วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

DSI สรุปข้อกล่าวหา "มาร์ค-เทือก" ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา และ ฆ่าผู้อื่น

DSI สรุปข้อกล่าวหา "มาร์ค-เทือก" ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา และ ฆ่าผู้อื่น


วันที่ 6 ธันวาคม 2555 (go6TV) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว ร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย อัยการ ตำรวจ และดีเอสไอ เพื่อประชุมหารือและลงมติร่วมกันในกรณีการแจ้งข้อหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ,83 ,84 และ มาตรา 288 คือ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 14.00 น. นายธาริต แถลงผลการประชุม ว่า สืบเนื่องจากศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการณ์ตายของนายพัน คำกอง ว่าการตายของนายพัน เกิดจากกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฎิบัติการตามคำสั่งของศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และศาลได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาล และถึงดีเอสไอ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาลดังกล่าว

 นายธาริต กล่าวต่อว่า พยานหลักฐานอันสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมีมติให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้ง 2 มาจากพยานที่ได้จากการไต่สวนและคำสั่งของศาลดังกล่าวรวมทั้งพยานหลักฐานที่การสอบสวนได้เพิ่มเติม เช่นการสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยที่ศอฉ.เรียกว่าการกระชับพื้นที่และการขอคืนพื้นที่ การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิงและอื่นๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณือักษรจาก ผอ.ศอฉ.คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่า เกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้ร่วมสั่งการ และพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฎิบัติการของ ศอฉ.ตลอดเวลา

ประการ สำคัญคือ การสั่งการของบุคคลทั้งสองกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายคราแม้เกิดการ สูญเสียชีวิตของประชาชนแล้วก็หาได้ระงับยับยั้งหรือใช้แนวทางอื่นใดแทน รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่นๆ อีก จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าการร่วมกันสั่งการเช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องหลายวันอธิบดีดีเอสไอ กล่าว

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า คดีเช่นนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญของสังคมเพราะการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจึงบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่ต้องมีการไต่สวนเหตุการณ์ตายโดยศาลยุติธรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติโดยเป็นธรรมจากการสืบพยานไต่สวนโดยศาลซึ่ง พิจารณาโดยเปิดเผยทุกฝ่ายสามารถทำพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้ แล้วในที่สุดศาลก็จะได้มีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตายและมีพฤติการณ์หรือสาเหตุอย่างไร ซึ่งในคดีนี้ศาลก็ได้มีคำสั่งครบถ้วนเช่นนั้นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึง ต้องดำเนินการต่อตามผลของการไต่สวนและคำสั่งของศาลอาจกล่าวโดยง่ายๆ ว่าต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ได้ยุติชั้นศาลแล้วนั้นเอง คดีนี้ศาลได้สั่งว่าเหตุการตายเกิดจากกระสุนปืนของฝ่ายทหารที่เข้าปฎิบัต ิการตามคำสั่งของ ศอฉ.พนักงานสอบสวนก็ต้องมาต่อยอดว่าผู้มีอำนาจสั่งการของ ศอฉ.ที่เป็นต้นเหตุของการสั่งการจนมีการตามเป็นใคร และมีรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดเช่นใด

 “ส่วนทหารที่ได้เข้าปฎิบัติการนั้น ศาลก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด และโดยผลการสอบสวนก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ด้วย แต่ก็ได้รับผลตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ว่าเมื่อเป็นการปฎิบัติตามการสั่งการซึ่งเชื่อว่าต้องปฎิบัติก็ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษ  ดังนั้นในชั้นนี้จึงไม่แจ้งข้อหาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนายธาริต กล่าว

นายธาริต กล่าวต่อว่า  ในวันนี้เมื่อสิ้นสุดการประชุมคณะพนักงานสอบสวนฯ ตนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้ง 2 คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มารับทราบข้อหาดังกล่าว ในวันที่ 12 ธ.ค.เวลา 14.00 น. ทั้งนี้เมื่อบุคคลทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาและสอบสวนเสร็จก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไปโดยไม่ขอศาลให้ฝากขัง เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองชั้นผู้ใหญ่ จึงใช้การออกหนังสือเชิญแทนการออกหมายเรียก

 นายธาริต กล่าวยอมรับว่า การเชิญ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มาแจ้งข้อหาในช่วงเวลานี้ก็เพื่อจะได้นำตัวเข้ามาในคดีอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เพราะหากพ้นวันที่ 20ธ.ค.นี้ไปแล้วบุคคลทั้งสองจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายทันที เนื่องจากเปิดประชุมสภา และเชื่อว่าบุคคลทั้งสองจะมาตามนัดหมายโดยไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภา ในวันที่ 21 ธ.ค.55

การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรง ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.55 นั้นดีเอสไอไม่ได้ทำคดีตามกระแสหรือใบสั่งของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คดีทุกคดีต้องไปจบที่ศาล พนักงานสอบสวนไม่อาจกลั่นแกล้งใคร หรือช่วยเหลือใครได้ การสอบสวนก็ร่วมกันถึง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ และดีเอสไอนายธาริต กล่าว และ ว่า  คดีทุกคดีจึงเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และที่สำคัญเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย จนถึงขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ของผู้ชุมนุมได้ถูกดำเนินคดีมีการฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วถึง 62 คดี โดยมีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลถึง 295คน ส่วนกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.เพิ่งจะถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก ซึ่งความจริงก็ดำเนินการมาแต่แรกคู่ขนานกันแต่คดีของกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.ต้องรอการไต่สวนของศาลก่อนจึงดูล่าช้า

 อธิบดีดีเอสไอ กล่าวด้วยว่า ดีเอสไอได้ดำเนินคดีทั้ง 2 ฝ่ายเท่าเทียมกัน และก็เป็นธรรมชาติที่ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทุกฝ่ายจะต้องไม่ชอบใจดีเอสไอ มีการต่อว่าต่าง ๆ นานา ซึ่งเราเองก็พร้อมรับเพราะถือว่าทำตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพี สื่อต่างประเทศชื่อดัง รายงานข่าวดังกล่าวไปทั่วโลกเช่นกัน โดยพาดหัวข่าวว่า "Ex-Thai PM ′to face murder charge′"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น