วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

‘ตบเท้า’การข่มขู่จากคนโง่

       ฟังจากปาก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 309 ประจำวัน จันทร์ ที่ 9 พฤษภาคม 2011
         โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง
         “ตบเท้า” เป็นการแสดงการข่มขู่ของคนโง่ เพราะถือเป็นการคุกคามและเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยการงัดข้ออ้างที่เป็นอมตะคือล้มล้างสถาบันตามมาตรา 112 พร้อมกับเป็นการสกัดกั้นนักวิชาการไม่ให้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เพิ่มความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะศิลปศาสตร์ ปรัชญากฎหมาย มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการกลุ่มเครือข่ายสันติประชาธรรม

การเมืองไทยถึงขั้นวิกฤตหรือยัง


ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต แม้จะมีเลือกตั้งก็ยังมีปัญหาอยู่ดี ปัญหาการแตกแยกทางความคิดไม่สามารถแก้ได้ด้วยการกอดคอรักใคร่กันแบบเด็กๆแล้วจบ แต่ต้องดูว่าปัญหาความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์คืออะไร และอย่ามองว่าชนชั้นนำบางส่วนทะเลาะกัน มีฐานเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ทั่วถึง การไม่เคารพสิทธิในการกำหนดสิทธิสังคมและการเมืองของคนในระดับต่างๆ อันนี้เป็นตัวปัญหาหลัก การจัดการจริงๆคือการกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึง และมีโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยให้มากกว่านี้


ถ้าเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นความไม่พอใจจะสูง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้การเลือกตั้งชะงัก ซึ่งวันนี้ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามหากไม่คิดถึงเหตุผลก็เสี่ยง ต้องมีการอ้างข้ออ้างบางอย่างที่รู้สึกว่ามีน้ำหนักมากพอจะสร้างกระแส แต่ตอนนี้ไม่เห็น อย่างกระแสล้มสถาบันตอนนี้ไม่ได้เข้มขนาดนั้น


การเลือกตั้งจะแก้ปัญหาได้


แก้ปัญหาได้ชั่วคราว เพราะอาจทำให้บรรยากาศสงบ แต่ถ้าผลออกมาเป็นที่น่าพอใจหรือไม่พอใจของอีกฝ่ายหนึ่งจะมีปฏิกิริยาออกมา แต่คิดว่าหลังเลือกตั้งแม้พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมากเขาคงไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คงมีการคิดหาวิธีสกัดขา แม้แต่การยุบพรรคอีกครั้งหนึ่ง หรือการกดดันเป็นคนคนไปเพื่อให้เปลี่ยนฟาก


มีการนำเรื่องหมิ่นสถาบันมาเป็นเครื่องมือ


เรื่องกระบวนการล้มเจ้าเป็นการปั้นแต่งขึ้นตั้งแต่ต้นแล้ว และการโยงใครต่อใครนั้นไม่ได้เกี่ยวกันเลย เรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมมองจากหลายฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งคือทหารที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาจัดระเบียบทางการเมืองตามแนวคิดของตัวเอง และอีกอย่างคือต้องการไม่ให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ถ้าจะมีรัฐประหารครั้งต่อไปคงใช้เหตุผลนี้เป็นหลัก


ภาพทหารตบเท้าเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่


การออกมาตบเท้าของทหารครั้งนี้เป็นการคุกคามคนเสื้อแดง และเป็นการคุกคามระบอบประชาธิปไตยโดยตรงด้วย เพราะลักษณะของทหารที่คุมกองกำลัง ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หรือระดับคุมแม่ทัพลงมา หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วลักษณะอย่างนี้ผู้บัญชาการเหล่านี้ต้องถูกปลด เขารู้อยู่แล้วว่ามีเจตนาคุกคามและสร้างกระแสเพื่อเป็นข้ออ้าง


กกต. ห้ามพรรคการเมืองนำสถาบันมาหาเสียง


การที่ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ออกระเบียบห้ามนำสถาบันไปหาเสียงนั้นเป็นการรับลูกที่เกินกว่าเหตุ แต่มีข้อดีบ้างในส่วนที่ กกต. หยิบยกมาคือ ถ้านำไปใช้จริงๆแล้วไม่ใช้ 2 มาตรฐานอย่างพรรคการเมืองที่เอาสถาบันมาอ้าง ไม่ว่าจะอ้างแบบไหนก็ตามในการหาเสียงก็ต้องห้าม ความจริงแล้วกองทัพก็มี พวกหน่วยงานความมั่นคง หรือรัฐบาลก็ใช้สถาบันเป็นข้ออ้างมาดิสเครดิตและกดดันคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้


