ใบต้องแห้ง'' Voice TV: 2475 ของแดง 2490 ของเหลือง
ใบต้องแห้ง
ที่มา: Voice TV
http://www.voicetv.co.th/blog/1176.html
ถ้ามีใครไปบอก “พี่เนาว์” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ว่า “พี่กลายเป็นพวกหนับหนุนรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ไปแล้ว รู้ตัวหรือเปล่า” พี่เนาว์คงโกรธแบบไม่เผาผี ไม่คบหากันชั่วชีวิตนี้
ทำนองเดียวกับพี่พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, รสนา โตสิตระกูล, สันติสุข โสภณศิริ, หมอพลเดช ปิ่นประทีป ฯลฯ พวกที่เคยอยู่ใน “ภาคประชาสังคม” มาก่อน พวกที่เคยทำมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ว่าจะอยู่ในเครือข่ายหมอประเวศ เครือข่าย ส.ศิวรักษ์ (ซึ่งมักทับซ้อนกัน) หรือผู้นำยุค 14 ตุลา อย่างธีรยุทธ บุญมี, จีรนันท์ พิตรปรีชา (ไม่อยากนับสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์)
คนเหล่านี้ล้วนเคยยกย่องเชิดชู อ.ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาทั้งสิ้น
แต่ผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมา 6 ปี ตั้งแต่เรียกร้อง ม.7 มาจนสนับสนุนรัฐประหาร ยืนอยู่ข้างพวกที่ใช้วาทกรรม “พระราชอำนาจ” และ “ผังล้มเจ้า” ปราบปรามผู้มีความเห็นต่าง (ท่านทั้งหลายอาจไม่ได้พูดเอง แต่ยืนข้างๆ และไม่คัดค้านผู้ที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้) กระทั่งต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112
จะทันรู้ตัวหรือไม่รู้ พวกท่านก็กลายเป็นทายาททางอุดมการณ์ของคณะรัฐประหาร 2490 ผู้ล้มล้าง อ.ปรีดีไปเสียแล้ว
ขณะที่เสื้อแดงแย่งยึดเอา 24 มิถุนายน 2475 ไปครอบครอง โดยพวกท่านไม่สามารถร้องแรกแหกปากได้ เพราะพูดอะไรออกมา ก็ไม่ตรงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร เช่น สนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาก้าวก่ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบนี้ ดวงวิญญาณ อ.ปรีดีถ้ามีจริงคงส่ายหน้าด้วยความเศร้าใจ (ส่วนเปรตบรรพบุรุษของนักการเมืองที่ให้ร้าย อ.ปรีดี ก็ร้องกรี๊ดสะใจในโรงหนัง)
มีรายเดียว ที่บังเอิ๊ญ เป็นทายาทรัฐประหารทางสายเลือดมาแต่ต้น อุตส่าห์หนีไปเป็นฝ่ายซ้ายหลายสิบปียังหนีไม่พ้น ต้องวนกลับมาย่ำรอยบรรพบุรุษตัวเอง คืออาจารย์โต้ง (ฮาไม่ออก)
ทางแยกที่เด่นชัด
24 มิถุนายน ก็ไม่ต่างจาก 6 ตุลา 2519 ที่กลายเป็นของเสื้อแดงไปแล้ว แต่ 14 ตุลา อาจจะยังก้ำกึ่งให้เสื้อเหลืองมีส่วนร่วม เพราะตอนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ธีรยุทธ บุญมี กับเพื่อนพ้องก็ยังอ้างพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
ซึ่งต่อมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็นว่าเป็นความมั่วนิ่มครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะพระราชหัตถเลขา ร.7 มีขึ้นในตอนที่ทรงสละราชสมบัติ ภายหลังขัดแย้งกับคณะราษฎร ซึ่ง “ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่คือการที่ทรงพยายามต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์เองในระดับที่คณะราษฎรไม่อาจยอมรับได้ เดิมทีเดียว ร.7 เพียงแต่ใช้การขู่สละราชย์เป็น “อาวุธ” ต่อรองเท่านั้น แต่เมื่อขู่มากๆเข้าแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมทำตาม จึงต้องทรงสละราชย์จริงๆ อย่างไรก็ตาม ในการที่ทรงนิพนธ์พระราชหัตถเลขาสละราชย์นั้น ร.7 ทรงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อเรียกร้องรูปธรรมของพระองค์ แต่ทรงหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งแทน”
พระราชหัตถเลขาจึงกลายเป็น “เอกสารสำหรับใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล” แต่ต่อมากลับกลายเป็น “วรรคทอง” ที่เอาไปใช้สร้างความซาบซึ้งตื้นตันเวลาจะด่าเผด็จการหรือนักการเมือง กระทั่งเอาไปสลักไว้ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์หน้ารัฐสภา
จากนั้น เราก็มั่วนิ่มทำซึ้งกันมาตลอด ทั้งที่ ร.7 ไม่ได้ “เต็มใจสละอำนาจ” ซักหน่อย ท่านถูกคณะราษฎรยึดอำนาจต่างหาก
