วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554


ความขัดแย้งระหว่าง "รัฐบาลจอมพล ป." และ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ"

การกลับเข้าสู่อำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงครามในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ นำไปสู่รูปแบบการปกครองที่เน้นความสำคัญของผู้นำ ซึ่งก็คือตัวท่านเอง (แต่น้อยกว่าช่วงแรกที่ปกครองประเทศ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗) สิ่งที่จอมพล ป. พยายามกระทำตลอดยุคสมัยของเขาก็คือ การเคลื่อนย้ายบทบาทและอำนาจจากราชสำนักและพระมหากษัตริย์มาสู่ตัวเองในฐานะผู้นำ (ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๔๘)", (วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๔๗), น. ๔๙)
ซึ่งในทัศนะของ จอมพล ป. เองก็มิได้ให้ความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าไรนัก พฤติกรรมช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗ ของ จอมพล ป. ที่กระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของ จอมพล ป. อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยายามควบคุมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือการยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือการงดจ่ายเงินรายปีเจ้านาย ๒๒ พระองค์

นอกจากนี้ สถานการณ์ในช่วงนั้นได้เอื้ออำนวยต่อเจตนาของจอมพล ป. เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ประทับอยู่ในพระราชอาณาจักร บทบาทของพระมหากษัตริย์จึงเว้นว่างหายไปนานถึง ๖ ปี นับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงการเสด็จนิวัติครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ระยะเวลา ๖ ปีดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้จอมพล ป. สามารถแสดงบทบาทผู้นำแต่ผู้เดียวในสังคมไทยได้อย่างโดดเด่น ส่งผลให้สถานะของพระมหากษัตริย์ต้องถูกบดบังลงไปอย่างมากตลอดช่วงเวลาดัง กล่าว และการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องดำเนินการผ่านคณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทั้งสิ้น

แต่กระนั้น จอมพล ป. ก็ตระหนักถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ และปรากฏว่ามีหลายต่อหลายครั้งที่จอมพล ป. ได้พยายามแสวงหาการสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ จอมพล ป. ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารอ้างว่า การกระทำของตนคือ "การถวายพระราชอำนาจคืน" (ผ่านทางรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีบทบัญญัติขยายพระราชอำนาจให้กว้างขึ้น หลายมาตรา โดยเฉพาะพระราชอำนาจในการเพิกถอนรัฐมนตรี และพระราชอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสภา)

จอมพล ป. ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ว่า "รัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล จะเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้โอกาสช่วยดูแลบ้านเมือง" (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม", หน้า ๘๓-๘๔)

นอกจากนั้น จอมพล ป. ยังได้กราบบังคมทุลอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ผ่านทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ให้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาเยี่ยมราษฎรและถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๘ อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยงดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไว้ก่อน และทรงให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อรัฐบาลจอมพล ป.

วิธีการสร้างสถานะ "ผู้นำ" ของ จอมพล ป. อย่างหนึ่ง (ในหลาย ๆ อย่าง) ก็คือ การปลูกฝังอุดมการณ์ให้แก่ประชาชนว่า จอมพล ป. เป็น "บิดา" ของประชาชนด้วยการเปรียบเทียบจอมพล ป. กับ พ่อขุนรามคำแหง ท้ายสุด จอมพล ป. ยังได้อาศัยภาพลักษณ์ของการเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาโดยพฤตินัยมาเสริมสร้าง สถานะของตนด้วย (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ", น. ๑๑๖-๑๑๘)

ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและทรงห่วงใยสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ (ขณะนั้นทรงประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) โดยเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรเลขเรียกพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (หนึ่งในองค์อภิรัฐมนตรี) ให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงซักถามความเป็นไปของบ้านเมืองและทุกข์สุขของราษฎร โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติทรงแถลงให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันว่า"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสซักถามความเป็นไปของราชการบ้านเมืองอย่างละเอียดถี่ถ้วน" (สงบ สุริยินทร์, "พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช", น. ๓๔)

