วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประสบการณ์รัฐประหารไทยการแย่งชิงสงครามทางสื่อ

        รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 309 ประจำวัน จันทร์ ที่ 9 พฤษภาคม 2011
         โดย ปราบ-ริปู โบกทิวธวัช
         ประสบการณ์ในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2524 ครั้งเกิด “กบฏยังเติร์ก” หรือ “กบฏเมษาฮาวาย” ระหว่าง 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกบฏคราวนั้นมีความน่าสนใจที่จะกล่าวถึงบางแง่มุมที่กลายเป็น “ปัจจัยชี้ขาดในผลของการแพ้และชนะ”

คราวนั้นบรรดาผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารที่เรียกว่า “จปร.7” บ้างก็เรียกเป็น “ทหารยังเติร์ก” มีหัวขบวนระดับดาวดังหลายคน โดยมี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เวลานั้นถูกชูให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยคณะผู้ก่อการที่เป็นทหารหนุ่มได้เริ่มต้นด้วยการจับตัว พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ. สูงสุด) พล.ท.หาญ ลีนานนท์ พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พล.ต.วิชาติ ลายถมยา เป็นตัวประกัน แล้วนำไปไว้รวมกัน ณ หอประชุมกองทัพบก จากนั้นก็ออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ


เหตุผลน่าสนใจที่เป็นข้ออ้างการรัฐประหารคือ สถานการณ์ของประเทศเต็มไปด้วยความระส่ำระสาย ความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยกและขัดแย้ง เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน เป็นเหตุให้มีกลุ่มบุคคลไม่หวังดีเคลื่อนไหวจะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบเผด็จการถาวร...ดังนั้น คณะก่อการจึงชิงลงมือปฏิบัติการเสียก่อน?


ครั้งนั้นถือเป็นการเคลื่อนกำลังเพื่อปฏิวัติรัฐประหารที่มีการตอบโต้จากฝ่าย พล.อ.เปรม แต่สถานการณ์ช่วงแรกเต็มไปด้วยความสับสน กระทั่งมีการบอกเล่าเป็นข่าวสารเชิงตลกแบบที่ฝรั่งถือเอา “วันที่ 1 เมษายนเป็นวัน April Fool” ที่ให้โกหกหลอกกันเล่นได้ ซึ่งเป็นที่นิยมปฏิบัติทั้งในสหรัฐและยุโรป หรืออีกเหตุผลที่เรียกเช่นนั้นเพราะเป็นการปฏิบัติการช่วงกลางฤดูร้อนพอดี ผู้คนกำลังไปตากอากาศ ทำให้นึกถึงบรรยากาศชายทะเล ซึ่งมีเกาะและต้นมะพร้าวแบบ “ฮาวาย” การปฏิวัติรัฐประหารครั้งนั้นสื่อต่างประเทศเลยเรียกว่า “April Fools’Coup d’tat”
การพยายามรัฐประหารครั้งนั้นในช่วงต้นเหมือนกลุ่มยังเติร์กจะได้รับชัยชนะ เพราะมีกองกำลังมากถึง 28 กองพัน ทุกอย่างจึงน่าจะแบเบอร์ แต่พลาดนับตั้งแต่การเข้าจับตัว พล.อ.เปรมไม่สำเร็จ ปล่อยให้กระโดดหน้าต่างหนีไปได้ แล้วไปตั้งหลักที่โคราช หลังจากนั้นจึงแก้เกมปฏิบัติการตอบโต้กลุ่มยังเติร์กอย่างเป็นกระบวนยุทธ์ ทำให้กลุ่มยังเติร์กกลายเป็นกบฏในท้ายที่สุด?


ชัยชนะสิ่งแรกที่เห็นคือความชอบธรรมของฝ่าย พล.อ.เปรม เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯไปโคราชและอยู่ในการถวายอารักขา ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2.เพียงเท่านี้คนไทยก็ตัดสินใจได้แล้วว่าควรจะเข้าข้างฝ่ายใด?


ความชอบธรรมของ พล.อ.เปรมที่เกิดขึ้นจึงส่งผลให้กลุ่มยังเติร์กเริ่มประสบความพ่ายแพ้ พล.อ.เปรมสามารถพลิกสถานการณ์จากสภาวะที่แทบไม่มีแต้มเลยจนเป็นต่ออยู่หลายขุม กองกำลังของกองทัพบกที่แทบไม่เหลืออยู่ข้างรัฐบาลต้องหยุดชะงักการปฏิบัติการ


พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร อดีตนักรบตาพระยา ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เคยเปิดเผยครั้งหนึ่งว่า ถ้าจะเอาชนะด้วยกำลังสามารถกระทำได้ไม่ยาก แต่กลุ่มยังเติร์กล้วนเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเราจะเคลื่อนต่อไปคงจะไม่ได้ เราไม่ต้องการล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด?


นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกบทเรียนสำคัญ ได้แก่ ฝ่าย พล.อ.เปรมสามารถแก้เกมในสงครามสื่อได้สำเร็จ ถือเป็นการรัฐประหารที่รบกันบนคลื่นวิทยุ เริ่มจากยกแรกต่างฝ่ายต่างทำการปลดกันกลางอากาศ ติดตามมาด้วยการเรียกให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปรายงานตัว กลุ่มยังเติร์กให้ไปรายงานที่สนามเสือป่า ฝ่าย พล.อ.เปรมให้ไปรายงานที่โคราช กระทั่งหลายคนต้องใช้วิธีเฝ้ารอดูให้สถานการณ์ชัดเจนเสียก่อนว่าใครเป็นผู้แพ้ผู้ชนะแล้วค่อยรายงานตัวภายหลัง?
สงครามแย่งสื่อของฝ่าย พล.อ.เปรมเริ่มต้นด้วยการแก้เกมโดยใช้บุคลากรที่มีสายสัมพันธ์เป็นพิเศษในกรมไปรษณีย์โทรเลข (ขณะนั้น) เพราะสายโทรศัพท์ยังไม่ถูกตัด จึงต่อสัญญาณจากโคราชเชื่อมเข้าสู่สถานีวิทยุ 1 ปณ. จากนั้นก็ใช้เครือข่ายถ่ายทอดออกไปทั่วประเทศไทย สนามรบด้านสื่อวิทยุทำให้ฝ่าย พล.อ.เปรมสามารถรุกคืบกลับได้จนเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการปะทะใดๆให้เกิดการสูญเสีย?


เมษาฮาวายจึงเป็นอีกความทรงจำในประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารที่จบลงไปด้วยดีและมีข้อคิดอยู่หลายแง่มุม ตั้งแต่ความสำคัญของสงครามสื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที้ชี้ผลแพ้ชนะ ตลอดจนถึงความสำเร็จของ พล.อ.เปรมในการถวายการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและราชวงศ์ น้ำหนักแห่งความจงรักภักดีจึงเป็นการถ่วงตราชั่งสำคัญอีกเงื่อนไข?


จากประสบการณ์ในครั้งนั้นเมื่อเชื่อมโยงมาปัจจุบัน หากจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารอาจนำบางอย่างมาเป็นประสบการณ์ที่เปรียบเทียบได้ โดยเฉพาะ “สงครามแย่งชิงพื้นที่สื่อ” จะเป็นสมรภูมิที่ทุกคนไม่ยอมพลาดในปฏิบัติการ (ถ้าหากจะมีขึ้น) แต่สนามรบของสื่อในปัจจุบันนี้เป็นไปอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง รวมทั้งมีความเชื่อมโยงในขอบเขตของโลก จึงทำให้เกิดคำถามอยู่เหมือนกันสำหรับปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้นว่ามีโอกาสเปิดสงครามถึงขั้น “ยึดสัญญาณถ่ายทอด” ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์และสื่ออินเทอร์เน็ตก็ตาม
เข้าใจว่าในด้านกำลังพล รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ กองกำลังรัฐประหารต่างมีความพร้อม เพียงแต่ไม่แน่ใจในประสิทธิภาพที่จะทำสงครามยึดครองสื่อ สัญญาณการถ่ายทอดต่างๆจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่แน่ใจที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมาหรือไม่?


ปรากฏการณ์โทรทัศน์จอดำเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาน่าจะมีความเป็นไปได้สำหรับการทดลองหรือทดสอบเพื่อหาคำตอบ ทั้งที่เกี่ยวกับการยึดครองสัญญาณถ่ายทอดทางดาวเทียม ตลอดจนการทดสอบเพื่อหาคำตอบถึงปฏิกิริยาในหมู่มวลชนที่จะต้านการทำรัฐประหาร?


ข้อเท็จจริงที่ควรคำนึงสำหรับประจุไฟฟ้าจากอวกาศที่รบกวนการทำงานของดาวเทียมจึงถูกตั้งคำถามว่าหากเป็นปรากฏการณ์เช่นนั้นแล้ว เหตุใดดาวเทียมดวงอื่นๆที่โคจรอยู่จึงไม่ประสบปัญหาเหมือนกับ “ดาวเทียมไทยคม 5” เรื่องดังกล่าวมาจึงน่าจะมีเบื้องหลังที่ซ่อนวาระพิกลบางภารกิจไว้


เป็นไปได้หรือไม่ที่มีความพยายามจะเข้าไปส่งรายการอะไรบางอย่าง เพื่อหวังทำการถ่ายทอดสดผ่านสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคมไปสู่โทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่บังเอิญเป็นการพลาดและรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยีปัจจุบันที่สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องนั้นยังมีการล็อกสัญญาณของตัวเองเอาไว้ บางช่องเปลี่ยนไปใช้การส่งสัญญาณโดยใช้ใยแก้วนำแสง บางช่องก็ใช้ทั้งดาวเทียมผสมใยแก้วนำแสง
เหตุผลปฏิบัติการโทรทัศน์จอมืดถูกรบกวนจากประจุไฟฟ้าในอวกาศจึงต้องหาคำตอบและอธิบายกันใหม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นต้องกระทบดาวเทียมหลายดวง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับบรรดาผู้ชำนาญการด้านอาวุธและจัดกำลังตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ส่วนเรื่องจะควบคุมสัญญาณดาวเทียมคงจะอาศัยเฉพาะ “พล.ต.” ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นคนเดียวเห็นจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะเทคโนโลยีดาวเทียมซับซ้อนมากกว่าเดิม ต้องถอยหลังตั้งหลักกันใหม่ พร้อมทั้งเตรียมคำอธิบายที่ไม่โมเมเกี่ยวกับจุดดับบนดวงอาทิตย์อีกครั้ง หากจะเกิดพลาดพลั้งขึ้น อย่าคิดว่าคนไทยทุกวันนี้หลอกยังไงก็หลอกได้?



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 309 
วันที่ 7 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 11 
คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย ปราบ-ริปู  โบกทิวธวัช
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น