วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

9 ข้อสงสัยทำไมต้องแก้ไขมาตรา 112!



จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 307 ประจำวัน จันทร์ ที่ 25 เมษายน 2011
         โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10469
         นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกประกาศ “นิติราษฎร์ฉบับ 19” ในเว็บไซต์ “นิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร์) www.enlightened-jurists.com โต้ข้ออ้างกลุ่มที่สนับสนุนให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

“แม้ผู้ประเสริฐที่สุดภายหลังจากเขาตายแล้วเขายังไม่อาจได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณจนกว่าทุกเรื่องราวที่บรรดาปิศาจกล่าวโจมตีเขานั้นจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน และได้รับการพิจารณาวินิจฉัยเสียก่อน”


John Stuart Mill, On Liberty, 1859


1.ท่ามกลางข้อเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เรามักพบเห็นข้ออ้างของฝ่ายที่สนับสนุนให้คงมาตรา 112 ไว้ดังเดิม ข้าพเจ้าพอจะรวบรวมข้ออ้างเหล่านั้นได้ 9 ประการ และขออนุญาตโต้ข้ออ้างทั้ง 9 ดังนี้


ข้ออ้างที่ 1 มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้


กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์แต่ไม่เคยนำมาใช้ หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก


ข้ออ้างที่ 2 นำมาตรา 112 ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของเรามีบารมีและลักษณะพิเศษ


คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง เปี่ยมด้วยบารมี เมตตา และคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นได้ ต่อให้เรายอมรับว่าจริง แต่ความพิเศษเช่นว่าไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้กำหนดโทษสูงในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วละก็ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยิ่งไม่มีความจำเป็น


ข้ออ้างที่ 3 บุคคลทั่วไปมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียง แล้วจะไม่ให้กษัตริย์มีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้บ้างหรือ?
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ดำรงตำแหน่งใด ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตน แน่นอนว่าต้องมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียงของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายเช่นว่านั้นต้องไม่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือหากจะแตกต่างต้องไม่แตกต่างมากจนเกินไป แต่กรณีมาตรา 112 ลักษณะของความผิด (พูดทำให้ผู้อื่นเสียหาย) ไม่ได้สัดส่วนกับโทษ (จำคุก 3 ปีถึง 15 ปี) อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ
ข้ออ้างที่ 4 ต่อให้มีบุคคลใดถูกลงโทษตาม 112 แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ดี


มีหลายคดีที่จำเลยรับโทษจำคุก ต่อมาได้ขอพระราชทานอภัยโทษ และในท้ายที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานแล้ว เคยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นชาวต่างชาติและขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาผ่านไปไม่นานนักก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์) แต่กรณีอื่นๆต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายสุวิชา ท่าค้อ) ซึ่งอาจให้เหตุผลได้ว่าแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้นนั่นก็หมายความว่าจำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ไม่ใช่เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้นการที่จำเลยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษจำคุก แต่รอลงอาญา, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิดและต้องโทษจำคุก ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทั้ง 3 กรณีนี้มีผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน


นอกจากนี้นักวิชาการยังได้หยิบยกสถิติจำนวนคดีแล้วสรุปว่าจำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 มีน้อยว่า “ตั้งแต่มีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2451 มาจนถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ตลอดเวลากว่า 100 ปี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 4 เรื่อง” 2 ข้อสรุปนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะตัวเลขนั้นเป็นจำนวนคดีที่ศาลฎีกาตัดสิน ต้องเข้าใจว่าคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้ ในหลายกรณีจำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะประเมินว่าสู้ไปจนถึงชั้นศาลฎีกาผลของคดีคงไม่ต่างกัน จำเลยจึงตัดสินใจยอมรับโทษตั้งแต่คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้คำพิพากษาถึงที่สุด และขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป ด้วยเหตุนี้จำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจึงมีจำนวนน้อย แต่หากลงไปตรวจสอบจำนวนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ หรือจำนวนคดีที่อยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ หรือจำนวนผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกจับกุมคุมขังเพื่อรอการพิพากษาของศาลแล้ว จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก และมีมากขึ้นนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ข้ออ้างที่ 5 ความผิดตามมาตรา 112 เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ
โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ บูรณภาพ และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ไม่ใช่กรณีประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ


ข้ออ้างที่ 6 ในเมื่อรู้ผลร้ายของการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้วก็จงหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิด หรือไม่เสี่ยงไปพูดถึงกษัตริย์เสียก็สิ้นเรื่อง
เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและการบังคับใช้เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างยิ่งก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เห็นว่ามาตรา 112 มีโทษร้ายแรงก็จงอย่าไปเสี่ยง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ข้ออ้างแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ จงอย่าใช้ไฟนั้น


ข้ออ้างที่ 7 ในทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีเรื่องต้องห้าม เรื่องอ่อนไหวที่ห้ามพูดถึงหรือไม่ควรพูดถึง ซึ่งเรื่องต้องห้ามนั้นก็แตกต่างกันไป ของไทยก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์


จริงอยู่ที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องต้องห้าม แต่หากสำรวจเรื่องต้องห้ามในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายแล้วจะเห็นได้ว่าเรื่องต้องห้ามเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เช่น กรณีในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรปบุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทิศทางสนับสนุนฮิตเลอร์หรือนาซี หรือให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของนาซีได้มากนัก กรณีหลายประเทศบุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนาได้ แต่กรณีของไทย เรื่องห้ามพูดคือกรณีสถาบันกษัตริย์ วิญญูชนโปรดพิจารณาว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่


ข้ออ้างที่ 8 ความผิดตามมาตรา 112 เป็นเรื่องอ่อนไหว กระทบจิตใจของคนไทยทั้งชาติ สมควรให้กระบวนการยุติธรรมจัดการดีกว่า หากไม่มีกระบวนการยุติธรรมจัดการแล้วอาจส่งผลให้คนในสังคมลงโทษกันเอง
หากจะมีการประชาทัณฑ์หรือสังคมลงโทษอย่างรุนแรงก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเข้าไปป้องกันและจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 จะโดนรุมประชาทัณฑ์เลยช่วยเอาผู้ถูกกล่าวหาไปขังคุกแทน


ข้ออ้างที่ 9 มาตรา 112 สัมพันธ์กับมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เป็นบทบัญญัติในลักษณะประกาศ (declarative) เพื่อให้สอดรับกับหลัก The King can do no wrong ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์ปทัสถาน (normative) การอ่านมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากอ่านแบบประชาธิปไตยจะเข้าใจได้ทันทีว่ามาตรา 8 มีเพื่อเทิดกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่ได้ทำผิดและไม่ได้ทำอะไรเลยจึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่า “เคารพสักการะ” ก็เป็นการเขียนเชิงประกาศเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทางกฎหมายในลักษณะมีโทษแต่อย่างใด


นอกจากนี้ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆมอบให้แก่กษัตริย์ก็เป็นการมอบให้แก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป


การแก้ไขมาตรา 112 ให้โทษต่ำลงก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 112 ก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 112 ก็ดี ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และหากสมมุติว่ามีการยกเลิกมาตรา 112 จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ได้


ณ เวลานี้มีความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้สนับสนุนมาตรา 112 และผู้เลื่อมใสอุดมการณ์กษัตริย์นิยมว่าการรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า” ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการรณรงค์เช่นว่าไม่มีความผิดใดเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นใด มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่สถาบันกษัตริย์ สมมุติว่ามาตรา 112 ถูกแก้ไขหรือยกเลิกจริง สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 112 ไปด้วย