สถานการณ์ทางการเมืองหลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ การเมืองเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ (มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน) สามารถจัดตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ"ได้เป็นครั้งแรก (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ความเป็นมาของ ''ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข'' ในฐานะอุดมการณ์ราชการ", กรุงเทพธุรกิจ (๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๙)) ก่อนที่นายควงจะ "ถูกจี้" ออกจากตำแหน่ง
หลักการสำคัญของรัฐ ธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ ก็คือ การเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการมีส่วนร่วมบริหารบ้านเมืองมากขึ้น โดยเบื้องต้น จอมพล ป. และพรรคสหพรรคและพรรคประชาชน (ที่สนับสนุนเขา) ต่างก็คัดค้านบทบัญญัติที่สนับสนุนหลักการนั้น เช่น มาตรา ๒ ที่ว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (ที่ได้มีการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นการยกระดับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้น) หรือมาตรา ๕๙ ที่ว่า"กำลังทหารเป็นของชาติ อยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์" หรือ การให้นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ หรือการถวายสิทธิแก่พระมหากษัตริย์ในการยับยั้งร่างกฎหมายมากขึ้น แต่ในที่สุดฝ่ายคัดค้านก็ได้ยินยอมที่จะประนีประนอม และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเดือนมีนาคม ๒๔๙๒ (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม", หน้า ๑๙๑-๑๙๓)

ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และคณะรัฐประหารได้นำรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ กลับมาใช้อีกครั้ง ส่งผลให้พระราชอำนาจหลายส่วนที่ทรงได้รับจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ ต้องหายไป

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสเด็จนิวัติกลับประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูสถานะของพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยอย่างจริงจัง อันจะนำไปสู่ "ความขัดแย้ง" ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในที่สุด

ในช่วงระยะแรก พระราชสถานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า "ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงไม่ทรงสามารถที่จะบริหารหรือมีพระราชอำนาจเหนือคณะรัฐบาล หรือกิจกรรมทางการเมืองทั่ว ๆ ไปได้" (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ", น. ๓๕๓)
ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว        เสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่สองนั้น สถานการณ์ทางการเมืองในตอนนั้นไม่สู้ดีนัก บ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นความขัดแย้งระหว่างทหารบก (สนับสนุนรัฐบาลของ จอมพล ป.) และทหารเรือ (สนับสนุนท่านปรีดี) ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน (อันเป็นจุดสิ้นสุดบทบาทกองทัพเรือในเมืองไทย) และในที่สุด จอมพล ป. ก็หมดความอดทนในความวุ่นวายของวุฒิสภาที่มีเสียงคัดค้านรัฐบาลอย่างหนาแน่น จอมพล ป. จึงตัดสินใจ "ยึดอำนาจตัวเอง"ทางวิทยุกระจายเสียง และตั้งคณะบริหารชั่วคราวในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วนำกลับมาใช้แทน
การนำรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม       กลับมาใช้นี่เอง ได้กลายเป็นความขัดแย้งครั้งแรกระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ จอมพล ป. เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย และพระองค์ได้ทรงพยายามขัดขวางแต่ก็ไร้ผล (Wilson, David A., ''Politics in Thailand'' (New York : Cornell University Press, 1962), p. 114)

หลังจากความพยายามของพระองค์ล้มเหลว พระองค์ก็หันมาเอาพระทัยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการประกาศใช้ โดยได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ("สยามรัฐ", ฉบับวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔) และยังได้เสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวด้วยพระองค์เอง (พระบรมฉายาลักษณ์ด้านล่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ภาพจาก "๖๐ ปีรัฐสภาไทย", สำนักงานเลขาธิการสภา, ๒๕๓๕)

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ นี้ นอกเหนือจากจะช่วยค้ำจุนอำนาจของจอมพล ป. แล้ว ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หลายส่วนที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และเป็นการแก้ไขที่ช่วยส่งเสริมพระราชอำนาจเพื่อ "คานอำนาจ" ทางการเมือง คือ มาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" (นับ เป็นบทบัญญัติที่ประกาศใช้เป็นครั้งแรก) และยังเพิ่มพระราชอำนาจให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการสถาปนา ฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามมาตรา ๑๐ นอกจากนี้ ในมาตรา ๑๑ ถึงมาตรา ๒๐ ยังมีการบัญญัติเกี่ยวกับคณะองคมนตรี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และท้ายสุด ได้บัญญัติถึงขั้นตอนหรือวิธีการสืบราชสมบัติไว้ในมาตรา ๒๕ เป็นฉบับแรกอีกด้วย
  
