|
กลับสู่ยุคเผด็จการ‘รัฐบาลหอย’ เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ ได้ก่อการยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2517 โดยอ้างสูตรสำเร็จเดิมๆว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และเศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุดได้เกิดความจลาจลวุ่นวายอย่างร้ายแรงขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งจะนำภัยพิบัติและความพินาศมาสู่ชาติบ้านเมืองในที่สุด
จากนั้นคณะปฏิรูปฯได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 19.10 น. ห้ามประชาชนออกนอกบ้านยามวิกาล และห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป สั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมด ส่วนนิตยสารรายสัปดาห์ต้องส่งข้อเขียนให้คณะกรรมการตรวจสอบก่อน สถานีวิทยุทุกสถานีให้งดรายการปรกติและถ่ายทอดเสียงจากวิทยุแห่งประเทศไทยเท่านั้น จนวันที่ 7 ตุลาคม ได้มีการออกประกาศของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 15 เพื่อควบคุมข่าวสารและเนื้อหารายการวิทยุโทรทัศน์ทั้งหมด จากนั้นจึงเปิดให้วิทยุและโทรทัศน์เสนอรายการตามปรกติ วันที่ 9 ตุลาคม ออกประกาศของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 42 เพื่อควบคุมสื่อมวลชน แล้วจึงประกาศให้หนังสือพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารได้ ยกเว้นหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกปิดอย่างถาวร เช่น ประชาชาติ ประชาธิปไตย อธิปัตย์ ฯลฯ
ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 22 ตุลาคม 2519 และโปรดเกล้าฯให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้มีชื่อเสียงจากการเป็นวิทยากรต่อต้านคอมมิวนิสต์ในรายการโทรทัศน์ “สนทนาประชาธิปไตย” ร่วมกับนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ส่วนเนื้อหาของพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับ 22 ตุลาคม 2519 มีโครงสร้างประชาธิปไตย 12 ปี ใจความว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ
ในระยะ 4 ปีแรก เป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ การบริหารราชการแผ่นดินให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุม ระยะ 4 ปีที่สอง เป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ทั้ง 2 สภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน ระยะ 4 ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไปถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้วก็อาจยกเลิกวุฒิสภา ให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร
ดูเผินๆเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลใช้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน โดยยุบองค์กรนักศึกษา ยุบสหภาพแรงงาน และห้ามการนัดหยุดงาน ทั้งยังมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนมากที่สุด โดยการบริหารงานของรัฐบาลนายธานินทร์มีทหารถึง 24 นาย ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ควบคุมการบริหารบ้านเมืองให้อยู่ในกรอบตามต้องการ ซึ่งนายธานินทร์พูดด้วยตัวเองว่า รัฐบาลเหมือนเนื้อหอย ส่วนทหารเป็นเปลือกหอยทำหน้าที่คุ้มครอง รัฐบาลจึงได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “รัฐบาลหอย”
ส่วนนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการกลับมาของ “ถนอม-ประภาส” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีจำนวนหลายพันคนที่ตัดสินใจเดินทางสู่ชนบทเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลนายธานินทร์ได้ใช้วิธีตอบโต้และปราบปรามอย่างรุนแรง
สำหรับนักศึกษาและประชาชนบางส่วนที่อยู่ในเมืองรับหน้าที่ทำงานประสานกับฝ่ายชนบท โดยการเคลื่อนไหวแจกใบปลิวเปิดเผยข้อเท็จจริงกรณี 6 ตุลาคม และต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ การดำเนินงานเช่นนี้ทำให้รัฐบาลหวาดระแวงจนต้องส่งตำรวจเข้าไปสอดส่องควบคุมภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ทำให้ขบวนการนักศึกษาทำงานค่อนข้างลำบาก ทั้งยังถูกจับกุมได้โดยง่ายในข้อหาครอบคลุม “ภัยสังคม” และอีกส่วนหนึ่งยังถูกคุมขังในกรณี 6 ตุลา ต่อมาการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเมืองก็ซบเซาลง แต่กลับไปเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นในชนบทแทน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ทำการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลนายธานินทร์หรือรัฐบาลหอยที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปฯที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ดำเนินการบริหารบ้านเมืองแบบขวาจัดสุดขั้วโดยความมั่นใจว่ามีทหารคุ้มครองได้ประมาณ 1 ปีก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อ พล.ร.อ.สงัดได้ตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ในนามคณะใหม่ชื่อว่าคณะปฏิวัติ รัฐบาลสิ้นสุดลง แต่นายธานินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี นับว่าเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ต่อจากนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี
คณะปฏิวัติชุดนี้แม้มีชื่อ พล.ร.อ.สงัดเป็นหัวหน้าคณะ แต่กลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหวเป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจตัวจริงคือ กลุ่มนายทหาร จปร.7 หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มยังเติร์ก (ต่อมาได้รับฉายาว่าลูกป๋า) กลุ่ม จปร.7 สนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนฝ่าย พล.ร.อ.สงัดแม้จะไม่เต็มใจแต่ก็ต้องถอยให้กลุ่ม จปร.7 ขึ้นมามีบทบาทแทน โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์เคยเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปฯในปี 2519 และเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 มีความสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิมของจอมพลประภาส จารุเสถียร
การเปลี่ยนผลัดคณะปฏิรูปฯหรือคณะปฏิวัติตามแต่จะตั้งชื่อกันไป แม้มีหลายกลุ่มหลายชื่อ แต่เนื้อหาโดยรวมไม่มีอะไรเปลี่ยน ตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมาล้วนคือการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจกันในกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยทั้งสิ้น และเป็นธรรมดาที่ในกลุ่มเดียวกันก็อาจมีผลประโยชน์ขัดกันหรือจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวบ้าง เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็ร่วมมือกัน เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็แยกวงกันไป ประชาชนอย่างเราๆคงต้องแยกให้ออกว่า รัฐประหารที่อ้างกันว่าทำเพื่อประชาชนนั้น เพื่อประชาชนหรือเพื่อใครกันแน่?
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 394 วันที่ 12-18 มกราคม 2556 หน้า 4 คอลัมน์ เปิดฟ้าเปิดตาโดย ดอม ด่านตระกูล
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น