หากความเห็นของข้าพเจ้าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้าพเจ้าขอยกเอาความเห็นของข้าราชการผู้หนึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เขาผู้นี้เคยให้ความเห็นไว้ ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2552 ในการเสวนาหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ” ว่า “ในเรื่องการแสดงความเห็นหรือรณรงค์อะไร ผมคิดว่าทำได้นะ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ไปผิดกฎหมายด้วย คงขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอและรายละเอียดของการรณรงค์ว่ามีความเห็นให้เลิกมาตรา 112 เพราะอะไร ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เสียอีกก็ทำได้” นอกจากนี้นายธาริตคนเดียวกันนี้ยังอภิปรายในงานเดียวกันว่า 



“...ขณะนี้มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งขอเสนอต่อจาก อ.วรเจตน์ว่าต้องจัดการพวกที่เยินยอเกินเหตุนั้น ซึ่งต้องต่อท้ายด้วยว่าหาประโยชน์จากการเยินยอโดยการไปใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ผมไม่ทราบว่าจะตั้งบทบัญญัติอย่างไร แต่เรารับรู้และรู้สึกได้ว่าพวกนี้แอบอ้างสถาบัน แล้วใช้เป็นเครื่องมือหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการจัดการฝ่ายตรงข้าม พวกนี้จะต้องรับผิด เพราะโดยเจตนาส่วนลึกแล้วก็คือการทำลายสถาบันนั่นเอง...”

2.ช่วงเวลาที่ผ่านมาคำว่า “ความยุติธรรม” ตลบอบอวลอยู่ในสังคมไทยอย่างยิ่ง คนเสื้อแดงก็เรียกร้องหาความยุติธรรม คนเสื้อเหลืองก็เรียกร้องหาความยุติธรรม คนที่ไม่เอาสีไหนเลยก็เรียกร้องหาความยุติธรรม


ข้าพเจ้าประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนด้วยงานบรรยายวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย บางครั้งก็รับเชิญไปบรรยายตามที่ต่างๆ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าถูกร้องขอให้อธิบายถึง “ความยุติธรรม” อันว่าความยุติธรรมนี้มีปรัชญาเมธีจำนวนมากที่อธิบายความได้อย่างน่าสนใจ มีทั้งเห็นคล้อยและเห็นค้านกัน สำหรับข้าพเจ้าแล้วเมื่อต้องพูดถึงความยุติธรรมข้าพเจ้ามักไม่ตอบเอง แต่จะยกความคิดของปรัชญาเมธี 2 ท่านเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ฟัง-ผู้อ่านได้ไปคิดต่อ Immanuel Kant ท่านหนึ่ง กับ John Rawls อีกท่านหนึ่ง


Immanuel Kant ได้สร้างกฎจริยศาสตร์ไว้ 2 ข้อ ข้อแรก “จงกระทำในสิ่งที่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้” และข้อสอง “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นจุดหมายในตัวเอง และไม่ใช่เป็นวิถีไปสู่เป้าหมายใดๆ”


ในข้อแรก Kant เห็นว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ผู้กระทำสามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ (universalizable) นั่นคือเป็นการกระทำที่ทุกคนสามารถปรารถนาอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือกกระทำได้ เช่น การขอยืมเงินผู้อื่นโดยให้สัญญาว่าเราจะคืนเงินที่ยืมให้เขา โดยผู้ที่ยืมรู้ดีว่าไม่สามารถคืนเงินนั้นได้ หากพิจารณาการกระทำดังกล่าวตามหลักการของ Kant การผิดสัญญาเป็นการกระทำที่ไม่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทุกคนไม่สามารถจงใจอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือกกระทำได้ หากการกระทำนี้เป็นกฎสากล คือทุกคนเลือกที่จะผิดสัญญา การทำสัญญาก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจะไม่มีใครยอมทำสัญญากับใคร เพราะทุกคนจะตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ว่าหากทำสัญญาก็จะถูกละเมิดสัญญา เหมือนกับที่ตนเองตั้งใจจะผิดสัญญา การกระทำดังกล่าวจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในตัวเองขึ้น ดังนั้น การผิดสัญญาจึงเป็นการกระทำที่ผู้กระทำต้องการให้ตนเองทำได้เพียงคนเดียว หรือต้องการให้ตนเป็นผู้ได้รับการยกเว้นจากการทำตามคำสั่งทางศีลธรรม เป้าหมายของ Kant ในการยืนยันหลักการข้อนี้คือเพื่อหลีกเลี่ยงอคติในการตัดสินเลือกกระทำ และเพื่อที่กฎศีลธรรมจะมีลักษณะเป็นกฎสากล