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มต้นการเสด็จพระราชดำเนินประพาสเป็นการส่วนพระองค์ยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรเกือบทุกจังหวัด และทรงได้รับการต้อนรับจากประชาชนในภาคนี้อย่างกระตือรือร้นมาก ส่งผลให้รัฐบาลจอมพล ป. มีความวิตกกังวลในความนิยมชมชอบที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับจาก ประชาชนมาก และได้ปฏิเสธที่จะให้งบประมาณเพื่อการเสด็จพระพาสภายในประเทศอีก (Wilson, David A., ''Politics in Thailand'' (New York : Cornell University Press, 1962), p. 114)
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมิได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลจอมพล ป. ทำให้การเสด็จพระราชดำเนินประพาสของพระองค์ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๐ จำกัดอยู่แต่เฉพาะจังหวัดในภาคกลางเท่านั้น และ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริ ซึ่ง ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เรียกว่า เป็นโครงการพระราชดำริยุค "ก่อกำเนิด" การริเริ่มโครงการพระราชดำริในระยะแรกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างจังหวัด กล่าวคือ การไม่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลจอมพล ป. แต่อย่างใด ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเครื่องมือ ทรัพยากร และเงินทุน โครงการพระราชดำริระยะแรกจึงมีแต่เฉพาะกรุงเทพฯ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๔๘)", น. ๕๓)
โครงการ พระราชดำริระยะแรก ได้แก่ โครงการปลาพระราชทาน การมอบทุนอานันทมหิดล โครงการก่อสร้างถนนแก่หมู่บ้านห้วยมงคล ต.หินเหล็กไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการป่าละอู โครงการฝนหลวง เป็นต้น
เนื่องจากในระยะแรกมิได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลเท่าที่ควร การดำเนินงานในชั้นต้นจึงต้องอาศัยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นสำคัญจนกว่า โครงการนั้น ๆ จะได้รับการบรรจุเข้าสู่ระบบของหน่วยงานราชการที่รับสนองพระราชดำริ ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า การสนองพระราชดำริของหน่วยราชการยุคนี้ จะใช้เวลาในการสนองพระราชดำริยาวนานกว่าในยุคต่อ ๆ มา (ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๔๘)", น. ๖๔)
การเสด็จพระราชดำเนินประพาส รวมถึง        การริเริ่มโครงการพระราชดำริทั้งหลาย ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับความนิยมและชื่นชอบ และความเคารพสักการะในหมู่ประชาชนชาวไทยอย่างมาก การเสด็จพระราชดำเนินประพาสจังหวัดต่าง ๆ ล้วนได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติทุกจังหวัดที่ได้เสด็จต่างจัดเตรียม รับเสด็จอย่างวิจิตรตระการตา ประชาชนต่างเฝ้าคอยรับเสด็จอย่างล้นหลาม และเสียงถวายพระพรดังเอิกเกริกไปทั่วบริเวณ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และกลับคืนสู่ความมั่นคงอีกครั้ง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ การจัดตั้งวิทยุกระจายเสียงส่วนพระองค์ (สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต) และการจัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นสื่อที่ช่วยนำเสนอพระราชกรณียกิจของพระองค์ ท่ามกลางสภาพการณ์รัฐบาลที่ยึดกุมพื้นที่สื่อต่าง ๆ อย่างเบ็ดเสร็จ (ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๔๘)", น. ๖๕-๖๖)

แม้ว่าพระราชสถานะของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวจะมีความมั่นคงมากขึ้น และบทบาทของพระองค์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับพระบารมีของพระองค์ ทว่า ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับจอมพล ป. ก็ยังไม่ยุติลง ลึก ๆ แล้ว จอมพล ป. ไม่พอใจ และไม่ต้องการสนับสนุนพระราชกรณียกิจ ตลอดจนการแสดงบทบาทของพระองค์ในสังคม แต่ความไม่พอใจและความขัดแย้งดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๘ ก็ยังไม่มีความรุนแรง และไม่เป็นที่เด่นชัดในหมู่ประชาชนเท่าไรนัก แต่สถานการณ์ความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๐ และท้ายที่สุด ได้เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ "จุดจบอย่างถาวร" ของ จอมพล ป. เอง
วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นวัน         กองทัพไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บรรดาทหารทั้งหลายของพระองค์ตอนหนึ่งว่า "... เมื่อทหารมีไว้สำหรับประเทศชาติ ทหารต้องเป็นของประเทศชาติ หาใช่ของบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยเฉพาะไม่...ผู้ บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปกครองทหารในทางที่ชอบที่ควร โดยระลึกถึงความเที่ยงธรรม และหน้าที่อันมีเกียรติของทหาร ทั้งนี้ เพราะทหารได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์เป็นผู้กุมอาวุธและกำลังรบของประเทศ เป็นที่เคารพเกรงขามในหมู่ชนทั่วไป ทหารจึงต้องปฏิบัติให้สมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่มิใช่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหารโดยเข้าใจว่า เอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เวลานี้สภาพการณ์ทั่วโลกยังไม่อยู่ในระดับปกติ ความจำเป็นและสำคัญของทหารย่อมมีมากขึ้น ทหารจึงควรรักษาวินัยโดยเคร่งครัด ประพฤติตนให้เที่ยงธรรม ปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ภายในขอบเขตของตนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นที่พึ่งที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไป.." (สงบ สุริยินทร์, "พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช", น. ๑๖๑-๑๖๓)