ที่พูดนี่ไม่ใช่จะประณามว่าธีรยุทธกับเพื่อนพ้องผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นพวกกษัตริย์นิยมมาแต่ต้น เพราะโดยบริบทของสังคมในปี 2516 คงไม่ค่อยจะได้แยกแยะกันซักเท่าไหร่ อะไรที่ฉวยมาต่อต้านเผด็จการได้ก็คงเอา
คือถ้าเราเอามาใช้โดยไม่รู้ปูมหลังแต่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งก็ไม่เป็นไร ซึ่งปรากฏว่าได้ใช้กันอย่างมั่วนิ่มมาตลอด เช่นที่สมศักดิ์เล่าว่าในเดือนพฤษภาคม 2543 ระหว่างงานฉลอง 100 ปีปรีดี พนมยงค์ ที่ธรรมศาสตร์ พี่เนาว์อ่านบทกวีสดุดีปรีดี โดยมีสไลด์ประกอบ หนึ่งในภาพสไลด์ก็คือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม….” ที่เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านปรีดีและคณะราษฎรนั่นเอง
มานึกย้อนดู สมัยที่ผมอยู่ในขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลา ก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยศึกษาทฤษฎี ไม่ค่อยศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาหรอก สมัยนั้นยังมองชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นพวกก้าวหน้าอยู่เลย ไม่ยักรู้ว่าชัยอนันต์เป็นพวกนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎร อ้างว่า ร.7 พยายามสถาปนาประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่คณะราษฎรชิงลงมือทำ “รัฐประหาร” ก่อน และว่า 2475 เป็นการกระทำของ “ชนชั้นนำ” โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม
สรุปว่าชัยอนันต์ ซึ่งเขียนเรื่อง “ราชประชาสมาสัย” ไว้ตั้งแต่ 40 ปีก่อน เป็นคนที่ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน น่านับถือ น่านับถือ
ผมมาลำดับประวัติศาสตร์ที่ตัวเองมีส่วนร่วม ดูย้อนหลังแล้วก็ทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจ ที่พบว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลา และพฤษภา 35 คือเราอยู่ในส่วนของเรา ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้สนใจอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยเฉพาะเมื่ออุดมการณ์นี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเข่นฆ่าปราบปรามผมและเพื่อนๆ เมื่อ 6 ตุลา 2519
แต่เมื่อฟังธงชัย วินิจจะกูล วิเคราะห์ย้อนหลังว่า “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” เกิดขึ้นพร้อม 14 ตุลา ก็ไม่แปลกใจและเห็นด้วย การเรียกร้องประชาธิปไตยได้ทำลายอำนาจเผด็จการของกองทัพ ที่ปกครองประเทศมายาวนาน แม้กองทัพ โดยเฉพาะยุคสฤษดิ์ จะเชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม แต่ก็ยังมีอำนาจนำในการเมืองการปกครอง จนกระทั่งกองทัพถูกโค่นไปเมื่อ 14 ตุลา 2516 แม้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมจะถูกฝ่ายขวาจัดนำมาใช้ปราบปรามเข่นฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมกับสถาปนาระบอบเผด็จการ "รัฐบาลหอย" แต่เมื่อเห็นว่าความสุดขั้วไปไม่รอด พวกอุดมการณ์กษัตริย์นิยมสายกลาง ก็ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลหอย นำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ 8 ปีของพลเอกเปรม
ซึ่งกล่าวได้ว่า 8 ปีนั้นเป็นการวางรากฐานของระบอบที่ก้ำกึ่งระหว่างประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง กับอำนาจที่แท้จริงของอำมาตย์ ซึ่งชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม
จากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา อุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตเข้มแข็ง ด้านหนึ่งก็เป็นผลจากการเพิ่มโทษมาตรา 112 ของคณะปฏิรูป 6 ตุลา 2519 เรื่องน่าประหลาดใจคือ ในเวลาต่อมา แม้ความจริงเรื่อง 6 ตุลา 2519 จะได้รับการตีแผ่ แต่ก็ไม่กระทบอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแม้แต่น้อย และแม้ในช่วงทศวรรษ 2520 นี้เองที่แวดวงวิชาการเริ่มกลับมายกย่องเชิดชู อ.ปรีดีและคณะราษฎร แต่ก็ไม่กระทบอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเช่นกัน
เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นคนรุ่นอายุ 40-45 (ซึ่งเริ่มเรียนหนังสือสมัยที่เรื่องราวของ 6 ตุลาถูกลบไปเรียบร้อยแล้ว มิพักต้องพูดถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคณะราษฎร) เติบโตมาเป็นอย่างคุณหมอตุลย์ มีส่วนน้อยคือพวกทำกิจกรรม พวกที่อยู่ในวงวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ชื่นชม อ.ปรีดี (เน้นว่า อ.ปรีดี ไม่ใช่คณะราษฎรทั้งหมด) แต่คนที่พูดอย่างจริงจังถึงการที่ อ.ปรีดีถูกโค่นล้มโดยอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ก็มีจำนวนน้อยนิด
จนกระทั่งมาถึงทางแยกของอุดมการณ์ ในการขับไล่ทักษิณ ซึ่งคนในภาคประชาสังคมแห่เข้าไปร่วมกับพวกจารีตนิยม พอจนปัญญาที่จะโค่นล้มทักษิณ ผู้มาจากการเลือกตั้ง ก็หันไปอ้างอุดมการณ์กษัตริย์นิม อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ปลุกมวลชนให้คลั่งชาติ คลั่งเจ้า ตั้งแต่ขอ ม.7 นายกพระราชทาน สนับสนุนรัฐประหาร บิดเบือนเรื่องปราสาทพระวิหาร จนกระทั่ง “ผังล้มเจ้า” ที่ใช้ประกอบการฆาตกรรมมวลชนเสื้อแดง
ถึงวันนี้ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว พวกเขาก็กลายเป็น “ฝ่ายขวา” ไปเรียบร้อยแล้ว (โดยไม่ต้องมาเขียนบทกวีด่าฝ่ายซ้าย)
อุดมการณ์ 2475
อุดมการณ์ของคณะราษฎร เขียนไว้ชัดเจนในคำประกาศ และรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับแรก ที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชัดเจนตั้งแต่คำปรารภว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้”
ชัดเจนนะครับ คณะราษฎรไม่ได้ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มี 2 สถานะคือ หนึ่ง เป็นองค์พระประมุข และสอง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ให้เหลือแต่สถานะความเป็นองค์ประมุขแต่อย่างเดียว ไม่ต้องมีอำนาจสั่งการบริหารราชการแผ่นดินอีก ไม่ต้องใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ถูกวิจารณ์ ถูกต่อต้าน ถูกติฉินนินทา และลงมาอยู่ “ใต้รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นราชอาณาจักรที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก
ประเด็นนี้ที่คนรุ่นหมอตุลย์ไม่เข้าใจ เพราะการศึกษาตามหลักสูตรไม่เคยสอนให้รู้ว่า ก่อน 2475 รัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เข้ามามีอำนาจบริหารราชการ ถูกวิจารณ์ถูกต่อต้านเพียงไร โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะความเทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ และเหลื่อมล้ำในระบบ
คณะราษฎรอาจจะชิงสุกก่อนห่าม แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าถ้าปล่อยให้สุก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
มองอีกมุมหนึ่ง คณะราษฎรต่างหากที่เทิดพระมหากษัตริย์ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบ ให้เป็นที่เคารพยกย่องเพียงอย่างเดียว
รัฐธรรมนูญ 2475 ประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตย ตั้งแต่มาตรา 1 ว่า“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาไม่เคยใช้ถ้อยคำอย่างนี้อีก
ขณะเดียวกัน มาตรา 3 ก็บัญญัติชัดเจนว่าเราจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์”
โดยมีมาตรา 7 กำกับไว้ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”
ก็คือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามมติคณะรัฐมนตรีนั่นแหละครับ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ แต่มาตรานี้ต่อมาก็หายสาบสูญไปเช่นกัน
รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มีการ “ปรองดอง” ระหว่าง ร.7 กับคณะราษฎร โดยเทิดพระเกียรติเป็นการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” (เฉพาะคำปรารภก็เป็นถ้อยคำสดุดียาวเหยียด 4-5 ย่อหน้า) คำว่า “อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” หายไป คำว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หายไป มีมาตรา 3 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” รวมถึงใช้คำว่า “พระราชอำนาจ” ในที่ต่างๆ (และเปลี่ยนจากคำว่า “กษัตริย์” เป็น “พระมหากษัตริย์”)
แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่านั่นคือการยกย่องเชิงสัญลักษณ์ เพราะคณะราษฎรก็ต้องการ “ปรองดอง” แต่สุดท้าย ฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่ยอมปรองดองด้วย พระยามโนฯ ทำรัฐประหารเงียบ งดใช้รัฐธรรมนูญ พระยาพหลฯ ต้องทำรัฐประหารเพื่อเอารัฐธรรมนูญกลับมา แล้วก็เกิดกบฎบวรเดช พาทหารต่างจังหวัดมาตายอย่างน่าสงสาร พวกหัวโจกกบฎถูกประหารบ้าง ถูกจับเข้าคุก ส่งไปอยู่เกาะตะรุเตา แล้วก็โอดครวญว่าพวกที่ต่อต้านคณะราษฎฏรถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่พวกตัวก่อกบฎเพื่อล้มระบอบประชาธิปไตย
แต่สมัย 14 ตุลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เรื่องพวกนี้ก็มั่วกันหมดนะครับ ตอนนั้นหนังสือ “เมืองนิมิตร” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ก็ตีพิมพ์ใหม่เผยแพร่กันกว้างขวาง ที่จริงความคิดของท่านก็เป็นเชิงอุดมคติ แบบว่าประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุดเสมอไป พูดอีกก็ถูกอีก ในเชิงปรัชญา ในเชิงแสวงหา ไม่ผิดหรอกครับ แต่ตอนนั้นมันคือการต่อสู้ระหว่างจะเป็นประชาธิปไตยหรือกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเลือกอะไรที่ก้าวหน้ากว่า
เข้าใจว่าพี่เนาว์แกคงอ่านเมืองนิมิตรและได้รับอิทธิพลความคิดเพ้อฝันอยู่เหมือนกัน
อุดมการณ์ 2490
รัฐธรรมนูญฉบับแรก 2475 สะท้อนอุดมการณ์คณะราษฎรชัดเจน เพราะร่างไว้ตั้งแต่ก่อนก่อการ ชัดเจนว่าไม่ต้องการ “ล้มเจ้า” แต่ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นประมุขสูงสุด ไม่ต้องมีอำนาจและไม่ต้องรับผิดชอบ
แต่พวกนิยมเจ้าตอนนั้นไม่พอใจ เพราะ 2475 ล้างบางอำนาจของพระบรมวงศานุวงศ์ จึงก่อกบฎบวรเดช จนถูกปราบปรามราบคาบ
หลัง ร.7 สละราชสมบัติ ก็ยิ่งชัดเจนว่าคณะราษฎรยังต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ จึงอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8 กลับมาครองราชย์ ทั้งที่ตอนนั้น คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐก็ทำได้ เพราะปราบพวกเชื้อพระวงศ์ราบคาบไปแล้ว
แต่ความขัดแย้งระหว่าง อ.ปรีดีกับจอมพล ป.ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ อ.ปรีดีก่อตั้งเสรีไทย หันไปร่วมมือกับพวกกษัตริย์นิยม โดยให้คำมั่นว่าจะปลดปล่อยพวกที่ถูกจำคุกอยู่ออกจากคุก ซึ่งก็มาปล่อยในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ อ.ปรีดีหนุนหลังในปี 2488
อ.ปรีดีไม่คาดคิดว่าพวกเขาจะแว้งกลับมาเล่นงาน เมื่อเกิดกรณีสวรรคต ที่ท่านถูกตะโกนกล่าวหาในโรงหนัง (ยิ่งกว่าผังล้มเจ้า) พวกกษัตริย์นิยม พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือกับทหาร นำโดยปู่และพ่ออาจารย์โต้ง ทำรัฐประหาร 2490 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่สุด แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใต้ตุ่ม 2490
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลับมามี “อภิรัฐมนตรี” เป็นผู้ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้พระมหากษัตริย์ “เลือกตั้ง” วุฒิสมาชิก (ใช้คำแปลกดี) และให้ประธานคณะอภิรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นี่คือการดึงพระมหากษัตริย์กลับเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2492 ฉบับถาวร เพียงเปลี่ยนจากคำว่าอภิรัฐมนตรีมาเป็นองคมนตรี โดยพระมหากษัตริย์ยังทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา (พูดให้ชัดหน่อยนะครับว่า ตอนนั้นในหลวงยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร รังสิต ซึ่งตอนกบฎบวรเดชโดนจับติดคุกอยู่สิบกว่าปี)
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อปัญหาให้กับอำนาจบริหาร รัฐบาลจอมพล ป.ถูกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ครึ่งหนึ่ง ขัดแข้งขัดขาจนทำงานไม่ได้ จอมพล ป.จึงทำรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2494 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2495 ซี่งเอา 2475 มาผสมกับ 2492 แม้ยังมีองคมนตรี แต่ก็ตัดพระราชอำนาจแต่งตั้งวุฒิสมาชิกออกไป