ในข้อที่สองกำหนดให้มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่มีเกียรติศักดิ์ศรีและมีคุณค่าในตัวเอง มิใช่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเขาเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ และไม่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายใด รวมทั้งผู้กระทำมีหน้าที่ปฏิบัติต่อตนเองในฐานะจุดหมายด้วย เพราะ Kant เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากมนุษย์มีเหตุผลในการตัดสินเลือกกระทำและมีเป้าหมายเป็นของตนเอง


John Rawls ได้สร้างทฤษฎีความยุติธรรมไว้ในฐานะที่ความยุติธรรมเป็น Faireness Rawls สมมุติจินตภาพขึ้นมาอันหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกว่า “Veil of Ignorance” (ม่านแห่งความเขลา) หากต้องการทราบว่าความยุติธรรมคืออะไรก็ให้สมมุตินำมนุษย์เข้าไปอยู่ใน Veil of Ignorance เมื่อเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วมนุษย์ก็จะไม่ทราบว่าตนเองดำรงตำแหน่งสถานะใด ไม่รู้ถึงความสามารถ ไม่รู้ถึงคุณงามความดี ไม่รู้ถึงยุคสมัยที่ตนเองสังกัดอยู่ มนุษย์รู้เพียงแต่ว่าตนดำรงอยู่ภายใต้ Circumstance of Justice


ในสภาวะนี้เองมนุษย์จะตอบได้ว่าความยุติธรรมที่ Faireness คืออะไร เพราะมนุษย์เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปลอดซึ่งค่านิยม คุณค่า สถานะ ความคิดเห็นต่างๆ เมื่อมนุษย์ต้องตอบว่าอะไรคือความยุติธรรมเขาก็จะประเมินอย่างระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อให้ “ความยุติธรรม” ที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถเอื้อให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสำเร็จ ไม่ว่าวันนี้ วันหน้า วันไหน เขาจะดำรงตำแหน่งสถานะใด เขาจะรวย เขาจะจน เขาจะเป็นเจ้า เขาจะเป็นไพร่ เขาก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้


จากการสร้าง Veil of Ignorance อันแสนจะเป็นนามธรรมนี้ Rawls แปลงสภาพให้กลายเป็นรูปธรรมได้ ดังนี้ เพื่อให้มนุษย์รู้ได้ว่าความยุติธรรมคืออะไร มนุษย์จะสร้างความยุติธรรมให้เป็นแบบใด จำเป็นต้อง 1.มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ได้แก่ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมือง กรรมสิทธิ์ ฯลฯ 2.มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ความไม่เสมอภาคจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อคนที่ด้อยโอกาสที่สุด


สำหรับข้าพเจ้าหากต้องการพูดเรื่องความยุติธรรมจำเป็นต้องมีสนามที่ Free และ Fair เสียก่อน และสนามนั้นจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ถกเถียงว่าความยุติธรรมคืออะไร จะแบ่งสันปันส่วนให้ยุติธรรมได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่มีสนามที่ Free และ Fair หรือสนามนั้นถูกครอบงำโดยกลุ่มบุคคล ความยุติธรรมที่ว่าก็จะเป็นความยุติธรรมในทรรศนะของกลุ่มบุคคลที่ครอบงำเท่านั้น
ดังนั้น ยามใดก็ตามที่ท่านพูดถึง “ความยุติธรรม” โปรดพิจารณาดูก่อนว่า “ความยุติธรรม” ที่ท่านพูดกันนั้นมีลักษณะเช่นไร เพราะ “ความยุติธรรม” มีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงถ้อยคำใหญ่โตเพื่ออ้างความชอบธรรม
3.นอกจากนี้นายปิยบุตรยังแนะบทความ 3 ชิ้นที่ถือเป็นบทความของคนรุ่นใหม่และนักศึกษาผู้มีความคิดก้าวหน้า ยังนำสำนวนภาษาฝรั่งเศสสำนวนหนึ่งมาบอกเล่าคือ