  
พระบรมราโชวาทข้างต้นส่งผลกระทบต่อตัวจอมพล ป. โดยตรง ทำให้ในอีกไม่กี่วันต่อมา จอมพล ป. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในลักษณะแก้ข่าวว่า "ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเช่นนั้นเป็นการถูกต้องตามหลักการ แต่พระองค์ท่านคงจะไม่ได้หมายความว่า การที่ทหารเข้าเล่นการเมืองในขณะนี้เป็นการไม่สมควร แต่คงหมายถึงการไปกระทำการที่ต้องผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้ทหารก็มิได้กระทำผิดอะไร คงปฏิบัติไปตามกฎหมายทุกประการ" ("ประชาธิปไตย" ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ฉบับพิเศษ)
แต่ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐบาลยังไม่จบ เพราะในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ดร.หยุด แสงอุทัย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น ได้วิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านทางวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ (ในการบรรยายเรื่อง อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย) โดยส่วนหนึ่งของคำบรรยาย ความว่า "... องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดที่เป็นปัญหา หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราช โองการ..." (สงบ สุริยินทร์, "พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช", น. ๑๖๖)

ถ้อยแถลงของ ดร.หยุด ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในสังคมอย่างกว้างขวางว่าเป็นการ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" หนังสือพิมพ์ในขณะนั้นได้ลงบทความโจมตีพฤติกรรมของ ดร.หยุด อย่างต่อเนื่อง ดร.หยุด ได้ยืนยันว่าถ้อยแถลงของตนเป็นไปตามหลักวิชาการ และกระแสโจมตี ได้มีการพาดพิงไปถึงจอมพล ป. ด้วย โดยกระแสความไม่พอใจจอมพล ป. มีมากขึ้นหลังจากที่จอมพล ป. ได้ออกมาปกป้องการกระทำของ ดร.หยุด ด้วยการแสดงความเห็นว่า การกระทำของ ดร.หยุด นั้น ไม่มีความผิด ในเวลาต่อมา ดร.หยุด ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่จอมพล ป. ออกมาปกป้องตนด้วยการยกตัวอย่างว่า "สมมติว่าคุณเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่ง มีคนเข้ามาเตะหมาของคุณ คุณเป็นเจ้าของ คุณจะไม่ป้องกันหมาของคุณหรือ?" (บทความ "ดร.หยุด แสงอุทัย ไปอาบน้ำมนต์ล้างซวย" ใน ปรชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙)

ขณะที่นายควง (อภัยวงศ์) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "... จอมพลยิ่งผิดใหญ่ทีเดียว เพราะหากที่ ดร.หยุด พูดไปเป็นการหมิ่นในหลวง และจอมพล ป. ก็เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมพล ป. ก็ผิดเต็มประตู..." ("ประชาธิปไตย" ฉบับวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙)

แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็จางหายไป เหลือไว้แต่ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อ จอมพล ป.

ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ในการทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการแก่คณะรัฐบาลทราบว่า พระองค์จะทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๑๕ วัน เพื่อเป็นไปตามพระราชประเพณี และสนองพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยม

จอมพล ป. จึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๑๓ กันยายนปีเดียวกัน เพื่อขอความเห็นชอบในการแต่งตั้ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ต่อมาในวันที่ ๑๘ กันยายน จอมพล ป. ก็ต้องเปลี่ยนแปลงมติใหม่ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พระราชพิธีทรงพระผนวชมีขึ้นในวันที่ ๒๒           ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แม้ว่าพระราชพิธีจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย (โดยมีรัฐบาลของจอมพล ป. เป็นผู้ตระเตรียมพิธี) แต่จอมพล ป. ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ให้ความสำคัญกับพระราชพิธี เนื่องจากรัฐบาลยอมให้ปล่อยตัวนักโทษทั่วประเทศถึง ๓,๐๐๐ คน ตามราชประเพณี แต่ปฏิเสธไม่ยอมปล่อยนักโทษการเมือง โดยให้เหตุผลว่า จะยอมปล่อยนักโทษการเมืองก็เฉพาะในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษที่จะจัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เท่านั้น (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม", หน้า ๒๙๒)

