วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

แอมเนสตี้ฯ ไทยชวนเขียนจดหมายถึงรัฐบาล ขอให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

แอมเนสตี้ฯ ไทยชวนเขียนจดหมายถึงรัฐบาลขอให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"
          แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี-รมว.ยุติธรรม และ กสม. เรียกร้องปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ชี้เป็นนักโทษทางความคิด และไม่ควรมีรัฐไหนมากล่าวหาว่าการกระทำของสมยศเป็นความผิด
         ตามที่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกแสดงความกังวลว่า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารชาวไทยอาจถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม โดยคดีของเขาจะมีการพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค.นี้
        ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่านายสมยศเป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ
        โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยผ่านทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสำเนาถึงนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีข้อเรียกร้องได้แก่ หนึ่ง ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และให้มีการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข สอง จัดให้มีการเยียวยาชดเชยนายสมยศจากการถูกจองจำเป็นเวลาหลายเดือน และให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และให้พักการใช้กฎหมายมาตรานี้จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะดังกล่าว
        ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ที่สำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรม "เขียนจดหมาย ลงลายเซ็นเพื่อปฏิบัติการด่วน: บรรณาธิการไทยเสี่ยงจะถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม" โดยเป็นการเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ปล่อยตัวนายสมยศดังกล่าว
        โดย น.ส.สุธารี วรรณสิริ ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าในรอบประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย และพบว่ามีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่เป็นการใช้ทางการเมือง และใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน โดยในกรณีของนายสมยศ เรายืนยันว่า เราพิจารณาว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถูกคุมขัง ถูกจำกัดเสรีภาพทางร่างกาย เพราะการแสดงความเห็น หรือเพราะความเชื่อทางการเมือง ศาสนาของตน หรือเพราะมีชาติพันธุ์ เพศ หรือผิวต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม
       ส่วนข้อเรียกร้องหนึ่งที่ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายสมยศนั้น ถือว่าไม่ได้มีเจตนาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือการทำงานของศาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่การเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาเนื่องจากเป็นการแสดงจุดยืนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนายสมยศ ทั้งนี้นายสมยศ ไม่ได้ทำอะไรที่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
      "สิ่งที่ทำคือการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ในการที่จะสื่อสารความคิดและความเชื่อของเขาเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีรัฐบาลไหน หรือควรไม่มีรัฐใดๆ ที่จะมากล่าวได้ว่าการกระทำในลักษณะนี้ของคุณสมยศเป็นการกระทำผิด"
       ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ กรณีของ นายสมยศคือการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพแสดงออกตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบรรณ เป็นภาคีสมาชิกซึ่งมีพันธะกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
       นอกจากนี้สิ่งที่ยังเป็นห่วงก็คือทางการไทยปฏิเสธคำขอประกันตัวของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทั้งหมดจนถึงตอนนี้ 12 ครั้งด้วยกัน โดยไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเพียงพอ ทั้งที่มีข้อกำหนดตามมาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าจะต้องจำกัดการควบคุมตัวระหว่างการรอไต่สวนให้เหลืออยู่ในเฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เห็นว่ากรณีนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกมาแสดงท่าทีต่อการปกป้องสิทธิของนายสมยศ


ไทย-เทศร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ปล่อย ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’

 18 ม.ค.56 โครงการรณรงค์เพื่อแรงงาน (องค์กรพัฒนาเอกชน) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยรายชื่อแนบท้าย 381 รายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  เรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันการปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะถูกพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค. 56
ทั้งนี้ รายชื่อดังกล่าวประกอบด้วย รายชื่อองค์กร 110 แห่ง รายชื่อบุคคล 271 คน ซึ่งมีผู้ประสงค์ไม่ออกสื่อ 262 คน และส่วนที่เปิดเผยอีก 119 คน
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานระบุวัตถุประสงค์ของการล่ารายชื่อในจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ว่าต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลและศาลเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมืองของกระบวนการยุติธรรมไทย  และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงองค์กรสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการรณรงค์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย โดยตระหนักถึงปัญหาความไม่ยุติธรรมที่กระทำกับประชาชนที่คัดค้านการทำรัฐประหารและเรียกร้องยุบสภาเมื่อปี 2553  ซึ่งเป็นช่วงของความขัดแย้งทางการเมือง  ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางสร้างประชาธิปไตยในสังคมมากขึ้น
การพิพากษาคดีสมยศจะมีขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2556 ณ ศาลอาญา รัชดา กรุงเทพฯ เราขอยืนยันว่าสมยศไม่สมควรถูกจับ  สิทธิในการแสดงออกไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเช่นไรควรได้รับการปกป้องโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อตกลงสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ผูกมัดประเทศไทย  ไม่ว่าทั้งสองบทความที่เป็นข้อกล่าวหาจับกุมสมยศถูกมองว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยอย่างมาก สิ่งที่ควรทำมากกว่าการล่าแม่มดกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คือ การประกันให้มีพื้นที่เปิดรับการถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นการเมืองและประเด็นผลประโยชน์ของประชาชน เพราะจะช่วยลดความตึงเครียดในสังคมและนำไปสู่การหาทางออกให้แก่สังคม” ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น