ถ้าปฏิวัติเกิดเลือกตั้งจะไม่มี


เป็นเรื่องของการค่อยๆเพิ่มระดับสถานการณ์ หากมีรัฐประหารเหตุผลล้มสถาบันจะเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่รัฐประหารขณะนี้จะยังไม่เกิด เพราะการอ้างยังไม่เพียงพอ อาจจะดูปฏิกิริยาของฝ่ายที่ถูกโจมตีว่าจะตอบโต้ด้วยวิธีการอย่างไร เขาจะใช้ประโยชน์ในการเพิ่มระดับการกล่าวหามากขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าหลังเลือกตั้งผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยชนะขาดลอย หรือคู่คี่กับพรรคประชาธิปัตย์ และการจัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มจะย้ายฟากมาทางพรรคเพื่อไทยก็มีสิทธิจะเกิดปฏิวัติ แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะก็ยากจะได้เป็นรัฐบาล


อาจแตกหักนำไปสู่ 14 ตุลา อีกครั้ง


เราอาจหลีกเลี่ยงตรงนั้นไม่พ้น เพียงแต่จะออกมาอย่างไร จะออกอย่างตูนีเซียหรือลิเบีย ที่ไม่พูดถึงอียิปต์เพราะอียิปต์ให้ทหารรับช่วง คิดว่าอะไรจะเป็นตัวเร่งให้ประเทศตกอยู่ในภาวะความรุนแรงขึ้นอีก ก็คือความโง่ของทหารที่ทำอย่างนั้น ยิ่งแสดงท่าทีว่าตัวเองเป็นคีย์เฟคเตอร์ในการกดดันทางการเมืองหลักและแสดงอย่างเต็มที่จะยิ่งเป็นตัวสร้างกระแสเร็ว และอีกตัวเร่งหนึ่งคือการใช้มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นสถาบันกษัตริย์มาเป็นตัวเล่นนักวิชาการ อันนี้จะเป็นตัวกระตุ้น เพราะเมื่อนำเรื่องนี้มาจัดการกับนักวิชาการจะเกิดกระแสนักวิชาการที่เป็นบล็อกพันธมิตรกันทันที ทะเลาะกันก็จะเลิกทะเลาะ และจะหันมาร่วมมือกัน เพราะถูกคุกคามทางเสรีภาพด้านวิชาการและความคิดเห็น พวกนี้เป็นตัวเร่งทางนั้น


อย่างไรก็ตาม มาตรา 112 คิดว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ต้องแก้ไขและรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เพราะจะทำให้สถาบันอยู่อย่างมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยในอนาคต รวมถึงทำให้การใช้ข้ออ้างเรื่องนี้ลดระดับความสำคัญลงไป และลดเงื่อนไขการเกิดวิกฤตของความขัดแย้งรุนแรงที่นำไปสู่การเสียเลือดเนื้อ การเคลื่อนไหวเรื่องนี้สำคัญมาก และเป็นคนละเรื่องกับเรื่องล้มสถาบันอย่างชัดเจน ยกเว้นพวกพยายามปั้นผีขบวนการล้มเจ้าเอาแบบมั่วๆโดยไม่ดูเหตุผล


เรื่องสถาบันอาจนำไปสู่ความรุนแรง


อีกฝ่ายหนึ่งจะปั่นเรื่องนี้และนำไปเป็นข้ออ้าง แต่ว่าไม่เหมือน 6 ตุลา เพราะสมัยนั้นคนถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร สื่อเป็นลักษณะกรอกหูฝ่ายเดียว ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เห็นข้อมูลต่างๆ ฉะนั้นกระแสเรื่องนี้ปั่นมากๆกลับทำให้สถาบันเสื่อมเสีย พวกนี้จะเป็นตัวทำลายสถาบันเสียเอง ส่วนการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ใช้ข้อหาหมิ่นสถาบันจัดการกับแกนนำคนเสื้อแดงเพื่อถอนประกันนั้นไม่อยู่ในบรรยากาศที่ฟังขึ้นและใช้ได้ผลเหมือนเมื่อก่อน สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว และดีเอสไอไม่ได้มีภาพที่ดีเท่าไร โดยเฉพาะอธิบดีดีเอสไอ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เหมือนกับเป็นคนรับใช้รัฐบาล การเคลื่อนไหวของเขาไม่ได้ถูกมองว่าโปร่งใสหรือทำโดยหน้าที่โดยชอบ