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษถูกจัดขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามของ จอมพล ป. ที่จะเชิดชูและสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของตน โดยอาศัยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของประชาชน ทว่า ความพยายามของจอมพล ป. ก็ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

เรื่องนี้สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น ระบุให้มีสภาเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร อันประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ ๑ จำนวน ๑๖๐ คน (จากการเลือกตั้งโดยประชาชน) กับสมาชิกประเภทที่ ๒ จำนวน ๑๒๓ คน (จากการแต่งตั้ง)
สมาชิกประเภทที่ ๒ นี้จึงเป็นผู้ค้ำจุนเสถียรภาพ              ของรัฐบาลจอมพล ป. ในสภาได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีกระแสต่อต้านการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ อย่างรุนแรง จน พ.ศ. ๒๔๙๙ ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไป พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. มีมติว่า จะไม่เสนอแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะทำให้สมาชิกประเภทที่ ๒ นี้ค่อย ๆ ลดลงไปเอง (ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือตาย หรือฯลฯ) แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลาได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นจำนวนน้อยเกินไป จอมพล ป. จึงจำเป็นต้องหันมาพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ เพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อค้ำจุนเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม", หน้า ๒๙๔)
เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐ จอมพล ป. ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายนามผู้ที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ จำนวนทั้งสิ้น ๓๗ นาย ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง โดยในเบื้องต้นจอมพล ป. ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายนามไปก่อน ๑๓ คน

ผลปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว          ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อใหม่ เนื่องจากได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ในจำนวน ๑๓ คนนี้ มี ๒ คน ที่มีปัญหาคือ นายเลื่อน พงษ์โสภณ ที่เพิ่งจะพ่ายแพ้การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ การแต่งตั้งนายเลื่อนเป็นสมาชิกประเภทที่ ๒ จึงอาจขัดต่อความต้องการของประชาชน คนที่สองคือ นายกมล พหลโยธิน เนื่องจากเป็นข้าราชการประจำอยู่ จึงไม่ควรดำรงตำแหน่งทางการเมือง

พระราชกระแสรับสั่งข้างต้นถือได้ว่าเป็นการ "วีโต้" (Veto) รัฐบาลอย่างเด่นชัด
เมื่อถูก "วีโต้" จอม พล ป. จึงได้ทูลเกล้าฯ เสนอรายชื่อให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยใหม่ ทว่าคราวนี้จอมพล ป. ได้เสนอรายชื่อทั้งหมด ๓๗ คนในคราวเดียวเลย ซึ่งหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ก็จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๒ มีจำนวนเท่ากันในทันที

แต่พระองค์ก็ทรง "วีโต้" อีกครั้ง โดย              มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่มีพระราชกระแสรับสั่งให้แยกรายชื่อเป็นส่วนที่พระองค์พร้อมจะทรงลงพระ ปรมาภิไธยแต่งตั้ง กับส่วนที่พระองค์ทรงปฏิเสธไม่ลงพระปรมาภิไธยจำนวน ๒๔ คน ทั้งยังทรงเห็นว่า การแต่งตั้งดังกล่าว จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๖๐ คน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ให้มีได้เพียง ๑๒๓ คนเท่านั้น
จอมพล ป. เมื่อได้รับพระราชกระแสรับสั่งเช่นนี้ จึงได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งแน่นอน มี ดร.หยุด รวมอยู่ด้วย ที่ประชุมเห็นว่า พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเห็นเช่นนี้ จอมพล ป. จึงชวน จอมพลสฤษดิ์ จอมพลผิน และพลตำรวจเอกเผ่า ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกับตน แต่ก็ถูกคัดค้านว่าเป็นการ "บีบบังคับ" พระองค์มากจนเกินไป จอมพล ป. จึงต้องเข้าเฝ้าฯ แต่โดยลำพังในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐

ในการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว              ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งยืนยันถึงความไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญ หากจะแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ เป็นจำนวนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทั้งยังทรงมีพระราชกระแสรับสั่งอีกว่า ถ้าพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับว่า พระองค์ทรงบีบบังคับศาลให้เห็นคล้อยตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งของพระองค์ (เนื่องจากในช่วงเดียว กันนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพวก ได้ยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้พิพากษาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๒ เป็นจำนวนเท่ากัน ซึ่งต่อมาในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ปีเดียวกัน ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปโดยชอบแล้ว พร้อมทั้งมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ จะต้องมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๓ คน โดยเด็ดขาดตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งถือว่าเป็นคำวินิจฉัยที่สอดคล้องกับพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และขัดแย้งต่อเจตนาของจอมพล ป. ที่ต้องการจะแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ให้มีจำนวน ๑๖๐ คน)
อย่างไรก็ตาม หลังการเข้าเฝ้า และ                  หลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกา จอมพล ป. ก็ยังเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษากฎหมายอีก เพื่อหาช่องทางแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ เพิ่มเป็น ๑๖๐ คน ซึ่งได้ทางออกว่า เรื่องดังกล่าวควรให้สภาเป็นผู้วินิจฉัย เพราะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตีความรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาลฎีกา แต่ท้ายที่สุด จอมพล ป. ก็ยอมเลิกล้มความพยายามในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่สมควร ประกอบกับมติมหาชนที่ไม่เห็นด้วย และพระราชหัตถเลขาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแนะนำให้รัฐบาลเลิกล้มความพยายามในเรื่องดังกล่าวเสีย (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม", น... ๒๙๔)

ถัดจากนั้นในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ พรรคฝ่ายค้านในสภาได้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติต่อรัฐบาลจอมพล ป. ประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ จนเกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นในประเทศ
  
นายพีร์ บุนนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน (พรรคสหภูมิ) ได้อภิปรายในนามของพรรคตอนหนึ่งว่า "... ในการประชุมสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาบ่ายโมงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ นี่ผมก็ได้มาจากในพรรคของท่านเอง ซึ่งประชุมก่อนที่ประชุมเฉพาะ ส.ส. บางนายประเภท ๑ เขาบอกว่า ฯพณฯ พลตำรวจเอกเผ่า นี่น่ะ รัฐมนตรีมหาดไทยได้แจ้งให้ที่ประชุม ต่อหน้าจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ว่าได้ทราบโดยมีหลักฐานแน่นอนว่า ทันโทษครับ ในหลวงองค์ปัจจุบันได้ทรงมอบเงิน ๗ แสนบาทให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายควง อภัยวงศ์ พรรคประชาธิปไตย นี่ข่าวมันออกมาอย่างนี้..."
  
พลเอกพระประจนปัจจนึก ประธานสภา ได้กล่าวทักท้วงนายพีร์ขึ้นมาทันทีว่า เป็นการกล่าวที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ติดตามมาด้วยการทักท้วงของจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี แต่นายพีร์ก็ยังกล่าวอภิปรายต่อไป โดยกล่าวว่า "เขาบอกว่าอย่างนี้ครับ บอกว่า ฯพณฯ รัฐมนตรีมหาดไทย พลตำรวจเอกเผ่า เสนอให้มีการจับกุมองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐมนตรีบางคน" (สงบ สุริยินทร์, "พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช", น. ๒๑๓)
นายพีร์ถูกทักท้วงอีกครั้งโดยพลเอกพระประจนปัจจนึก และพลเอกพระประจนปัจจนึกก็ขอให้นายพีร์ถอนคำพูดดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุด นายพีร์ก็ยอมถอนคำพูด แต่ปรากฏว่าคำพูดของนายพีร์ได้กลายเป็นหัวข้อใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ประชาชนต่างพากันกล่าวถึงถ้อยแถลงดังกล่าวในทางที่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลจอม พล ป. (ซึ่งแต่เดิมก็มีภาพลักษณ์ของความขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ สั่งสมมานานอยู่แล้ว) การกล่าวหาของนายพีร์ครั้งนี้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม

หลังการปิดอภิปรายทั่วไปใน วันที่ ๓๐ สิงหาคม         พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. ก็เข้าถึงเวลาสุดท้าย ด้วยกระแสความไม่พอใจของประชาชนในตัวจอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงความขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ส่งผลให้ประชาชนเรียกร้องให้ฝ่ายทหารที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ เข้ามากอบกู้สถานการณ์บ้านเมือง


และในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. ส่งผลให้จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ต้องหมดบทบาททางการเมืองลงอย่างถาวร และลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนวาระสุดท้ายของชีวิต
(เรื่อง และภาพ ประกอบจากหนังสือ "พระ              ผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: ๖๐ ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย", เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยะรรมศาสตร์, หนังสือทางวิชาการ จัดพิมพ์ขึ้นในวาระแห่งการเฉลิมฉลองการสถาปนาครบรอบ ๗๒ ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๑ เดือนธันวาคม ๒๕๔๙)


โดย ::: คุณ วศินสุข
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น