กระนั้นรัฐธรรมนูญ 2492 ก็กลายเป็นแม่แบบให้รัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ คือยังมีองคมนตรี และสร้างความคลุมเครือในการอ้าง “พระราชอำนาจ”
รัฐธรรมนูญ 2492 ยังเป็นฉบับแรกที่มีมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งก็ใช้ต่อกันมาเรื่อยๆ จนปี 2534 จึงกำเนิดคำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ถามว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นของคณะราษฎร ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือ ก็ไม่ใช่นะครับ เพราะอย่างที่ยกให้เห็นแล้ว มาตรา 3 ของ 2475 ฉบับแรก “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ” หรือ 2475 ฉบับ 10 ธันวาคม ก็บัญญัติตั้งแต่มาตรา 1 “สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
แค่ 2 มาตรานี้ก็ชัดเจนแล้ว เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉะนั้น คำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงเป็นมาตราฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น แล้วรัฐธรรมนูญ 2534 ก็มาประดิษฐ์คำใหม่จากคำที่ไม่จำเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ซึ่งต่อมาก็มีคนเอาไปตีความพิลึกพิกล ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนใครในโลก และกลายเป็นชื่ออันไพเราะของคณะรัฐประหาร “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
คุณเลือกข้างแล้ว
เรื่องหนึ่งที่พวกกษัตริย์นิยมชอบนำมาบิดเบือนคือ ร.7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม
ความจริงคือรัฐธรรมนูญของ ร.7 เป็นเพียงการออกแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ อำนาจสูงสุดยังเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศแทน
ตลกนะครับ 80 ปีผ่านไป ยังมีคนกลับไปเรียกร้อง “นายกพระราชทาน”
ถ้าเราดูแกนความคิดของพวกพันธมิตร ผ่านชัยอนันต์ สมุทวณิช กับปราโมทย์ นาครทรรพ จะเห็นได้ชัดเจนจากหนังสือ “ราชประชาสมาสัย” ของปราโมทย์ ที่ชัยอนันต์เขียนตอนหนึ่งว่า “อาจารย์ปราโมทย์เป็นผู้ซึ่งมีความเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง และเสนอความคิดเห็นในการปฏิรูปการเมืองโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสังคมไทย อาจารย์เห็นว่าการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องให้ประชาชนกับพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมกันสร้างประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์ในชีวิตการเมืองของประเทศเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยใช้พระราชอำนาจต่างๆ อย่างเป็นระบบตามลัทธิรัฐธรรมนูญ”
นี่คือความพยายามจะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นอุดมการณ์ 2 แนวทางที่ต่อสู้กันอยู่ขณะนี้ ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยึดแนวทางคณะราษฎร เทิดพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ พ้นไปจากการต่อสู้ทางการเมือง หรือการกำหนดแนวบริหาร การพัฒนาประเทศ ทั้งปวง กับอุดมการณ์ที่เห็นว่านักการเมืองเลว ประชาชนยังโง่อยู่ ต้องดึงพระมหากษัตริย์มา “มีส่วนร่วม”
80 ปียังต่อสู้กันไม่จบ แต่ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าใครเลือกข้างไหน ไม่ว่าในอดีตจะเป็นพวกที่เคยยกย่องเชิดชู อ.ปรีดีและคณะราษฎรมาอย่างไร เมื่อถึงทางแยก พวกท่านก็เลือกแล้ว
จะปากแข็งไม่ยอมรับกันอย่างไรก็ได้ จะด่าว่านักการเมือง แกนนำ นปช.ว่าใช้คณะราษฎรเป็นเครื่องมือ ก็ตามสบาย แต่ที่แน่ๆ คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้มวลชนเสื้อแดงจำนวนมากได้รู้จักและกลับมายกย่องคณะราษฎร ขณะที่มวลชนเสื้อเหลืองของพิภพ สุริยะใส เที่ยวด่าคณะราษฎรกันอึงมี่ ว่ากำเริบเสิบสาน ชิงสุกก่อนห่าม ประชาชนไม่พร้อม ประเทศชาติเลยลำบาก เพราะนักการเมืองโกง ซื้อเสียง ฯลฯ
แน่จริงลองจัดงานชุมนุมเสื้อเหลืองและสลิ่มรำลึกคณะราษฎรดูสิครับ พวกเขาจะมายกย่องหรือมาด่า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน
http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น