“Après moi, le déluge” แปลตรงตัวได้ว่า “พ้นจากข้าพเจ้า น้ำท่วม”
ที่มาของสำนวนนี้มีอยู่ 2 สมมุติฐาน สมมุติฐานแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และมาดามปอมปาดูร์ สนมเอกของพระองค์ ตรัสประโยคนี้กับปุโรหิต หลังจากปุโรหิตกราบทูลว่าจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่หลังจากดาวหางโคจรเคลื่อนผ่าน สมมุติฐานที่สอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ตรัสถึงรัชทายาทในเชิงดูแคลนว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากพระองค์จากไป


คำว่า “le déluge” ไม่ใช่น้ำท่วมธรรมดา แต่เป็นอุทกภัยขนาดมหึมาที่พัดพาทุกสิ่งทุกอย่างให้พังภินท์ ปรากฏอยู่ในเรื่องเรือโนอาห์ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 ที่พระเจ้าดำริให้กวาดล้างมนุษย์ไปเสียจากแผ่นดินโลก ทั้งมนุษย์ สัตว์เลื้อยคลาน และนก แต่ด้วยเห็นว่าโนอาห์เป็นที่โปรดปรานในสายตาของพระเจ้า พระเจ้าจึงบอกให้โนอาห์ทราบ พร้อมทั้งมอบแผนผังรูปแบบเรือที่ใช้ในการช่วยชีวิตของโนอาห์ให้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมล้างโลกเมื่อถึงกำหนดของพระเจ้า โนอาห์ก็ขึ้นไปอยู่บนเรือพร้อมสิ่งมีชีวิตอย่างละคู่ และบันดาลให้ฝนตก 40 วัน 40 คืนติดต่อกันจนน้ำท่วมโลก ผู้คน สัตว์ และพืชทุกชนิดที่อาศัยบนโลกก็เสียชีวิตไปทั้งสิ้น และให้น้ำท่วมโลกอยู่เป็นเวลาถึง 150 วัน


ปัจจุบันสำนวน “Après moi, le déluge” ใช้ในความหมายที่ว่า หากตนเองตายไปหรือพ้นจากตำแหน่งไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ตนไม่สนใจ เพราะไม่เกี่ยวกับตนแล้ว ในบางครั้งมีการนำสำนวนนี้ไปใช้กับกรณีบุคคลที่ครองอำนาจยาวนาน และไม่ได้คิดตรึกตรองถึงอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากตนไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบุคคลนั้นเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ไม่รับผิดชอบใดๆต่ออนาคต


ยกตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งใหญ่ยิ่งมากด้วยอำนาจบารมี ครอบครองทรัพย์ศฤงคารมากมาย และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมศูนย์เข้าสู่ตัวข้าพเจ้าทั้งหมด ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่บางคนอาจคาดหมายว่าหากข้าพเจ้าไม่อยู่เสียแล้วสถานการณ์วันข้างหน้าคงสับสนวุ่นวาย ที่ปรึกษาข้าพเจ้าจึงถามข้าพเจ้าว่า หากข้าพเจ้าพ้นจากตำแหน่งหรือตายไปวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้คิดการณ์ล่วงหน้าไว้หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า “Après moi, le déluge”
นั่นหมายความว่า...ข้าพเจ้าไม่สนใจเรื่องใดๆ นอกจากตัวข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าต้องตายไป ความฉิบหายจะเกิดอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะข้าพเจ้าได้ตายไปแล้ว


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 307 วันที่ 23-29 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 5-7 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน  โดย ปิยบุตร แสงกนก


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น