ทำอย่างไรจะไม่ให้มีการนำสถาบันมาใช้ทางการเมือง


จริงๆเป็นปัญหาเรื่องการแกล้งไม่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย คืออย่างผมดูข้ออ้างของทหารที่บอกว่าทหารมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน พูดอย่างนี้ผิด เพราะทหารในระบอบประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้องประชาชน ซึ่งเป็นองค์รัฐาธิปัตย์ของระบอบการปกครองและรักษาระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ไม่มีหน้าที่ปกป้องสถาบันหนึ่งใดโดยเฉพาะเจาะจง พูดถึงหลักการในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีเป็นประมุขแบบใดก็ตาม การที่ทหารยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหลักสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจหลักการการปกครอง ซึ่งความจริงเข้าใจ แต่คงแกล้งไม่เข้าใจมากกว่า


มีการมองว่าปัจจุบันทหารเข้ามาครอบงำทางการเมืองมาก


สถานการณ์การเมืองขณะนี้ทหารเป็นคีย์เฟคเตอร์ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่าทหารคุมกองกำลัง ระบบของเขาเขากันคนนอกที่จะไปตรวจสอบ และการพูดความจริงต่อสาธารณะไม่มีอะไรประกันความไม่มีผลเสีย ยกตัวอย่างกองทัพมีการปฏิบัติการลับหลายเรื่อง แต่เวลาที่ผู้บัญชาการทหารให้สัมภาษณ์เขาจะบอกว่าไม่มี ดังนั้น การโกหกสาธารณะจึงเป็นเรื่องปรกติที่ผู้บัญชาการกองทัพทำอยู่แล้ว และเรื่องสัญญาว่าจะไม่ทำรัฐประหาร สมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. ก็สัญญาเอง แต่ท้ายที่สุดตัวเองก็ทำ ดังนั้น ไม่มีอะไรรับประกันว่าทหารจะไม่ทำเรื่องพวกนี้ ที่สำคัญการจัดการโครงสร้างกองทัพในปัจจุบันรวมศูนย์ลดหลั่นไปยังผู้บัญชาการ ตรงส่วนนี้ทำให้ผู้บัญชาการอ้างกองทัพมาแทรกแซงการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพวกตัวเองได้ตลอดเวลา ที่เห็นชัดเจนคือในกองทัพเรื่องการดูแลทหารระดับล่างกลับไม่เพียงพอ เช่น ทหารชายแดน เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม หากทหารทำการปฏิวัติครั้งนี้ ตามมุมมองของผมนั้นทหารต้องคิดให้ดี คือคงไม่เหมือน 19 กันยา 2549 ที่มีการทำรัฐประหาร เขาต้องประเมินการต่อต้านรัฐประหาร เพราะครั้งนี้ไม่เหมือนเก่า แต่ถ้ามองในส่วนของกระบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย หากทหารทำรัฐประหารจะเป็นจุดจบของทหาร เพราะต่อไปนี้คงไม่ยอมกันง่ายๆ และภาพอาจออกมาหลายโมเดล เช่น โมเดลเปลี่ยนผ่านไปเป็นแบบตูนีเซียหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะเป็นแบบลิเบียหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทหารจะใช้ความเหี้ยมโหดในการปราบปรามแค่ไหนถ้าคนออกมาต่อต้าน แต่สุดท้ายผมคิดว่าทหารไม่รอด สุดท้ายโครงสร้างกองทัพก็ต้องโดนรื้อ แต่จังหวะที่เขาทำรัฐประหารและทำไม่สำเร็จเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะรื้อโครงสร้างทหารให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยที่อนาคตกองทัพไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง


แต่ยักษ์ไม่ยอมกลับเข้าตะเกียง


เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องกลัวยักษ์แล้ว สมัยก่อนเราเป็นหญ้าแพรกเรากลัวแต่ว่าช้างมันชนกันอย่าให้มาเหยียบเราให้เดือดร้อน ผมเคยคุยกับแท็กซี่เขาบอกว่าเราเหมือนมด ช้างมามดก็กัดตรงนั้นตรงนี้ มดบางส่วนถูกเหยียบตายไป มดก็กัดไปเรื่อยๆ กัดบางส่วนช้างก็ล้ม ผมคิดว่าปัจจุบันนี้เป็นอย่างนั้น แต่เราไม่ได้สู้โดดเดี่ยว การสู้กับอำนาจแบบนี้มีแนวร่วมทั่วโลก ดังนั้น จึงยาก เขาอาจยึดอำนาจได้ แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนเท่านั้น คิดว่าไม่ต้องถึงทศวรรษหนึ่ง ภายใน 4-5 ปีนี้เมืองไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้าง


มีการคุกคามกับนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์


เรื่องนี้ทางนักวิชาการได้ออกมาปกป้อง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตรงนี้ทหารน่าจะคิดว่าดัชนีตรงนี้ชี้ชัด ในสมัยก่อนนี้ 14 ตุลา ก็มีปฏิกิริยาแบบนี้ที่เริ่มจุดประกายและขยายตัวออกไป เขาไม่สามารถดูหมิ่นพลังนักวิชาการได้ แม้นักวิชาการจะมีแต่ปากกา มีแต่เสียงก็ตาม แต่สามารถสร้างกระแสได้ ที่สำคัญคือการที่เขาหักล้างเหตุผลของทหารทุกกรณี ทำให้ทหารอ้างเหตุผลและฟังไม่ขึ้นเหลืออยู่เพียงอย่างเดียว คือการแสดงความกร่างของการมีอำนาจ แต่หากเป็นอย่างนั้นทหารเองก็ยากจะอยู่ได้


หาก พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาทิศทางของเสื้อแดงจะออกมาในรูปแบบใด


การกลับมามีเงื่อนไขบางอย่าง คือไม่ควรรับเรื่องนิรโทษกรรมทุกฝ่าย เพราะถ้านิรโทษกรรมเท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) ไม่สนใจคนที่เสียชีวิต อย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว และกระแสคนเสื้อแดงไปไกลกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมายความว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยกระแสนี้จะกลับมาเป็นหอกทิ่ม พ.ต.ท.ทักษิณอีกทีหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็หยุดมันไม่ได้ที่จะให้อยู่ในความพอใจเฉพาะของตัวเอง
การเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต 91 ศพ


รัฐบาลนี้ไม่ได้ รัฐบาลหน้าถ้ายังอยู่ในการจัดบล็อกมาจนได้ตามที่มือที่มองไม่เห็นต้องการก็ไม่มีทาง แต่ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยไม่ทำก็จะเจอปัญหาเอง การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของคนเสื้อแดง ผมคิดว่าแกนนำ นักวิชาการ เขาคงคิดว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ จะให้แบบว่างเปล่าไม่ได้ เรื่องนี้ควรทำต่อ ต้องทวงให้ถึงที่สุด ยอมไม่ได้ แกนนำผู้ชุมนุมควรรับผิดชอบชีวิตที่หายไปด้วยหรือไม่ ผมคิดว่าทางแกนนำควรทบทวนตัวเอง การเคลื่อนไหวรอบคอบพอหรือไม่ การคำนึงถึงชีวิตของคนร่วมชุมนุม อันนี้ไม่ทบทวนไม่ได้อยู่แล้ว คือเป็นเรื่องซีเรียส แกนนำแต่ละคนต้องคิดและทำ


พ.ต.ท.ทักษิณทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม


เป็นความจริงส่วนหนึ่งในแง่บทบาทในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่ลักษณะปฏิบัติที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในการอธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ ปัจจุบันในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเลือกข้างอยู่แล้ว ในส่วนคนเสื้อแดงแน่นอนเป้าพุ่งตรงนี้และใช้ดิสเครดิสไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อให้กระบวนการเสื้อแดงเป็นแค่ลูกน้อง พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ลึกไปกว่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ตัวหลัก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นที่สะท้อนผ่านคนเสื้อแดงคือ การที่คนระดับล่าง คนในหลายกลุ่ม เขามองว่าตัวเองถูกตัดออกจากการที่จะมีส่วนในการกำหนดโครงสร้างของประเทศ กำหนดนโยบายของประเทศที่สามารถสนองตอบความต้องการของเขา ผมว่าตรงนี้ชัดเจน ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ


หากไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณจะปรองดองได้หรือไม่


คงไม่ได้ กระแสเสื้อแดงคงเคลื่อนต่อไป คราวนี้จะโจมตีเรื่องเป็นลูกน้อง พ.ต.ท.ทักษิณก็คงยาก ยังมีคนคิดเลยว่าอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณพักบทบาทด้วยซ้ำ เพื่อให้คนเสื้อแดงเคลื่อนเอง ฉะนั้นการมีหรือไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณความขัดแย้งในสังคมไทยจะยังมีต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันอยู่ในจุดไฮไลท์ อย่างไรโครงสร้างนี้ก็จะต้องปิด ส่วนจะเป็นไปโดยสันติหรือความรุนแรงเสียเลือดเนื้อเท่านั้นเอง



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 309 
วันที่ 7 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 18-19 
คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น