดยกลุ่มอำนาจเดิมและนายทหารบางคนที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งขณะนี้ เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะกลับมามีอำนาจและทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับ จน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พร้อมผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพต้องออกมาแถลงยืนยันด้วยเกียรติของทหารว่าจะไม่มีการทำปฏิวัติรัฐประหารอย่างเด็ดขาด รวมทั้งไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการจัดตั้งรัฐบาล จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดเอากองทัพมาอ้าง หยุดเอากองทัพมาแนบ และหยุดผลักกองทัพออกจากประชาชน


นักวิชาการมองกองทัพ!


ขณะที่นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นที่กองทัพตบเท้าออกมาและฟ้องร้อง นปช. ว่าหมิ่นสถาบันว่า แสดงให้เห็นว่ากองทัพกำลังจะกลับมามีบทบาทและมีอิทธิพลทางการเมืองเหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งบทบาทของกองทัพเช่นนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อบ้านเมืองหรือใครเลย ถ้ากองทัพไม่หยิบเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นทางการเมืองปัญหาจะไม่เกิด แต่กองทัพหยิบขึ้นมาจึงอีนุงตุงนัง และไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เลย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความผุกร่อนภายในสนิมเนื้อในที่มีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเกราะป้องกันเกียรติยศเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง


นายเกษมชี้ว่าบทบาทของกองทัพไม่เป็นผลดีต่อ ระบอบประชาธิปไตยโดยพื้นฐานและกองทัพ เพราะอาจทำให้คนมองว่าเป็นการปกป้องระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ต้องการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพราะการฟ้อง นปช. ก็เหมือนการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นช่วงใกล้จะยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่
ที่สำคัญไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้สถาบันแปดเปื้อนไปด้วย เพราะโดยหลักการแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและไม่ให้การเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวทั้งสิ้น


“ผมเป็นห่วงว่าการเคลื่อนไหวของกองทัพจะกลายเป็นดาบสองคมที่จะย้อนกลับไปทำลายกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์เอง และสุดท้ายคือคำ ถามที่มีต่อปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 รวมทั้งการที่ภาคประชาชนเสนอให้มีการยกเลิกหรือปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้มีน้ำหนักมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจคือขณะนี้มีความพยายามเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปหรือยกเลิก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีเป้าประสงค์ต่างกัน แต่การทำผิดหน้าที่ของกองทัพจะทำให้คนเห็นว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาในตัวเองมากขึ้น”


ต้องแก้มาตรา 112


ด้านนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ติงว่า การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง หลังจากถูกดึงมาใช้ทางการเมืองตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร และสืบทอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ซึ่งเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียความชอบธรรมไปไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ประกาศความจงรักภักดี กลับไปคิดดีๆว่าคุณใช้สถาบันพระมหากษัตริย์แบบนี้ คุณทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่


ส่วนการฟ้องร้องทั้งฝ่ายกองทัพและนายจตุพรนั้น นายนิธิชี้ให้เห็นว่าปัญหามาตรา 112 วันนี้ถูกเอามาใช้ในทางการเมืองจึงต้องแก้ไข ไม่ใช่ใครก็ฟ้องได้ แต่ต้องผ่านองค์กรใดองค์กรหนึ่งชัดเจน เช่น อาจเป็นสำนักพระราชวังหรือนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้อง หรือจะตั้งกระทรวงพระราชวังแบบญี่ปุ่นขึ้นมาทำหน้าที่ก็ได้


นายนิธิยังชี้ว่าการฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นยิ่งจะเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น “ผมถึงบอกว่าคุณต้องจำกัดการใช้มาตรานี้ให้ดี อย่าปล่อยให้มันถูกใช้พร่ำเพรื่อแบบนี้ เพราะมันจะทำลาย ถ้าคุณเชื่อว่าคุณจงรักภักดี คุณต้องอย่าปล่อยให้ใครใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการทำลายสถาบัน”


ดาบนี้...มีสองคม?


ดังนั้น ภาพของกองทัพที่ออกมาในช่วงไม่ถึง 1 เดือน จึงถือว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปรกติ แม้กองทัพจะให้เหตุผลว่าอึดอัดกับการพาดพิงหรือนำสถาบันเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองจนนำมาสู่การตบเท้าแสดงพลังและฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่ม นปช.


แต่มีการตั้งคำถามว่าทำไมกองทัพจึงแข็งกร้าวอย่างร้อนรนเรื่องสถาบันเอาตอนนี้ หรือว่ากองทัพตระหนักดีว่ากำลังจะมีการยุบสภาและเลือกตั้ง ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง รวมถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งที่ผู้นำเหล่าทัพออกมายืนยันด้วยเกียรติยศแล้วว่าจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เกี่ยวข้องทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง
อีกด้านหนึ่งกองทัพบกกลับยอมรับว่ามีแนวทางสนับสนุนการเลือกตั้งเหมือนที่เคยทำในปี 2550 โดยใช้กำลังทหารลงพื้นที่ต่างๆ เป็นชุดทำความเข้าใจ เผยแพร่การเทิดทูนสถาบัน สร้างความรักความสามัคคี แม้ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆทั้งสิ้น แต่ก็มีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่


โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การเมืองเองก็พยายามใช้กลยุทธ์ทุกอย่างเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายยังไม่ไว้วางใจว่ากองทัพจะเป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจริง แม้แต่ประเด็นสถาบันที่กองทัพระบุว่ามีการพาดพิงและหมิ่นสถาบันนั้น หากมีการนำไปใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยคนในกองทัพ การเมือง หรือกลุ่มที่ต้องทำลายประชาธิปไตย
ข้อหาหมิ่นสถาบัน หมิ่นเจ้า หรือล้มเจ้านั้น จึงอาจเป็น “ดาบสองคม” ที่กลับมาทิ่มแทงเข้าเนื้อกองทัพเองก็ได้!


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 307 

วันที่ 23-29 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น